ผู้ชมทั้งหมด 541
รฟม. จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เดินหน้าประมูลรถไฟฟ้าสายสีแดงเชียงใหม่ ชี้รูปแบบระบบรถไฟฟ้าล้อยาง (Tire Tram) ช่วยลดต้นทุนโครงการ กรอบวงเงินลงทุน 9.2 พันล้านบาท วางไทม์ไลน์ประมูลปี 67 เปิดให้บริการปี 71
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2565 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อผลการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการดำเนินงานโครงการที่เหมาะสม สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี)
นายสาโรจน์ ต.สุวรรณ รองผู้ว่าการ (กลยุทธ์และแผน) รฟม. เปิดเผยว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากผลการศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการลงทุนที่ผ่านมา ซึ่งโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดงฯ ที่มีแนวเส้นทางรูปแบบผสมระหว่างใต้ดินและระดับดินนั้น มีมูลค่าการลงทุนสูง ส่งผลให้รายได้จากการเดินรถไม่เพียงพอต่อค่าเดินรถและบำรุงรักษา ประกอบกับกระทรวงคมนาคมได้มอบนโยบายให้ รฟม. ศึกษาและพิจารณาแนวทางการใช้รถไฟฟ้าล้อยางในการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนหลักในภูมิภาค
รฟม. จึงได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมของสัญญาจ้างกลุ่มที่ปรึกษา CMTR ให้ดำเนินการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการดำเนินงานโครงการที่เหมาะสมสำหรับโครงการฯ และนำมาสู่การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในครั้งนี้
เลือกรูปแบบระบบรถไฟฟ้าล้อยางถูกที่สุด
การประชุมในวันนี้จัดขึ้นเพื่อนำเสนอผลการศึกษารูปแบบการดำเนินงานโครงการที่เหมาะสมจำนวน 3 รูปแบบ ประกอบด้วย 1) รูปแบบระบบรถไฟฟ้าล้อเหล็ก (Steel Wheel Tram) แนวเส้นทางผสมใต้ดินและระดับดิน วิ่งบนรางในเขตทางเฉพาะตลอดสาย คาดว่าจะใช้กรอบวงเงินลงทุนรวม 26,595 ล้านบาท
2) รูปแบบระบบรถไฟฟ้าล้อเหล็ก (Steel Wheel Tram) ระดับดินตลอดแนวเส้นทาง กรอบวงเงินลงทุนรวม 9,552 ล้านบาท และ 3) รูปแบบระบบรถไฟฟ้าล้อยาง (Tire Tram) ระดับดินตลอดแนวเส้นทาง กรอบวงเงินลงทุนรวม 9,255 ล้านบาท อย่างไรก็ตามมูลค่าการลงทุนโครงการเป็นราคา ณ ปีฐาน พ.ศ. 2565 ยังไม่รวมเงินเฟ้อ
โดยเปรียบเทียบทั้ง 3 รูปแบบอย่างรอบด้าน ทั้งในด้านวิศวกรรมและจราจร (ความน่าเชื่อถือของเทคโนโลยี ความเหมาะสมทางกายภาพของระบบต่อสภาพพื้นที่ของเขตเมืองเชียงใหม่ ศักยภาพในการรองรับปริมาณผู้โดยสาร ระยะเวลาในการก่อสร้าง) ด้านการลงทุนและผลตอบแทน (ค่าลงทุน ค่าบำรุงรักษาและดำเนินการ ค่าเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รายได้ค่าโดยสารและรายได้อื่นของโครงการ) และด้านสิ่งแวดล้อม (ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะก่อสร้าง ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในระยะดำเนินการ) ซึ่งผลการศึกษา พบว่า รูปแบบที่มีความเหมาะสมมากที่สุดในการพัฒนาโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดงฯ คือ ระบบรถไฟฟ้าล้อยางที่มีรูปแบบทางวิ่งระดับดินตลอดแนวเส้นทาง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนโครงการ บรรเทาผลกระทบด้านการเวนคืนที่ดินและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากโครงการในระยะก่อสร้าง รวมถึงใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่ารถไฟฟ้าระบบอื่นๆ เพื่อให้สามารถอำนวยความสะดวกและปลอดภัยให้แก่ชาวเชียงใหม่ รวมทั้งนักท่องเที่ยวที่มาเยือนเชียงใหม่ได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ รฟม. และกลุ่มที่ปรึกษา CMTR จะนำความคิดเห็นต่อผลการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการดำเนินงานดังกล่าว พร้อมข้อเสนอแนะต่างๆ จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในวันนี้ไปพิจารณาปรับปรุงผลการศึกษาให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ประกอบการรายงานผลต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณาในลำดับต่อไป
สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) เป็นโครงการระบบขนส่งสาธารณะหลักของจังหวัดเชียงใหม่ ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) มีข้อเสนอแนะให้เริ่มก่อสร้างก่อนเป็นลำดับแรก โครงการฯ มีระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร มีสถานีรับ-ส่ง ผู้โดยสาร 16 สถานี ได้แก่ สถานีโรงพยาบาลนครพิงค์ สถานีศูนย์ราชการจังหวัดเชียงใหม่ สถานีสนามกีฬาสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี สถานีศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ สถานีแยกหนองฮ่อ สถานีโพธาราม สถานีข่วงสิงห์ สถานีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ สถานีขนส่งช้างเผือก สถานีมณีนพรัตน์ สถานีประตูสวนดอก สถานีแยกหายยา สถานีแยกท่าอากาศยานนานาชาติเชียงใหม่ สถานีท่าอากาศยานเชียงใหม่ สถานีบ้านใหม่สามัคคี และสถานีแม่เหียะสมานสามัคคี โดยมีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง บริเวณพื้นที่ว่างใกล้สถานีแยกหนองฮ่อ
ทั้งนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มทางเลือกในการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐาน รวมถึงมีความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัย ให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งยังสามารถลดการใช้รถยนต์โดยรวมบนท้องถนน จึงช่วยลดปริมาณมลพิษในอากาศที่เกิดจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์ ได้อีกด้วย
กางไทน์ไลน์ประมูล – เปิดบริการปี 71
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รูปแบบการคิดอัตราค่าโดยสารสำหรับระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง นั้นแบ่งเป็น 3 รูปแบบ ประกอบด้วย รูปแบบที่ 1.การคิดอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง 14-30 บาท รูปแบบที่ 2.การคิดอัตราค่าโดยสารแบบคงที่ 20 บาทต่อเที่ยว 3.การคิดอัตราค่าโดยสารแบบขั้นไบได กรณีที่ผู้โดยสารที่เดินทาง 0-8 สถานี อัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 15 บาทต่อเที่ยว เมื่อเดินทาง 9-16 สถานี อัตราค่าโดยสารอยู่ที่ 20 บาทต่อเที่ยว
ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ความเหมาะสมทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการฯในรูปแบบระบบรถรางไฟฟ้า ล้อยาง สำหรับการคิดอัตราค่าโดยสารแบบคงที่ 20 บาทต่อเที่ยว อัตราผลประโยชน์ทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการ (EIRR) อยู่ที่ 14.30% สำหรับการคิดอัตราค่าโดยสารแบบ14-30 บาท EIRR อยู่ที่ 14.39% และการคิดอัตราค่าโดยสารแบบขั้นไบได EIRR อยู่ที่ 14.57%
ส่วนแผนการดำเนินโครงการนั้นในเบื้องต้นทาง รฟม. วางแผนจะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ดำเนินงานก่อสร้าง เดือน ม.ค. 67 คัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (PPP) ในรูปแบบ Net Cost ระยะเวลา 30 ปี ภายในเดือนส.ค.67- ส.ค. 68 เริ่มงานก่อสร้าง เดือน ก.ย. 68 พร้อมเปิดให้บริการในเดือน ธ.ค. 71 คาดมีปริมาณผู้โดยสารในปีที่เปิดให้บริการอยู่ที่ 14,000 คน-เที่ยวต่อวัน และในอีก 40 ปี ข้างหน้าคาดว่าปริมาณผู้โดยสารในปีที่เปิดให้บริการอยู่ที่ 60,000 คน-เที่ยวต่อวัน