ผู้ชมทั้งหมด 1,070
ธุรกิจพลังงานกำลังเข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน หลายบริษัทได้ให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด และมีการขยายการลงทุนในพลังงานสะอาดมากขึ้น เพื่อสู่เป้าหมายการลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องดำเนินควบคู่ไปกับการสร้างโอกาสการเติบโตในธุรกิจที่ถูกมองว่าเป็นพลังงานสะอาด บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ได้ขยายการลงทุนในธุรกิจผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) รวมถึงการขยายการลงทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ที่รองรับทั้งรถยนต์ไฟฟ้า เรือไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System : ESS) ซึ่งเป็นไปตามทิศทางกลยุทธ์การลงทุนธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตของกลุ่มปตท. เพื่อเร่งสร้าง Energy Storage and EV Value Chain ให้ครอบคลุมในทุกมิติ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
โดยการลงทุนในธุรกิจผลิตรถยนต์ไฟฟ้านั้นเป็นการร่วมลงทุนระหว่างบริษัท อรุณ พลัส จํากัด (ARUN PLUS) และ Hon Hai Technology Group (Foxconn) จัดตั้งบริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด เพื่อลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าบนพื้นที่ 313 ไร่บนพื้นที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.ชลบุรี โดยการก่อสร้างโรงงานคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมผลิต EV สู่ตลาดภายในปี 2567 ในระยะแรกหลังจากก่อสร้างแล้วเสร็จเริ่มการผลิตที่ 50,000 คันต่อปี และจะขยายเป็น 150,000 คันต่อปีในปี 2573
ส่วนการลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่ และระบบกักเก็บพลังงานนั้น นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การลงทุนในธุรกิจแบตเตอรี่ และระบบกักเก็บพลังงานนั้นดำเนินการภายใต้บริษัท นูออโว พลัส จำกัด (NUOVO PLUS) ที่ร่วมลงทุนกันระหว่าง บริษัท อรุณ พลัส จํากัด (ARUN PLUS) ถือหุ้นในสัดส่วน 51% และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ถือหุ้นสัดส่วน 49% ภายใต้ทุนจดทะเบียน 4,200 ล้านบาท
ทั้งนี้ในปัจจุบัน NUOVO PLUS มีโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงานภายใต้แบรนด์ G-Cell โดยใช้เทคโนโลยี SemiSolid แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตของบริษัท 24M Technologies Incorporation หรือ 24M จากประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 30 MWh (เมกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เป็นโรงงานนำร่อง ซึ่งมีการผลิตจำหน่ายและทดลองใช้ในกลุ่มบริษัท ปตท. แล้วในปัจจุบัน แต่จะขยายกำลังการผลิตเติมหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดในอนาคต
ขณะเดียวกัน NUOVO PLUS ยังได้ร่วมลงทุนกับ บริษัท Gotion Singapore Ple.,Ltd จากประเทศจีน จัดตั้งบริษัท เอ็นวี โกชั่น จำกัด (NV Gotion) ด้วยทุนจดทะเบียนไม่เกิน 600 ล้านบาท สัดส่วนการลงทุน 51% และ 49% ตามลำดับ ทั้งนี้ในปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างโรงงานประกอบแบตเตอรี่ที่อ.ปลวกแดง จ.ระยอง บนพื้นที่ 20 ไร่ โดยจะนำเข้าวัตถุดิบ เซลล์แบตเตอรี่จากจีนมาประกอบแบบโมดูลแพ็ค และแบบ LFP (Lithium Iron Phosphate) ที่มีความปลอดภัยและคุณภาพสูง สำหรับตลาดยานยนต์และระบบกักเก็บพลังงานในรูปแบบต่างๆ ให้กับลูกค้าในนาม NV Gotion คาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 4/2566 และมีกำลังการผลิตเฟสแรก 1 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี และขยายกำลังการผลิตเป็น 2 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี ภายในปี 2567 และขยายกำลังการผลิตเป็น 4 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปีในปี 2568 ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าในอนาคตตลาดจะมีความต้องการมากน้อยแค่ไหน
นายบุรณิน กล่าวว่า กำลังการผลิตแบตเตอรี่ของ NV Gotion เฟสแรก 1 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี นั้นจะสามารถรองรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มีขนาดแบตเตอรี่ความจุ 60 กิโลวัตต์ชั่วโมงได้ประมาณ 15,000 – 20,000 คันต่อปี และรองรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มีขนาดแบตเตอรี่ความจุ 40 กิโลวัตต์ชั่วโมงได้ประมาณ 25,000 คันต่อปี ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้าผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหลายแบรนด์ โดยเฉพาะ NETA ได้ให้ความสนใจ รวมถึงกลุ่มลูกค้าอุตศาหกรรมที่ต้องการระบบ ESS ก็ให้ความสนใจหลายรายเช่นกัน
นอกจากนี้ NUOVO PLUS ยังได้เข้าไปถือหุ้นบริษัท Anhui Axxiva New Energy Technologies จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศจีน สัดส่วน 11.1% ของ Equity Interest ทั้งหมดของ AXXIVA เพื่อเป็น Strategic Investment ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับแบตเตอรี่ โดยโรงงานแห่งนี้ใช้เทคโนโลยีการผลิตจาก 24M
นอกจากนี้ ปตท. โดย “อรุณ พลัส” ยังได้ร่วมกับบริษัท Contemporary Amperex Technology Co., Ltd หรือ CATL ตั้งโรงงานประกอบแบตเตอรี่แบบ cell to pack อีกแห่งหนึ่งภายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก จ.ชลบุรี ภายใต้กรอบการลงทุนกว่า 3,600 ล้านบาท โดยโรงงานแห่งนี้พร้อมเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2567 ด้วยกำลังการผลิต 6 กิกะวัตต์-ชั่วโมงต่อปี
นายบุรณิน กล่าวว่า ตลาดรถยนต์ EV เริ่มเห็นภาพของการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเทรนด์ทั่วโลกมุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในขณะที่รัฐบาลก็มีนโยบายสนับสนุนการใช้รถยนต์ EV โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ 30% ภายในปี 2030 ซึ่งหมายถึงว่าจะมีรถยนต์ EV วิ่งบนถนน 6 แสนคัน อย่างไรก็ตามรัฐบาลคาดว่าในปี 2566 จะมียอดการจดทะเบียนรถยนต์ EV เพิ่มขึ้นเป็น 70,000 คัน ซึ่งหากการใช้รถยนต์ EV เพิ่มมากขึ้นตามเป้าหมายที่รัฐตั้งเอาไว้ก็จะเป็นโอกาสที่ดีในการขยายกำลังการผลิต
นอกจากนี้ตลาดในประเทศประเทศยังเห็นโอกาสการเติบโตของ (ดีมานด์) ความต้องการใช้ระบบ ESS ที่คาดว่าจะเติบโตขึ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า เนื่องจากมีโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in-Tariff (FiT) พ.ศ. 2565-2573 รวมกำลังการผลิต 5,203 เมกะวัตต์ รวมทั้งมีการติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปในโรงงานอุตสาหกรรม และอาคาร สำนักงานกันเพิ่มขึ้น ก็เป็นโอกาสที่ดีของการดำเนินธุรกิจผลิตแบตเตอรี่ และระบบ ESS
นายบุรณิน กล่าวถึงเป้าหมายความสำเร็จในธุรกิจแบตเตอรี่ ของกลุ่ม ปตท. ว่า เป้าหมายความสำเร็จในธุรกิจผลิตแบตเตอรี่นั้นคือการสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจหรือ Ecosystems ให้เกิดขึ้นอย่างครบวงจรในประเทศ ปตท.ไม่จำเป็นจะต้องลงทุนเองทั้งหมด โดยการจัดตั้ง NUOVO PLUS ขึ้นมาด้วยการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร เทคโนโลยีและเงินทุน เป็นเหมือนการจุดประกายให้กับธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศและการสร้าง Ecosystems ให้เกิดขึ้นให้ได้ อย่างไรก็ตามความท้าทายทางธุรกิจสำหรับ NUOVO PLUS คือ คุณภาพและราคาจำหน่ายแบตเตอรี่ ที่จะต้องแข่งขันได้กับแบตเตอรี่นำเข้า