ผู้ชมทั้งหมด 438
ปตท. หวังรัฐ สนับสนุนลงทุนผลิตไฮโดรเจนสีเขียวในประเทศ หลังผลการศึกษาเบื้องต้นพบ ต้นทุนยังสูงกว่านำเข้า แย้มเล็งเพิ่มเป้าลงทุนพลังงานหมุนเวียนในปี 2573 มากกว่า 12 กิกะวัตต์
นายเชิดชัย บุญชูช่วย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ระบุว่า ความคืบหน้าการลงทุนโครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง (Derivatives) ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาเบื้องต้น พบว่า ประเทศไทยมีความเข้มของแสงแดดไม่มากเหมือนเทียบกับซาอุฯ ส่งผลให้ต้นทุนพลังงานหมุนเวียนสูง เมื่อนำไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอย่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม มาแยกก๊าซไฮโดรเจนจากน้ำ โดยไม่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต ทำให้ได้ไฮโดรเจนสีเขียว ที่มีต้นทุนสูงกว่า 6-7 ดอลลาร์ต่อกิโลไฮโดรเจน หรือ สูงกว่าราคานำเข้า
โดยโครงการนี้ กฟผ. ร่วมจัดหาพื้นที่ แต่ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องพิจารณาต้นทุนว่าคุ้มค่าหรือไม่ จากนั้นจึงจะศึกษาขั้นละเอียด เพื่อสรุปว่าแข่งขันกับตลาดได้หรือไม่ ตลอดจนการหากลุ่มลูกค้าคือใคร เป็นต้น คาดว่าผลการศึกษาจะได้ข้อสรุปในปลายปีนี้
ทั้งนี้ มองว่า โครงการฯนี้จะเกิดขึ้นได้ ภาครัฐต้องเข้ามาสนับสนุนด้วยแพคเกจที่เหมาะสม ซึ่งหลายประเทศที่ผลักดันให้เกิดโครงการไฮโดรเจนสีเขียว ภาครัฐจะมีการสนับสนุนการลงทุน ด้วยภาษีและอื่นๆ บางประเทศอุดหนุนระยะยาวมากกว่า 5-10ปี โดยในส่วนของไทยหากจะเกิดขึ้นได้รัฐก็ต้องอุดหนุนและทำให้ต้นทุนการผลิตกรีนไฮโดรเจนต่ำกว่าการนำเข้า ไม่ต่ำกว่า 30% ซึ่งทาง ปตท.ก็อยู่ระหว่างหารือกับภาครัฐ
อย่างไรก็ตาม ปตท.มีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้นกว่าเป้าหมายเดิมที่กำหนดว่าในปี 2573 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ 12,000 เมกะวัตต์ หรือ 12 กิกะวัตต์(GW) และไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงประเภทConventional (ก๊าซธรรมชาติ,น้ำมัน) 8,000 เมกะวัตต์ หรือ 8 กิกะวัตต์ ซึ่งจะเอื้อต่อการนำมาผลิตไฮโดรเจนสีเขียวในอนาคต
สำหรับ โครงการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง (Derivatives) ปตท.และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาและลงทุนในโครงการไฮโดรเจนสีเขียว และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับบริษัท แอควา พาวเวอร์ จำกัด (ACWA Power) เพื่อตอบสนองการใช้พลังงานสะอาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงโอกาสการส่งออกไปยังภูมิภาคใกล้เคียง โดยมีเป้าหมายผลิตไฮโดรเจนสีเขียวในประเทศไทยประมาณ 2.25 แสนตันต่อปี หรือเทียบเท่ากรีนแอมโมเนีย 1.2 ล้านตันต่อปี ด้วยเงินลงทุนประมาณ 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 252,000 ล้านบาท