กูรูพลังงานชี้เทรนด์เทคโนโลยีBESSหนุนไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ผู้ชมทั้งหมด 1,093 

องค์การซีเกรฝ่ายไทย และ กฟผ. ชี้เทรนด์เทคโนโลยี BESS ช่วยเสริมเสถียรภาพการบริหารจัดการไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หนุนทั่วโลกก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

นายณอคุณ สิทธิพงศ์ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการองค์การซีเกรฝ่ายไทย กล่าวผ่านเวทีสัมมนาออนไลน์ TNC – CIGRE WEBINAR 2021ทางเฟซบุ๊กการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กระแสการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ ทำให้หลายประเทศทั่วโลกได้เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้น แต่เนื่องจากความผันผวนของการผลิตไฟฟ้าที่เป็นไปตามสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศ ทำให้ต้องนำเทคโนโลยี Battery Energy Storage System หรือ BESS เข้ามาช่วยสร้างเสถียรภาพ

โดยปัจจุบันเทคโนโลยีดังกล่าวได้ถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและมีแนวโน้มด้านราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนร่วมกับ BESS เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อเทรนด์การผลิตไฟฟ้าในปัจจุบัน อีกทั้งราคาแบตเตอรี่ที่ลดลง ยังเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนารูปแบบการคมนาคมเข้าสู่สังคมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV มากยิ่งขึ้นในอนาคต

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า สภาวะโลกรวนจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ทำให้หลายประเทศทั่วโลกมีแนวคิดรณรงค์ใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อนำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ หรือ Net Zero Emissions ในอนาคต ซึ่งประเทศไทยได้กำหนดแผนแม่บทให้สอดคล้องกับกระแสโลกดังกล่าว

โดยในภาคการผลิตไฟฟ้า กฟผ. ได้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ด้วยการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ Hydro-Floating Solar Hybrid ในพื้นที่เขื่อน 9 แห่งทั่วประเทศ รวมกำลังการผลิตทั้งสิ้น 2,725 เมกะวัตต์ ปัจจุบันติดตั้งที่แรก ณ เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ถือเป็นโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

รวมถึงการพัฒนา Grid Modernization ให้มีความมั่นคงและยืดหยุ่นด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ ได้แก่ การพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE Forecast) การติดตั้งระบบ Energy Storage ระบบ Battery Energy Storage System หรือ BESS ในพื้นที่สถานีไฟฟ้าแรงสูงบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ และสถานีไฟฟ้าแรงสูงชัยบาดาล จ.ลพบุรี

ขณะที่ในภาคการขนส่ง กฟผ. ได้ส่งเสริมการใช้รถยนต์ EV เพื่อลดการปล่อย CO2 โดยพัฒนา Application ชื่อว่า EleXA สำหรับค้นหาสถานีชาร์จประจุไฟฟ้า ทำการติดตั้งสถานีชาร์จประจุไฟฟ้า EleX by EGAT จำนวน 14 แห่ง และจะขยายเพิ่มอีก 30 แห่งในอนาคต รวมทั้งจำหน่ายเครื่องชาร์จประจุไฟฟ้าภายในบ้าน หรือ EGAT Wallbox และ พัฒนาแพลตฟอร์ม BackEN ที่สามารถจัดการและมอนิเตอร์การใช้พลังงานทั้งระบบ เพื่อนำข้อมูลมาจัดหาพลังงานให้เพียงพอต่อความต้องการและทำให้ระบบไฟฟ้าของประเทศไทยมีความมั่นคง

Mr. Wilhelm van Butselaar ผู้แทนจาก Wärtsilä Singapore และ Mr. Achal Sondhi ผู้แทนจาก Fluence Energy กล่าวว่า เทคโนโลยี Battery Energy Storage System หรือ BESS ได้ถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายและมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หากนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และพลังงานฟอสซิล จะสามารถลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วย (LCOE) ของระบบได้มากกว่าร้อยละ 25 หรือหากนำไปใช้ร่วมกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จะช่วยลดความผันผวนจากข้อจำกัดด้านสภาพแวดล้อมและเสริมสร้างเสถียรภาพของระบบให้มีความมั่นคง ถือเป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาดในกระบวนการผลิตไฟฟ้า เพื่อก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำในอนาคต

สำหรับผู้ที่สนใจรับชมการสัมมนาออนไลน์เต็มรูปแบบ สามารถรับชมย้อนหลังได้ทางเฟซบุ๊ก กฟผ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย www.facebook.com/EGAT.Official และดาวน์โหลดเอกสารได้ที่ http://www.cigre-thailand.org/webinar2021/