UAC จ่อลงทุนโครงการ EV Ecosystem ในลาว ใช้งบกว่า 130 ลบ.

ผู้ชมทั้งหมด 546 

UAC จ่อลงทุน EV Ecosystem ในลาว ติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า พร้อมเจรจาพันธมิตร 2-3 ราย นำเข้ารถบรรทุกไฟฟ้า 6 คัน รองรับขนส่งRDF ภายใต้งบประมาณ 30 ล้านบาท และรถขนขยะไฟฟ้า 50 คัน งบประมาณอีก 100 ล้านบาท คาดแผนดำเนินงานชัดเจนปลายปีนี้ จ่อผนึกพันธมิตรตั้งโรงงานRDF ในอินโดนีเซีย กำลังการผลิต 150 ตันต่อวัน ใช้งบ 150 ล้านบาท คาดชัดเจนไตรมาส 2 ปีนี้

นายชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC เปิดเผยว่า บริษัท มีแผนจะพัฒนาโครงการระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) ในสปป.ลาว หลังจากที่บริษัท ได้เข้าไปดำเนินโครงการจัดการขยะเพื่อผลิตพลังงานทดแทนและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ที่นำกลับมาใช้ใหม่ที่นครเวียงจันทร์ สปป.ลาว ซึ่งเฟสแรกเป็นโครงการบริหารจัดการขยะได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จ และได้มีการต่อยอดการผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงจากขยะ หรือ RDF3 โดยเซ็นสัญญาขาย RDF3 ให้กับโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ในสปป.ลาว กำลังการผลิต 120 ตันต่อวัน คาดว่าจะสร้างเสร็จในเดือนพ.ค.นี้

อีกทั้ง เฟสที่สอง บริษัท ยังได้รับสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) โรงไฟฟ้าขยะ กำลังการผลิตราว 6 เมกะวัตต์ ในสปป.ลาว ซึ่งจะขายไฟฟ้าป้อนให้กับ รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว EDL แต่โครงการนี้คาดว่า จะชะลอการลงทุนออกไปก่อน เพื่อรอประเมินความพร้อมเรื่องการเงินและสถานะทางเศรษฐกิจของ สปป.ลาว โดยโครงการดังกล่าว เป็นการร่วมทุนระหว่าง UAC ถือหุ้น 55% พันธมิตรคนไทย อีกกว่า 25% และที่เหลือเอกชนลาว

ดังนั้น บริษัท มองว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเข้าไปโครงการพัฒนาระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV Ecosystem) ในนครเวียงจันทร์ สปป.ลาว ให้เกิดขึ้นก่อนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะ ที่ชะลอแผนการลงทุนออกไป ซึ่งเบื้องต้น EV Ecosystem จะประกอบด้วย การติดตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้า(EV Charging Station) ภายใต้การลงทุนของ UAC และอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตร 2-3 ราย เพื่อลงทุนรถบรรทุกไฟฟ้า สำหรับใช้ขนส่งขยะ RDF ป้อนให้กับโรงงานปูนฯ ประมาณ 6 คัน คาดว่า โครงการนี้จะใช้งบประมาณราว 30 ล้านบาท

อีกทั้ง บริษัท ยังได้รับสัมปทานขยะที่นครเวียงจันทร์ 45 ปี ซึ่งจะต้องเข้าไปบริหารจัดการขยะเก่า และจัดตั้งอีกบริษัท เพื่อมาบริหารจัดการขยะใหม่ ที่จะต้องมีรถเก็บขยะเข้าไปดำเนินการ ฉะนั้น บริษัท กำลังมองหาโมเดลที่จะใช้รถเก็บขยะที่เป็นรถไฟฟ้าแทนรถดีเซล ก็จะทำให้นครเวียงจันทร์ เป็นต้นแบบ EV Ecosystem โดยคาดว่าจะใช้รถเก็บขยะไฟฟ้าประมาณ 50 คัน งบลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท หรือ คันละ 2 ล้านบาท ซึ่งโครงการ EV Ecosystem น่าจะเห็นความชัดเจนได้ในช่วงปลายปีนี้

“ตอนนี้ รถขนส่งถ่านหินป้อนโรงไฟฟ้าหงสาในสปป.ลาว ก็เริ่มเปลี่ยนมาใช้รถบรรทุกไฟฟ้าแล้ว ซึ่ง ลาว ค่าไฟถูก 2 บาทกว่า และน้ำมันดีเซลแพงกว่าบ้านเรา 5-10 บาทต่อลิตร การใช้ EV น่าจะเกิดประโยชน์และทำให้ นครเวียงจันทร์ เป็นเมืองที่สะอาด”

นอกจากนี้ บริษัท ยังมีแผนในการจัดตั้งโรงงานผลิต RDF กำลังการผลิต 150 ตันต่อวัน ภายใต้งบลงทุน 150 ล้านบาท ในประเทศอินโดนีเซีย เพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงงานปูนซีเมนต์ของกลุ่ม SCG ปัจจุบัน โครงการนี้อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน และอยู่ระหว่างการตัดสินใจ คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในไตรมาส 2 ปีนี้ ซึ่งหากตัดสินใจจะลงทุนในโครงการดังกล่าว จะต้องเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริษัท(บอร์ด) เพื่อขออนุมัติงบลงทุนในโครงการดังกล่าวต่อไป

“โครงการที่อินโดนีเซียนั้น บริษัทจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่ต่ำกว่า 50% และมีพันธมิตรที่อินโดนีเซียแล้ว 1 ราย และกำลังคุยกับ SCG ว่าจะร่วมถือหุ้นด้วยหรือไม่ คาดว่าโครงการนี้จะมีพันธมิตรราว 2-3 ราย ซึ่งตอนนี้กลุ่ม SCG มีนโยบายลดการใช้ถ่านหิน ตามเป้าหมาย Net Zero ในปี ค.ศ.2030 ทำให้โรงปูนฯ พยายามใช้เชื้อเพลิงประเภทอื่น ทดแทนถ่านหิน ก็มีความเป็นไปได้ที่โครงการนี้จะเดินหน้า ซึ่งกลุ่ม SCG ก็ยังชวนไปลงทุนในกัมพูชาด้วย”

เมื่อเร็วๆนี้ ดร.ศรีนาวา สุภาณุวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือด้านวิชาการ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการแปรรูปขยะเป็นพลังงานสีเชียว และพัฒนาพื้นฐานโครงร่างสถานีชาร์จรถไฟฟ้า ระหว่างกรมส่งเสริมและประหยัดพลังงาน กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ กับบริษัท เวียงจันทน์บริหารจัดการขี้เหยื้อ จำกัด ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว โดยมี นายชัชพล ประสพโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.ยูเอซี โกลบอล (UAC) และ นายจันทร์โท มีรัตนแพง  อธิบดีกรมส่งเสริมและประหยัดพลังงาน เป็นผู้ลงนามในครั้งนี้