ผู้ชมทั้งหมด 550
“ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์” มั่นใจธุรกิจผ่านจุดต่ำสุดในปี 2565 แล้ว คาดปีนี้ ยอดขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟฟ้าฯ และโรงงานปูนซีเมนต์ของบริษัทแม่ เพิ่ม 20% ยันค่าFt ช่วงที่เหลือของปีนี้มีแนวโน้มลดลงแต่ยังชดเชยรายได้จากแอดเดอร์ที่หายไปได้ ลั่นปี 2569 เลิกใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง 100%
นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP เปิดเผยในงาน Oppday Q1/2023 บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) TPIPP เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2566 โดยระบุว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทในปีนี้ คาดว่า จะได้รับปัจจัยหนุนจากยอดจำหน่ายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฯ ที่คาดว่าประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าจะกลับมาอยู่ที่ราว 95% จากปี 2565 อยู่ที่ราว 80% เนื่องจากได้มีการหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้า G3 และ G5 ขณะที่การจำหน่ายไฟฟ้าให้กับโรงงานปูนซีเมนต์ของบริษัท จะเติบโตเพิ่มขึ้นราว 20% ฉะนั้น การจำหน่ายไฟฟ้าในปี 2566 จะเติบโตสูงกว่าปี 2565
อีกทั้งในปีนี้ ยังมีปัจจัยบวกจากค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ในปลายปี 2565 โดยช่วงไตรมาสแรกปีนี้ เพิ่มขึ้นราว 1.30 บาทต่อหน่วย สามารถชดเชยรายได้จากแอดเดอร์ที่หมดลง ประกอบกับบริษัทยังมีรายได้สูงขึ้นจากการจำหน่ายไฟฟ้าให้กับโรงงานปูนฯ
“บริษัท เชื่อว่า ธุรกิจได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดในปี2565 ไปแล้ว เนื่องจากมีการหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าและราคาถ่านหินปรับสูงขึ้น ซึ่งในปี 2566 คาดว่า จะเป็นปีที่ธุรกิจฟื้นตัวและเติบโตขึ้นจากปี 2565 แน่นนอน เพราะต้นทุนค่าเชื้อเพลิงทั้งถ่านหินและขยะปรับลดลง ขณะที่ค่าFt เพิ่มขึ้นแม้จะมีแนวโน้มลดลงแต่เชื่อว่าเฉลี่ยทั้งปีนี้ก็ยังสูงกว่าปี 2561 ที่บริษัทเริ่มจำหน่ายไฟฟ้า รวมถึงยอดขายไฟในปีนี้ยังเติบโตขึ้น”
ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปีนี้ คาดว่า จะเติบโตขึ้นจากไตรมาส 1ที่ผ่านมา แม้ว่าค่า Ft ช่วงเดือน พ.ค.มิ.ย.นี้จะปรับลดลงแต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สามารถชดเชยกับรายได้จากค่าแอดเดอร์ที่หายไปได้ ซึ่งในช่วงไตรมาส2 คาดว่าจะมียอดจำหน่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของการไฟฟ้าฯ และโรงงานปูนฯ
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ บริษัท จะยังไม่มียอดจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์(COD) โครงการใหม่ๆเข้ามาเพิ่มเติม แต่จะมียอด COD ทยอยเข้ามาในปีถัดไป เช่น โครงการโซลาร์ฟาร์ม ที่มีการลงนามสัญญาในช่วงเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา 2 โครงการ จำนวนกำลังการผลิตรวม 62.1 เมกะวัตต์(MW) โดยโครงการแรก 52.5 เมกะวัตต์ จะ COD ปี 2567 และโครงการที่ 2 อีก 9.6 เมกะวัตต์ จะ COD ปี2568 และยังมีโครงการโซลาร์รูฟท็อป อีก 1 โครงการกำลังการผลิต 5.1 เมกะวัตต์ จะ CDO ปี2567 รวมถึง โครงการพลังงานลม อีก 1 โครงการ กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ จะ COD ในปี2567
นอกจากนี้ บริษัท ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะใหม่อีก 2 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าขยะขององค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สงขลา ขนาดกำลังการผลิต 7.92 เมกะวัตต์ กำหนดCOD ปี2567 และโครงการโรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยระยะที่ 2 ของเทศบาลนครนครราชสีมา ขนาดกำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ กำหนดCOD ปี2567
อย่างไรก็ตาม บริษัท มุ่งสู่ความเป็นกรีนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Zero Carbon โดยจะเลิกใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง 100% ในปี 2569 จากปี2563 มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 440 เมกะวัตต์ และเป็นถ่านหินอยู่ที่ 220 เมกะวัตต์ หรือลดลง 50% และในปี 2567 จะมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 502 เมกะวัตต์ และเป็นถ่านหินอยู่ที่ 150 เมกะวัตต์ หรือลดลง 30%
นายภัคพล กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการเปิดประมูลผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในเฟสที่2 ของภาครัฐอีกประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ ซึ่งน่าจะรับซื้อไฟฟ้าเชื้อเพลิงโซลาร์และลม เพิ่มเติมนั้น เบื้องต้นคาดว่า จะมีทั้งในส่วนของโครงการที่ตกหล่นจากรอบแรก และการเปิดให้ยื่นเสนอโครงการใหม่ ซึ่งบริษัทเองก็มีการศึกษาความเป็นไปได้ทั้งโซลาร์และลม โดยมีการติดตั้งเครื่องวัดลมและแสงแดดในหลายพื้นที่ของประเทศ รวมถึงได้มองหาซัพพลายเออร์ เพื่อศึกษาข้อมูลไว้บ้างแล้ว แต่สุดท้ายแล้วบริษัทจะตัดสินใจยื่นเสนอโครงการหรือไม่นั้น ยังขึ้นอยู่กับผลตอบแทนการลงทุน และความคุ้มค่าในการลงทุนเป็นหลัก