ผู้ชมทั้งหมด 653
ไทยออยล์ ประเมินทิศทางราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ ยืนเหนือระดับ 100 ดอลลาร์ฯต่อเนื่อง เหตุความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนทวีความรุนแรงขึ้น คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 114-119 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 117-122 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่าง วันที่ 7 -11 มี.ค. 65 พบว่า ราคาน้ำมันดิบทะยานเกิน 110 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งนับเป็นราคาสูงสุดในรอบ 7 ปี และคาดว่าจะทรงตัวเหนือ 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลต่อเนื่อง จากเหตุการณ์การปะทะกันระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังไม่มีแนวโน้มยุติเนื่องจากการเจรจาในวันที่ 1 มี.ค. ไม่ประสบผลสำเร็จ และรัสเซียยังคงมีแผนบุกยูเครนอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่นานาชาติยกระดับมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย เพื่อกดดันให้รัสเซียยกเลิกและถอนกำลังทหารออกจากยูเครน รวมถึงความกังวลต่อปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซียที่อาจจะหายไปหากมีการใช้มาตรการคว่ำบาตรในธุรกิจพลังงานรัสเซีย โดยล่าสุดบริษัทพลังงานรายใหญ่หลายแห่ง ประกาศถอนการลงทุนร่วมการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย
- สถานการณ์การปะทะกันของกองกำลังทหารระหว่างรัสเซียและยูเครนหลังผ่านไป 1 สัปดาห์ยังไม่มีแนวโน้มยุติ โดยรัสเซียบุกรุกยูเครนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถยึด เมืองเคอร์ซอน (Kherson) ซึ่งเป็นเมืองท่าที่สำคัญทางตอนใต้ของยูเครนได้สำเร็จในวันที่ 2 มี.ค. ที่ผ่านมา และยังเพิ่มระดับการโจมตีอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามรัสเซียและยูเครนแสดงความประสงค์ที่จะเข้าการเจรจารอบใหม่เพื่อยุติสงคราม หลังการเจรจารอบแรกในวันที่ 1 มี.ค ไม่ประสบผลสำเร็จ
- หลายชาติยกระดับการคว่ำบาตรรัสเซีย โดยมุ่งเน้นไปที่ธุรกรรมทางการเงินและเครือข่ายธนาคารของรัสเซีย โดยไม่รวมธุรกรรมที่เกี่ยวกับพลังงาน โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (28 ก.พ. – 3 มี.ค.) สหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษ สหภาพยุโรป ตัดธนาคารรัสเซียรวมกันมากกว่า 7 แห่งออกจากระบบ Swift ซึ่งเป็นระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ ที่สถานบันการเงินทั่วโลกใช้งาน เพื่อโดดเดี่ยวรัสเซียจากระบบการเงินของโลก และเพื่อให้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจและการเงินของรัสเซีย การถูกตัดออกจากระบบ Swift ทำให้คู่ค้าต่างๆของรัสเซีย ตัดสินใจหลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมทางการเงินรวมถึงการซื้อขายสินค้า น้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ กับรัสเซียเพื่อหลีกเลี่ยงความยากลำบากในการชำระเงิน และความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับสินค้าถ้าสถานการณ์รุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ตลาดกังวลว่าการส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซีย อาจปรับลดลง ถึงแม้มาตรการคว่ำบาตรของหลายชาติต่อรัสเซียจะยังไม่ระบุชัดถึงการซื้อขายน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติก็ตาม ปัจจุบันการส่งออกน้ำมันดิบของรัสเซียมีสัดส่วนราว 5-6% ของอุปทานน้ำมันดิบทั่วโลก หรือประมาณ 4-5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- บริษัทขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติหลายแห่งถอนธุรกิจที่ดำเนินการในรัสเซีย เพื่อคว่ำบาตร โดย BP ประกาศถอนหุ้น 19.75 ที่ถือครองในบริษัทน้ำมัน Rosneft ของรัสเซีย นอกจากนั้น Shell ประกาศยุติการเป็นหุ้นส่วนกับบริษัท Gazprom ยิ่งไปกว่านั้น Equinor และ Exxon ก็แถลงยกเลิกธุรกิจและการลงทุนรัสเซียเช่นกัน โดยการถอนธุรกิจดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อกำลังการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซีย เนื่องจากบริษัทเอกชนต่างชาติมีกำลังการผลิตราว 9% ของกำลังการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซีย
- ตลาดน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัวต่อเนื่อง หลังการประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันดิบและชาติพันธมิตร หรือกลุ่มโอเปกพลัส ในวันที่ 2 มี.ค ยังคงมติเดิมในการเพิ่มกำลังการผลิตที่ 400,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือนเม.ย. ปฎิเสธข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ที่ให้เพิ่มกำลังการผลิต เพื่อลดระดับปัญหาราคาน้ำมันดิบ
- ตลาดจับตาว่าสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรในกลุ่ม International Energy Agency (IEA) จะพิจารณาจะปล่อยน้ำมันดิบจากคลังสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ (SPR) เพิ่มเติมหรือไม่ หลังล่าสุดมีข้อตกลงร่วมกันที่จะปล่อยน้ำมันดิบ 60 ล้านบาร์เรล ในเดือน มี.ค. – เม.ย. เพื่อชดเชยปริมาณน้ำมันดิบที่อาจได้รับผลกระทบจากความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน และลดความร้อนแรงของราคาน้ำมัน
- ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด กล่าวว่าผลกระทบของความขัดแย้งในยูเครนยังคงมีความไม่แน่นอนอย่างมาก และยังเร็วเกินไปที่จะประเมิน อย่างไรก็ตาม เฟดคาดว่าช่วงเวลานี้จะเป็นจังหวะที่เหมาะสมในการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมปลายเดือน มี.ค. ท่ามกลางเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น และตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง โดยเฟดส่งสัญญาณอาจจะขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% ซึ่งต่ำกว่าที่นักลงทุนคาดการณ์ไว้
- เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีกลุ่มยูโรโซน ไตรมาส 4/64 มีแนวโน้มทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า ดัชนีผู้บริโภคจีนเดือน ก.พ. 65 มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า การแถลงเกี่ยวกับนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป
ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 114-119 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 117-122 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 28 ก.พ. – 4 มี.ค. 65 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 24.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 115.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เช่นเดียวกันกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ปรับเพิ่มขึ้น 20.18 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 118.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 108.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังจากที่ตลาดกังวลต่อสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครน ประกอบกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปกพลัสยังคงเพิ่มขึ้นอย่างจำกัด ส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบอยู่ในระดับตึงตัว