SPCG หวังรัฐขึ้นค่าFt ช่วยหนุนรายได้ขายไฟ

ผู้ชมทั้งหมด 1,326 

SPCG มั่นใจผลประกอบการปีนี้ยังทำกำไรได้ แม้ไตรมาส 1 มีกำไรสุทธิ 666.1 ล้านบาท ลดลงหลังแอดเดอร์ 7 โครงการโซลาร์ฟาร์มหมดลง ชี้บริษัทคาดหวังจะรับรู้รายได้จากโครงการโซลาร์ฟาร์มในอีอีซี 500 เมกะวัตต์ ขณะที่รัฐปรับขึ้นค่า Ft หนุนรายได้

ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ “SPCG” เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจขณะนี้ยังเดินหน้าต่อเนื่อง โดยผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 มีรายได้รวมจากการขายและให้บริการ จำนวน 1,054.9 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10% จากงวดเดียวกันของปีก่อนและบริษัทฯ มีกำไรสุทธิ จำนวน 666.1 ล้านบาท ลดลง 15% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรอยู่ที่ 782.3 ล้านบาท

สาเหตุที่บริษัทฯ มีรายได้และกำไรลดลงเนื่องจากตั้งแต่ปี 2563 – 2565 บริษัทมี 7 โซลาร์ฟาร์ม ที่ค่าแอดเดอร์หมดไปจากทั้งหมด 36 แห่ง ได้แก่ โครงการที่ โคราช 1 (20 เมษายน 2563), สกลนคร 1 (8 กุมภาพันธ์ 2564), นครพนม 1 (21 เมษายน 2564), โคราช 2 (12 กันยายน 2564), เลย 1 (14 กันยายน 2564), ขอนแก่น 1 (14 กุมภาพันธ์ 2565) และ โคราช 3 (8 มีนาคม 2565) อย่างไรก็ตามแม้ค่าแอดเดอร์หมดไปบริษัทยังคงได้รับเงินจากการขายไฟตามปกติ ในขณะเดียวกัน SPCG ยังคงเดินหน้านโยบายปรับลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการต้นทุนด้านต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ต้นทุน O&M (Operating & Maintenance) สำหรับธุรกิจโซลาร์ฟาร์มทั้งในปัจจุบันและอนาคต ลดลงอย่างเป็นนัยสำคัญ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเสริมสร้างสภาพคล่องและรักษากำไรของบริษัท โดยในปี 2565 บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 4,700 ล้านบาท

ในส่วนของบริษัท โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ จำกัด หรือ “SPR” (บริษัทในเครือ SPCG) ผู้นำด้านการออกแบบและติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Power Roof System) มีรายได้ที่เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยในไตรมาสแรกของปี 2565 มีรายได้จำนวน 35.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวของปี 2564 (31.1 ล้านบาท) ประมาณ 4.1 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ เดินหน้าขยายการติดตั้งอย่างต่อเนื่อง โดยได้มีการติดตั้งไปแล้วกว่า 100 เมกะวัตต์ ทั้งนี้บริษัทได้มีการปรับเปลี่ยนแผนการตลาดและกลยุทธ์ในการขายอยู่ตลอด เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและทางเลือกให้กับลูกค้ามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าในกลุ่มอาคารพาณิชย์ และกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ที่ยังคงให้การตอบรับเป็นอย่างดี เพราะเมื่อลูกค้าติดตั้งระบบโซลาร์รูฟของบริษัทแล้ว ต่างเห็นผลลัพธ์ที่ดี สามารถลดค่าไฟได้ทันทีเมื่อติดตั้ง อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการดำเนินงาน ทำให้กิจการของลูกค้ามีกำไรเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าบริษัทฯ ยังคงสามารถทำกำไรได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี เนื่องจากกรณีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า FT) ในรอบเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2565 จะส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเร่งตัวขึ้น อีกทั้งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย นอกจากนั้นราวไตรมาส 3-4 คาดว่าบริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 500 เมกะวัตต์ ในพื้นที่เมืองใหม่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกฯ หรือ อีอีซี ซึ่งจะมีส่วนเข้ามาทดแทนรายที่หายไปจาก 7 โครางการโซลาร์ฟาร์มของบริษัทฯ ที่ค่าแอดเดอร์หมดไป

สำหรับ 2 โครงการใหญ่ที่ญี่ปุ่น ขณะนี้มีความคืบหน้ามากขึ้น โดยโครงการ Ukujima Mega Solar Project ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 480 เมกะวัตต์ (MW) งบการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 178,758 ล้านเยน หรือประมาณ 60,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้น 17.92% หรือคิดเป็นเงินจำนวน 9,000 ล้านเยน หรือประมาณ 2,700 ล้านบาท บริษัทจะชำระเงินงวดที่เหลือภายในไตรมาส 3 ปี 2565 ปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างขั้นตอนการก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในปี 2023-2024

ด้านโครงการ Fukuoka Miyako Mega Solar ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 67 เมกะวัตต์ (MW) แบ่งเป็น North Phase 23 เมกะวัตต์ (MW) และ South Phase 44 เมกะวัตต์ (MW) งบการลงทุนทั้งสิ้น 23,493 ล้านเยน หรือ ประมาณ 6,744 ล้านบาท โดย SPCG ถือหุ้น 10% คิดเป็นเงินจำนวน 314 ล้านเยน หรือประมาณ 91 ล้านบาท ซึ่งบริษัทฯ ได้มีการเข้าไปร่วมทุนในไตรมาส 3 ปี 2564 เรียบร้อยแล้ว โดยโครงการดังกล่าวมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT 36 เยนต่อหน่วย ระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า North Phase 18.7 ปี และ South Phase 17.8 ปี โดยมี Kyushu Electric Power Co., Inc. เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้า ทั้งนี้กำหนดวันจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) สำหรับ North Phase ได้ดำเนินการ COD เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในส่วนของ South Phase คาดว่าสามารถ COD ได้ในช่วงเดือน ก.พ. 66

นอกจากนี้ บริษัทยังคงมองหาการลงทุนโครงการใหม่ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าของบริษัท โดยจะเน้นไปที่พลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก โดยได้ตั้งเป้าหมายในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 1,000 เมกะวัตต์