SCN จ่อปิด 2 ดีล M&A ปีหน้า หนุนผลประกอบการโตทะลุ 20%

ผู้ชมทั้งหมด 1,029 

SCN ตั้งเป้าผลประกอบการปี 2566 โตกว่า 20% ยังไม่รวมแผน M&A เผยมีเจรจาอยู่ 2 ดีล รอลุ้นผลปีหน้าทั้งธุรกิจติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปและธุรกิจใหม่ จ่อควบรวมกิจการเพิ่มกำลังผลิตโซลาร์รูฟท็อปอีก 4 เมกะวัตต์ในปีนี้ ก่อนดันบริษัทลูก SAP เข้าระดมทุนตลาดหลักทรัพย์ฯ ขยายกำลังผลิตแตะ 110 เมกะวัตต์ในปี 67 เตรียมพร้อมยื่นไฟลิ่งปีหน้า 

นายฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สแกน อินเตอร์ จำกัด(มหาชน) หรือ SCN เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินงานของบริษัทในปี 2566 คาดว่าผลประกอบการจะเติบโตในทิศทางเดียวกับช่วงครึ่งหลังของปี 2565 พร้อมลุ้นปิดดีลควบรวมหรือซื้อกิจการ(M&A) ที่อยู่ระหว่าเจรจา 2 ดีล โดย 1 ดีลเป็นโครงการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป และอีก 1 ดีลเป็นดีลเซอร์ไพรส์ ซึ่งทั้ง 2 ดีลดังกล่าวจะสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัททันที หากผลการเจรจาประสบความสำเร็จ

นอกจากนี้ การเติบโตจากภายในขององค์กร (Organic Growth) ก็ยังเติบโต 100% อยู่แล้ว รวมถึงธุรกิจใหม่ปลูกกัญชง แบบ Indoor Outdoor บนพื้นที่ 3,150 ตารางเมตร กำลังการผลิตกว่า 200 กิโลกรัมต่อวันนั้น ในส่วนของเฟสแรก กำลังผลิต 100 กิโลกรัมต่อวันจะเริ่มขายได้ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ หลังจากได้รับใบอนุญาตปลูกกัญชงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ผลประกอบการปี 2566 ในส่วนของ Organic Growth จะเติบโต 20% เป็นตัวเลขที่เป็นไปได้ ถ้ามี M&A เข้ามาอีกก็จะเติบโตไปได้อีก แค่ธุรกิจกัญชง ก็มากแล้ว และยังมีธุรกิจซ่อมบำรุงรถเมย์ NGV ของ ขสมก. ที่ประมาณ 100 คันแรกจะครบสัญญา 5ปีแรก ที่รายได้จะเพิ่มขึ้น และหากเราบริหารจัดการได้ดีก็จะเพิ่มในส่วนของกำไร”

ส่วนธุรกิจก๊าซธรรมชาติแรงอัด iCNG ในปี 2566 แม้ว่าราคาน้ำมันจะมีแนวโน้มอ่อนตัวลง แต่ก็ต้องมีการลงทุนเปลี่ยนระบบเครื่องกำเนิดไอน้ำ(Boiler) ซึ่งเป็นต้นทุนซึ่งลูกค้าก๊าซฯส่วนใหญ่จะยังคงใช้ก๊าซฯต่อไปอีกประมาณ 6 เดือน ถึง 1 ปี อีกทั้งเชื่อว่า ราคาน้ำมันแม้อ่อนตัวลงแต่ก็จะยังอยู่ในช่วงขาขึ้น ต้องใช้เวลาราว 3-4 ปีกว่าจะกลับสู่ภาวะปกติ ฉะนั้นบริษัทคาดว่าธุรกิจก๊าซฯจะยังได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันขาขึ้นไปอีกประมาณ 3 ปี

ประกอบกับ ธุรกิจ iCNG จะขยายตัวมากขึ้น หลังจากช่วงที่บริษัท เครือข่ายก๊าซ ไทย-ญี่ปุ่น จำกัด (Thai-Japan Gas Network หรือ TJN) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ SCN ได้ร่วมมือทางธุรกิจกับพันธมิตร จากประเทศญี่ปุ่น คือ บริษัท Shizuoka Gas Company Limited โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 49% ส่งผลให้ฐานลูกค้าขยายเพิ่มมากขึ้น และทำให้ยอดขายก๊าซฯ กลับขึ้นมาแตะระดับกว่า 5,000 MMBTU/วัน จากช่วงโควิด-19 ที่ลดลงไปเหลือประมาณ 500 MMBTU/วัน และในปี 2566 ยาดขายจะเพิ่มขึ้น 50% และปี 2567 จะเพิ่มขึ้น 100% หรือ แตะ 10,000 MMBTU/วัน

ขณะที่ธุรกิจ NGV ในปี 2566 คาดว่า จะยังเติบโตได้ตามทิศทางราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งในช่วง 7-8 ปีก่อน ยอดขาย NGV จะลดลงปีละ 10% ต่อเนื่อง แต่ในปี 2565 ยอดขาย NGV กลับเพิ่มขึ้นประมาณ 10% ตามความต้องการใช้ก๊าซฯเพื่อทดแทนน้ำมันที่มีราคาแพง

ส่วนธุรกิจซ่อมบำรุงรถเมย์ NGV ของ ขสมก. จำนวนรวม 489 คัน แต่มีไฟไหม้ไป 2 คัน เหลืออยู่ที่ 487 คันนั้น มีแนวโน้มดีขึ้น หลังอัตราการเสียลดลงจาก 15% เหลือเพียง 3% ทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้น และตั้งแต่ปี 2566 จะมีรถเมย์ประมาณ 100 คันแรกที่ครบสัญญาดำเนินการ 5 ปี แรก ซึ่งจะมีรายได้จาก ขมสก.เพิ่ม ประมาณ 100-200 ล้านบาท อีกทั้ง บริษัทยังมีแผนเข้าร่วมประมูลซ่อมบำรุงสถานี NGV ตามภูมิภาคเพิ่มเติม ในเร็วๆนี้ จากเดิมมี 2 ภูมิภาค

นอกจากนี้ ในส่วนของธุรกิจไฟฟ้า ก็มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น โดยในส่วนของ โรงไฟฟ้ามินบู ที่เมียนมา กำลังการผลิตติดตั้ง 220 เมกกะวัตต์ ภายหลังจากการจำหน่ายไฟฟ้าโครงการเฟสที่ 1 ขนาด 50 เมกะวัตต์ ก็รับรู้รายได้แล้ว และเฟส 2 อีก 50 เมกกะวัตต์จะสร้างเสร็จในปลายปีนี้ และปีหน้าอีก 2 เฟสที่เหลือ จะแล้วเสร็จ ตามแผนครบ 220 เมกะวัตต์ ซึ่งที่ผ่านมาโครงการในเมียนมา ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รัฐประหารแต่อย่างใด บริษัทยังคงได้รับรายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าตรงเวลาและต่อเนื่อง เนื่องจากธุรกิจไฟฟ้าเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สำคัญของเมียนมา

รวมถึง ธุรกิจ Solar Rooftop ซึ่งบริษัทดำเนินการในรูปแบบโครงการซื้อขายไฟฟ้าภาคเอกชน (Private PPA) ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทลูกคือ บริษัท สแกน แอดวานซ์ เพาเวอร์ จำกัด (SAP) ที่ปัจจุบัน สามารถจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ไปแล้วรวม 21 โครงการ และหากปิดดีล M&A ที่อยู่ระหว่างเจรจา ขนาดกำลังการผลิต 4 เมกะวัตต์ได้ ก็จะทำให้สิ้นปีนี้ มีกำลังการผลิตรวมเพิ่มเป็น 25 เมกะวัตต์ ซึ่งมั่นใจว่ากำลังผลิตจะเติบโตไปแตะระดับ 110 เมกะวัตต์ ภายในปี 2567 ตามแผน โดยธุรกิจนี้สามารถสร้างผลกำไรได้เกินคาด และมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าของภาครัฐประมาณ 30-40% ในปีนี้ ซึ่งจะเริ่มรับรู้กำไรตั้งแต่ไตรมาส 3ปีนี้ และมีกำไรเพิ่มขึ้นมาในไตรมาส 4 ขณะที่ค่าไฟฟ้ายังมีแนวโน้มแพงขึ้นในปีหน้า จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ภาคธุรกิจหันมาติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้น เช่น กลุ่มโรงงานฯ ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล เป็นต้น เพราะจะได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าประมาณ 15-20%

อย่างไรก็ตาม การเติบโตของ SAP ที่จะบรรลุเป้าหมาย 110 เมกะวัตต์นั้นจะมาจากการทำดีล M&A เป็นหลัก โดยบริษัทมีแผนจะนำ SAP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งขณะนี้ได้มีที่ปรึกษาทางการเงินไว้แล้ว และมีแผนจะยื่นแบบคำขอเพื่อเสนอขายหลักทรัพย์ (Filing) ในปีหน้า เพื่อสร้างความแข้งแกร่งทางการเงิน และเสริมศักยภาพการต้นทุนการแข่งขันให้กับธุรกิจต่อไป

นายฤทธี กล่าวอีกว่า ภาพรวมการเติบโตของบริษัท ในปี 2568 จะมีบทบาทของธุรกิจ โดยแบ่งสัดส่วนการเติบโตในพอร์ตฟอลิโอ ดังนี้ ธุรกิจก๊าซฯ 30% ธุรกิจโซลาร์ฯ 30% ธุรกิจออโตโมทีฟ 30% ธุรกิจขนส่ง และอื่นๆ เช่น กัญชง ประมาณ 10% ซึ่งจะเห็นไว้ว่า บริษัทได้ลงทุนในธุรกิจที่กระจายความเสี่ยง แม้ธุรกิจไฟฟ้าที่เมียนมาจะถูกมองว่า เป็นธุรกิจที่ความเสี่ยงจากปัญหาภายในประเทศของเมียนมา แต่ขณะเดียวกัน บริษัทก็มีการลงทุนในธุรกิจที่มีความมั่นคงกับภาครัฐในประเทศ คือ ธุรกิจซ่อมบำรุงรถเมย์ NGV ของ ขสมก. ถือได้ว่าเป็นบาลานซ์ความเสี่ยงทางธุรกิจไว้รองรับแล้ว อีกทั้งยังมองหาโอกาสขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆเพิ่มเติมด้วย

ขณะเดียวกัน บริษัทยังมีแผนเข้าร่วมประมูลโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนของภาครัฐ โดยมีความพร้อมด้านพื้นที่สำหรับเตรียมลงทุนโซลาร์ฟาร์ม กำลังการผลิตราว 30-40 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทมีความสนใจโซลาร์ฟาร์มล้วน เพราะโครงการนี้ได้ FiT อยู่ที่ 2.10 บาทต่อหน่วย มี IRR อยู่ที่ระดับ 6-7% ไม่รวมค่าซื้อที่ดิน ดังนั้นหากมีที่ดินอยู่แล้วก็สามารถเข้าลงทุนได้ แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องรอดูเงื่อนไขการเปิดรับซื้อไฟฟ้าที่ชัดเจนก่อน