SCGลุยขยายฐานยุโรปมุ่งเจาะตลาดรีไซเคิล

ผู้ชมทั้งหมด 1,490 

SCG ขอประเมินผลงานไตรมาส 2/64 ก่อนปรับเป้ายอดขายปีนี้ หวังเศรษฐกิจโลกฟื้นหนุนการเติบโต ส่วนแผนดัน SCG Chemicals เข้าตลาดคาดชัดเจนภายในปี 65 ขณะที่การซื้อหุ้น “ซีพลาสต์” ในโปรตุเกสคาดแล้วเสร็จปีนี้ หวังเป็นช่องทางขยายตลาดในยุโรป

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCG) เปิดเผยว่า ผลประกอบการในช่วงไตรมาส 1/2564 บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 122,066 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 จากไตรมาสก่อน จากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของทุกกลุ่มธุรกิจ และมีกำไรสำหรับงวด 14,914 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 85 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากทุกกลุ่มธุรกิจ โดยธุรกิจเคมิคอลส์มีปริมาณขายเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการหยุดซ่อมบำรุงของโรงงานมาบตาพุดโอเลฟินส์ (MOC) ในไตรมาสก่อน การเริ่มผลิตของโรงงานมาบตาพุดโอเลฟินส์ เฟส 2 (MOC Debottleneck) และอุปสงค์ทั่วโลกปรับตัวดีขึ้น

ประกอบกับส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างดีขึ้นจากปัจจัยตามฤดูกาล ด้านธุรกิจแพคเกจจิ้งมีการขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ปลายน้ำ (Downstream) ในภูมิภาคอาเซียนให้เติบโตยิ่งขึ้น และกระจายฐานลูกค้าในหลากหลายอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันในไตรมาส 1/2564 ยอดขายยังเติบโตเกินเป้าหมายของปี 2564 ที่ได้ตั้งเป้าหมายการเติบโตเพิ่มขึ้น 5-10% ซึ่งบริษัทฯ จะมีการปรับเป้าหมายใหม่หรือไม่นั้นก็ต้องดูผลประกอบการของไตรมาส 2/2564 ก่อนว่าจะเป็นอย่างไร

หากประเมินแนวโน้วเศรษฐกิจโลกในปีนี้ก็เชื่อว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ยุโรป ที่มีการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 เป็นจำนวนมากแล้ว และได้ผ่อนคลายล็อกดาวน์ จึงทำให้เห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน ส่วนประประเทศจีนมีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์แพร่ระบาดระลอกใหม่ในหลายประเทศเช่นกัน โดยเฉพาะในประเทศไทยว่าจะเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ตามสถานการณ์การแพร่ระบาดยังมีความไม่แน่นอนสูง ดังนั้นในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 SCG จึงเตรียมความพร้อมด้วยการปรับตัวให้มีความยืดหยุ่น (Resiliency) เช่น เพิ่มสัดส่วนการขายนวัตกรรมสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (HVA) ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและการบริหารจัดการต้นทุน โดยยังคงรักษาความปลอดภัยด้วยการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด 19 อย่างเคร่งครัด ทั้งกับพนักงาน ลูกค้า และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดกระบวนการทำงาน เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจ ส่งมอบสินค้า บริการ และโซลูชันครบวงจรต่าง ๆ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง (Business Continuity Management
หรือ BCM)

นายรุ่งโรจน์ กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการขยายกำลังการผลิตของโรงงาน MOC Debottleneck ที่มาบตาพุด ว่า เป็นการร่วมทุนระหว่าง SCG Chemicals และบริษัทในกลุ่ม The Dow Chemical Company (Dow) ประเทศสหรัฐอเมริกาดำเนินโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จเร็วกว่าแผนและเริ่มทดลองดำเนินการผลิตแล้ว คาดว่าจะผลิตได้เต็มกำลังภายในเดือนพฤษภาคม 2564 จะทำให้มีกำลังการผลิตโอเลฟินส์เพิ่มขึ้น 350,000 ตันต่อปี ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย ทำให้กระบวนการผลิตมีต้นทุนการลงทุนที่ต่ำลง และยังทำให้ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Process) และจะเป็นปัจจัยหนุนต่อผลประกอบการในปีนี้ได้อย่างมีนัยสำคัญ

ส่วนของโครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ที่เวียดนามคืบหน้าตามแผนร้อยละ 76 โดยจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในครึ่งปีแรกของปี 2566 นอกจากนี้ SCG อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการปรับโครงสร้างธุรกิจเคมิคอลส์ รวมถึงการเสนอขายหุ้น SCG Chemicals ต่อประชาชนทั่วไป เพื่อรองรับโอกาสในการขยายธุรกิจเคมิคอลส์ในอนาคต เช่น ความเป็นไปได้ในการขยายกำลังการผลิตในภูมิภาคอาเซียน และการลงทุนอื่น ๆ ซึ่งคาดว่าการศึกษาและการปรับโครงสร้างดังกล่าวจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2565

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังลงทุนในธุรกิจที่ตลาดมีการเติบโตสูง โดยให้ SCG Chemicals ได้ลงนามในสัญญาซื้อหุ้นผ่าน SCG Chemicals Trading (Singapore) Pte,Ltd. เพื่อเข้าถือหุ้นในสัดส่วน 70% ในบริษัท ซีพลาสต์ (Sirplaste) ผู้ประกอบธุรกิจและผู้นำด้านพลาสติกรีไซเคิลในประเทศโปรตุเกส ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ของ SCG เพื่อส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน และยังสามารถนำความได้เปรียบนี้ไปพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีรีไซเคิลในภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งขยายช่องทางการขายในตลาดยุโรปได้ โดยคาดว่าธุรกรรมจะเสร็จสิ้นภายในปี 2564