RATCH ทุ่ม 1.5 หมื่นลบ.ลงทุนปี 67 หนุน EBITDA โตกว่า 5%

ผู้ชมทั้งหมด 795 

“ราช กรุ๊ป” ตั้งงบลงทุนปี 2567 อยู่ที่ 15,000 ล้านบาท ลุยพัฒนาโครงการในมือ พร้อมเล็งปิดดีล M&A ธุรกิจไฟฟ้าในต่างประเทศ ดันกำลังผลิตใหม่เข้าพอร์ตไม่ต่ำกว่า 700 เมกะวัตต์ เพิ่มสัดส่วนผลิตพลังงานหมุนเวียนแตะ 33-35% หนุน EBITDA เติบโต 5% แย้มสิ้นปีนี้ จ่อปิดดีลใหม่ 2 โครงการ

นางสาวชูศรี เกียรติขจรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH เปิดเผยว่า บริษัท ตั้งงบลงทุนปี 2567 อยู่ที่ระดับ 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนาราว 8,000 ล้านบาท และใช้ลงทุนในโครงการใหม่รวมถึงแผนการควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ(M&A) ราว 7,000 ล้านบาท ซึ่งบริษัทมีแผนขยายการลงทุนโครงการใหม่และการทำดีล M&A ในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทวางเป้ามีกำลังการผลิตใหม่ในปีหน้าอีกกว่า 700 เมกะวัตต์ จากการขยายการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้ากรีนฟิลด์ในออสเตรเลีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนแตะ 33-35% ในปีหน้า จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 27% รวมถึงยังมีแผนขยายธุรกิจอื่น ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน และเฮลธ์แคร์ เพื่อผลักดันรายได้ และ EBITDA ให้เติบโต

ปี 2567 บริษัทตั้งเป้า EBITDA เติบโตไม่ต่ำกว่า 5% จากปีนี้ คาดว่าจะมี EBITDA อยู่ที่ราว 1.2 หมื่นล้านบาท ตามการรับรู้รายได้และกำไรจากการลงทุนที่เข้ามาเพิ่มขึ้น อีกทั้งบริษัทยังการทำดีลM&A เพื่อให้รับรู้รายได้เข้ามาทันที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเน้นโครงการพลังงานทดแทนในต่างประเทศ การลงทุนธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน และเฮลธ์แคร์”

โดยปี 2567 บริษัท จะมีกำลังการผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่มขึ้น 459.06 เมกะวัตต์ (MW) จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหินกอง ชุดที่ 1 กำลังผลิตตามสัดส่วนลงทุน 392.70 เมกะวัตต์ มีกำหนด COD ในเดือนมี.ค.2567 ปัจจุบัน ได้ดำเนินการจัดหาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเหลว ผ่านทางบริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งได้ลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว ระยะเวลา 3 ปี กับบริษัท Gunvor Singapore Pte. Ltd. โดยจะมีการส่งมอบในปริมาณปีละ 0.5 ล้านตัน และการส่งมอบครั้งแรกจะดำเนินการในเดือน มี.ค.2567, โครงการโรงไฟฟ้าอาร์อีเอ็น กำลังผลิตติดตั้ง 31.2 MW มีกำหนด COD เดือนม.ค.2567, โครงการโรงไฟฟ้าสหโคเจนใหม่ กำลังผลิต 79.5 MW คาด COD เดือน เม.ย.2567 , โครงการโรงผลิตไฟฟ้านวนคร ส่วนขยายระยะที่ 3 กำลังผลิตติดตั้ง 30 MW คาด COD เดือน ธ.ค.2567        

ปัจจุบัน บริษัทศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโรงไฟฟ้าใหม่และพัฒนาโครงการที่มีอยู่ในพอร์ตการลงทุน ซึ่งดำเนินการแล้วกว่า 10 โครงการ นอกจากนี้ ยังเน้นการบริหารโครงการโรงไฟฟ้าที่กำลังก่อสร้างให้แล้วเสร็จ และเดินเครื่องได้ทันกำหนดเวลาตามที่สัญญาระบุไว้ โดยช่วงปี 2567 -2576 จะมีกำลังผลิตตามสัดส่วนลงทุนทยอยCOD รวม 2,918.23 เมกะวัตต์

สำหรับความคืบหน้าแผนขยายการลงทุนในต่างประเทศนั้น ในส่วนของประเทศออสเตรเลีย ถือเป็นฐานธุรกิจด้านพลังงานทดแทนที่สำคัญ โดยมีบริษัท ราช-ออสเตรเลีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาและลงทุน บริษัทเล็งเห็นศักยภาพและโอกาสที่จะขยายการลงทุนด้านพลังงานทดแทนและการพัฒนาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเสริมความเชื่อถือและความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในช่วงที่ออสเตรเลียกำลังจะเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่เป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593

บริษัทศึกษาเพื่อพัฒนาโครงการที่จะสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านพลังงานสะอาดและความมั่นคงระบบไฟฟ้าของออสเตรเลีย ซึ่งถือเป็นธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพมาก โดยมีแนวคิดยกระดับสินทรัพย์โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเพื่อให้บริการผลิตไฟฟ้าเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาและคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็ว ๆ นี้

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ 152 เมกะวัตต์ ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน 81 เมกะวัตต์ ในรัฐนิวส์เซาท์เวลส์ ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการพลังงานลมขนาดใหญ่ ประมาณ 120 เมกะวัตต์ ในรัฐควีนส์แลนด์ ตลอดจนการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานขนาด 100 เมกะวัตต์ เพื่อกักเก็บพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งผลิตพลังงานทดแทนและจำหน่ายผ่านระบบสายส่ง

ส่วนเวียดนาม บริษัทได้ศึกษาศักยภาพและโอกาสการลงทุนจากจากแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 8 ของรัฐบาลเวียดนาม  ซึ่งมีเป้าหมายที่จะเพิ่มกำลังการผลิตถึง 150 กิกะวัตต์ โดย 40% จะเป็นพลังงานทดแทน ปัจจุบัน บริษัทดำเนินการผ่านบริษัทร่วมทุนในการขยายฐานธุรกิจ โดยศึกษาและพัฒนาโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม อีกทั้งยังมีแผนที่จะเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการแล้วเช่นกัน

และในฟิลิปปินส์ บริษัทมุ่งเน้นการพัฒนาโครงการที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ โครงการพลังงานแสงอาทิตย์เนโกรส คาดว่าจะก่อสร้างได้ในปี 67 โครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งในอ่าวซานมิเกล และโครงการพลังงานลมนอกชายฝั่งลูเซียน่า บนเกาะลูซอน คาดว่าจะเข้าสู่ขั้นตอนก่อสร้างได้ในปี 68

“ปัจจุบัน สถานะการเงินของบริษัท อยู่ในระดับแข็งแกร่ง และปี2567 ยังมีแผนออกหุ้นกู้เพิ่มเติม หลังจากก่อนหน้านี้ บอร์ดบริษัท ได้อนุมัติแผนระดมทุนวงเงิน 15,000 ล้านบาท ซึ่งได้มีการออกหุ้นกู้ไปแล้ว 8,000 ล้านบาท ฉะนั้นยังเหลือวงเงินที่จะออกหุ้นกู้ได้อีก 7,000 ล้านบาท”

นางสาวชูศรี กล่าวอีกว่า ช่วงสิ้นปี 2566 บริษัท คาดหวังจะสามารถปิดดีลลงทุนใน 2 โครงการ ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน และ Non-Power ซึ่งจะสนับสนุนรายได้ที่เกิดจากการ M&A เพิ่มขึ้นมากกว่า 2-3 พันล้านบาท แต่หากไม่สามารถปิดดีลดังกล่าวได้ในปีนี้ ก็คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในไตรมาส 1 ปี 2567

ส่วนนโยบายของภาครัฐที่ต้องการดูแลอัตราค่าไฟฟ้าเพื่อลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนนั้น บริษัทมองว่าการจัดสรรงบกลางเพื่อนำมาดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม ส่วนอัตราค่าไฟฟ้าที่ลดลงในภาครวมนั้น จะมีผลกระทบต่อการจำน่ายไฟฟ้าให้กับกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม(IU) ซึ่งมีสัดส่วนไม่ถึง 20% ขณะเดียวกันในปี2567 ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ มีแนวโน้มลดลงจากปีนี้ จากการเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯในแหล่งเอราวัณที่จะเพิ่มขึ้นมาแตะระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในเดือนเม.ย.2567 แต่อย่างไรก็ตาม มองว่า ภาครัฐก็ควรเปิดการพัฒนาแหล่งก๊าซฯใหม่เพิ่มเติม เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน โดยเฉพาะการเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา (OCA)  ซึ่งหากเกิดขึ้นได้ก็จะเป็นผลดีต่อทั้ง 2 ประเทศ