ผู้ชมทั้งหมด 1,235
RATCH เร่งปิดดีลซื้อกิจการโรงไฟฟ้า 350 เมกะวัตต์ คาดเริ่มเห็นดีลใหม่ไตรมาส2นี้ มั่นใจได้กำลังการผลิตใหม่ตามเป้า 700 เมกะวัตต์ ส่งผลให้กำลังการผลิตในมือสิ้นปี 64 เพิ่มเป็น 8,874 เมกะวัตต์ พร้อมเตรียมลงนามพันธมิตรญี่ปุ่นลงทุนธุรกิจเชื้อเพลิงชีวมวลในสปป.ลาว กำลังการผลิต 1 แสนตัน
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH กล่าวว่า บริษัทฯ มั่นใจว่าจะสามารถลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าใหม่เข้ามาเพิ่มได้ตามเป้าหมายในปี 2564 ที่ตั้งเป้ามีกำลังการผลิตเข้ามาเพิ่มอีก 700 เมกะวัตต์ ซึ่งแบ่งเป็นโครงการที่เริ่มลงทุนใหม่ (กรีนฟิล) 350 เมกะวัตต์ และเป็นโครงการที่ซื้อกิจการ (M&A) 350 เมกะวัตต์ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาอยู่หลายโครงการทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งมีทั้งโครงการที่เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลและพลังงานทดแทน โดยเตรียมเงินลงทุนไว้สำหรับโครงการใหม่ราว 7,000 ล้านบาท จากงบลงทุนรวม 15,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นการลงทุนพัฒนาโครงการที่มีอยู่เดิม
ส่วนผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 2/2564 ก็คาดว่าจะเติบโตได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากว่าจะเริ่มเห็นการทยอยปิดดีลซื้อกิจการเข้ามาในไตรมาสที่ 2 นี้หากไม่ติดปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้แล้วในไตรมาส 2/2564 ไม่มีแผนหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าเหมือนกับช่วงไตรมาส 1/2564 ประกอบกับบริษัทได้ดำเนินการลดต้นทุนการผลิต และการเพิ่มประสิทธิในการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องที่จะเป็นปัจจัยหนุนการเติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้หากการลงทุนใหม่เป็นไปตามแผนก็จะส่งผลให้มีกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนปีนี้จะเพิ่มขึ้นถึง 8,874 เมกะวัตต์ และมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่มขึ้นเป็น 7,565 เมกะวัตต์ ซึ่งรวมกับกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้า 4 โครงการกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 537.04 เมกะวัตต์เริ่ม COD ในปีนี้ ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานลมยานดิน ในออสเตรเลียกำลังการผลิต 214.2 เมกะวัตต์ (บริษัทฯ ถือหุ้นร้อยละ 70) โรงไฟฟ้าพลังงานลมคอลเล็กเตอร์ ในออสเตรเลีย กำลังการผลิต 226.8 เมกะวัตต์ (บริษัทฯ ถือหุ้นทั้งหมด) โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเรียว ในอินโดนีเซีย กำลังการผลิต 296.23 เมกะวัตต์ (บริษัทฯ ถือหุ้นร้อยละ 49) และโรงไฟฟ้าพลังงานลม Ecowin ในเวียดนาม กำลังการผลิต 29.7 เมกะวัตต์ (บริษัทฯ ถือหุ้นร้อยละ 51) บริษัทฯ คาดหวังว่า ทั้ง 4 โครงการนี้จะช่วยเสริมหนุนรายได้ของบริษัทฯ ในปีนี้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามการขยายลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยนั้น RATCH ล่าสุดก็ได้เข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก(โครงการนำร่อง) ที่อยู่ระหว่างการประมูลในขณะนี้ โดยบริษัทฯ ยื่นประมูลทั้งหมด 6 โครงการกำลังการผลิตรวม 18 เมกะวัตต์ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ เนื่องจากบริษัทฯ มีโรงไฟฟ้าตั้งตั้งอยู่ในภาคใต้อยู่แล้ว และมีความสามารถในการจัดหาเชื้อเพลิงได้ อีกทั้งการลงทุนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังได้อัตราราคารับซื้อไฟฟ้าพรีเมียมเพิ่มอีก 50 สตางค์ต่อหน่วยด้วย
ส่วนแผนขยายการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภคนั้นบริษัทฯ ได้ให้ความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนใสนธุรกิจที่เกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพ และมองหาโอกาสเข้าไปลงทุนในธุรกิจติดตั้งระบบไฟเบอร์ออฟติก โครงการรถไฟฟ้า และในโครงมอเตอร์เวย์ เพิ่มเติม นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเตรียมร่วมลงนามในสัญญางานติดตั้งระบบบริการจัดเก็บค่าผ่านทางและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance : O&M) ซึ่งทางกรมทางหลวง (ทล.) คาดว่าจะสามารถลงนามได้ภายในเดือน มิถุนายน 2564
ขณะที่ความคืบหน้าโครงการลงทุนผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งในแขวงจำปาสัก สปป.ลาว นั้นเตรียมลงนามสัญญากับพันธมิตรญี่ปุ่น เพื่อร่วมลงทุนในโครงการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง และลงนามซื้อขายชีวมวลอัดแท่งในไตรมาส 2/2564 และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงงานผลิตชีวมวลอัดแท่งได้ในไตรมาส 3/2564 โดยในระยะแรกจะมีกำลังการผลิต 100,000 ตันต่อปี และจะดำเนินการปลูกพืชโตเร็วบนพื้นที่ 20,000 ไร่ อย่างไรก็จากศัยภาพของพื้นที่ที่มีอยู่อีก 20,000 ไร่นั้นสามารถขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 100,000 ตันต่อปี
สำหรับฐานะการเงินของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 มีสินทรัพย์รวมจำนวน 116,915.01 ล้านบาท หนี้สินรวมจำนวน 51,951.36 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นจำนวน 64,963.65 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทฯ ยังมีศักยภาพทางการเงินที่แข็งแกร่งสะท้อนจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน 0.54 เท่า อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (DSCR) 4 เท่า และอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้นร้อยละ 9.39