ผู้ชมทั้งหมด 828
PTTEP หนุนรัฐเปิดประมูลปิโตรเลียมบนบกพื้นที่ภาคอีสาน เสริมความมั่นคงพลังงาน ขณะที่ประมูลรอบที่ 24 เข้าชิง 2 แหล่ง ประกาศผล ก.พ. 66 ด้านกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติหวังประมูลรอบ 25 ปีนี้ พร้อมเตรียเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาใน 2 เดือนข้างหน้า
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เปิดเผยว่า เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งปัจจุบันมีแหล่งขุดเจาะ และผลิตก๊าซธรรมชาติแหล่งสินภูฮ่อม จ.อุดรธานี กำลังผลิตราว 90 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ใกล้จะหมดอายุสัมปทานในอีก 8 ปีข้างหน้า จึงสนับสนุนให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 25 แหล่งบนบกที่อยู่ใกล้เคียงแหล่งสินภูฮ่อม โดยเป็นพื้นที่มีศักยภาพในการผลิตก๊าซธรรมชาติ สามารถป้อนโรงไฟฟ้าน้ำพอง ผลิตไฟฟ้ารองรับความต้องการของประชาชนได้เป็นอย่างดี
ขณะที่การเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 24 บริเวณทะเลอ่าวไทย จำนวน 3 แปลง ประกอบด้วย แปลง G1/65 G2/65 และ G3/65 นั้นทาง PTTEP ได้ยื่นขอสิทธิสำรวจ 2 แปลง ซึ่งเป็นแปลงที่มีศักยภาพและอยู่ใกล้กับแท่นผลิตของ PTTEP ในปัจจุบัน คาดว่าจะทราบผลการประมูลในเดือน ก.พ. 2566 โดยหลังจากประกาศผล หาก PTTEP ได้สิทธิก็คาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 ปีในการสำรวจจะทำให้ทราบว่ามีปริมาณแก๊สเท่าไหร่ และสามารถเริ่มการผลิตได้ ซึ่งใช้เวลาเร็วขึ้นกว่าเมื่อก่อนที่ต้องใช้ระยะเวลาราว 6-10 ปีกว่าจะเริ่มผลิตได้ เนื่องจากในปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการสำรวจ
ส่วนพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (Overlapping Claimed Area-OCA) นั้น PTTEP สนับสนุนให้ภาครัฐเร่งการเจรจากับกัมพูชาด้วยวิธีอะไรก็ขึ้นอยู่กับภาครัฐ แต่ PTTEP มีแท่นเจาะปิโตรเลียมที่อยู่ใกล้พื้นที่ทับซ้อน ถ้ารัฐอยากจะเร่งผลิตก๊าซธรรมชาติ เพื่อชดเชยก๊าซฯ ที่หายไป PTTEP ก็มีความพร้อมในการรองรับด้านการสำรวจและผลิต
ด้าน นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า การประกาศพื้นที่แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยสำหรับการให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 24 จำนวน 3 แปลง ประกอบด้วย แปลง G1/65 G2/65 และ G3/65 นั้นมีผู้ยื่นเสนอ 2 ราย ในขณะนี้ขึ้นตอนการพิจารณาได้เร่งดำเนินการและจะประกาศรายชื่อผู้ได้รับสิทธิ ใน เดือน ก.พ. นี้
นอกจากนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เตรียมจะหารือ และเร่งพิจารณาขีดเส้น แบ่งแปลงที่จะเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 25 ในพื้นที่บนบกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้ยื่นสิทธิ์สำรวจได้ภายในปี 2566
อย่างไรก็ตามพื้นที่บนบกนั้นได้หารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่าจะวางแนวทางอย่างไร หากเปิดสำรวจไปแล้ว พื้นที่ปิโตรเลียมเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นอนุรักษ์ป่าไม้ และพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) พื้นที่เหล่านี้จะดำเนินการอย่างไร ดังนั้นการประกาศรอบที่ 25 อาจจะเลือกพื้นที่ที่ไม่มีปัญหามาเปิดให้ยื่นสิทธิ์ก่อน เพื่อให้ประเทศไทยมีทรัพยากรมาบริหารจัดการ ช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และลดผลกระทบจากการนำเข้าพลังงานที่มีราคาสูง
ทั้งนี้จากสถานการณ์ราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมแพงขึ้นมีผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้านั้นทางกระทรวงพลังงานยังได้เร่งหารือร่วมกับกระทรวงต่างประเทศ และรัฐบาล ในการเจรจากับกัมพูชา เพื่อพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนไทย – กัมพูชา (OCA) โดยคาดว่า จะมีการหารือร่วมระหว่างคณะทำงานของ 2 ประเทศใน 2 เดือนข้างหน้านี้ เพื่อที่ร่วมกำหนดแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ปิโตรเลียม ให้เกิดประโยชน์ต่อ 2 ประเทศ
โดยเมื่อเร็วๆนี้ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานการเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อน ไทย-กัมพูชา ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือน ธ.ค. 2565 ทางฝ่ายไทยได้มีการหารือกับ นายซุย แซม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานกัมพูชา เพื่อพัฒนาพื้นที่ทับซ้อน ไทย-กัมพูชา โดยใช้โครงสร้างของ คณะกรรมการร่วม (Joint Committee : JC) ระหว่างไทย -กัมพูชา