PTTEP ลดคาดการณ์ปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยปี 67 เหลือ 501 แสนบาร์เรลฯ

ผู้ชมทั้งหมด 226 

ปตท.สผ. ปรับคาดการณ์ปริมาณการขายปิโตรเลียม เฉลี่ยทั้งปี 2567 เหลือ 501,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ตามทิศทางเศรษฐกิจชะลอตัว ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติ เฉลี่ยอยู่ที่ 5.9 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู มองราคาน้ำมันดิบครึ่งปีหลังอ่อนตัว ขณะที่เฉลี่ยทั้งปีอยู่ในกรอบ 80-85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

นางสาวพรรณพร ศาสนนันทน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงิน บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.(PTTEP) เปิดเผยในงาน Oppday Q2/2024 PTTEP วันที่ 7 ส.ค.2567 โดยระบุว่า แนวโน้มการลงทุนของบริษัทในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 บริษัท คาดการณ์ทิศทางการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ จะมีปริมาณการขายปิโตรเลียม จะอยู่ที่ 484,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ลดลงจากไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เนื่องจากมีการปิดซ่อมบำรุงโครงการฯในอ่าวไทยตามแผนการดำเนินงานของบริษัท ขณะที่ทั้งปี 2567 จะมีปริมาณการขายปิโตรเลียม จะอยู่ที่ 501,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ซึ่งปรับลดลงจากคาดการณ์เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ที่มองว่า จะมีปริมาณการขายปิโตรเลียม จะอยู่ที่ 509,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน โดยเป็นการประเมินจากความต้องการใช้ก๊าซฯของลูกค้า ที่ลดลงสอดรับการทิศทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเล็กน้อย

ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติ ไตรมาส 3 และเฉลี่ยทั้งปี 2567 ยังอยู่ที่ 5.9 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และมีต้นทุนต่อหน่วย(Unit Cost) เฉลี่ยอยู่ที่ 28-29 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และ EBITDA Margin จะอยู่ที่ระดับ 70-75%

“ช่วงครึ่งหลังของปี2567  ทาง IEA ได้ปรับลดคาดการณ์การใช้น้ำมันของโลกลงเหลือ 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกโตช้าลง ทำให้ ปตท.สผ.คาดว่า ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยครึ่งปีหลังจะอยู่ที่ 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลงจากครึ่งปีแรก แต่เฉลี่ยทั้งปี จะอยู่ที่ 80-85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงทั้งสภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจโลก, นโยบายลดกำลังการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจของโอเปกพลัส,มาตรการตอบโต้กลับของอิหร่านว่าจะส่งผลให้เกิดซัพพลายซ็อกในตลาดหรือไม่ และผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจและนโยบายพลังงานในอนาคต ขณะที่ราคาก๊าซLNG จะเข้าสู่สมดุลในปีนี้มากขึ้น และราคาครึ่งปีหลังจะไม่ปรับสูงขึ้นมากเท่ากับช่วง 2ปีก่อน โดยคาดการณ์ราคาก๊าซฯ เฉลี่ยทั้งปีนี้ จะอยู่ที่ 9-13 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู

สำหรับแผนการลงทุนในช่วง 5 ปี ข้างหน้า ปตท.สผ. ยังเดินหน้าเพิ่มปริมาณการผลิตปิโตรเลียม โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มพอร์ตการลงทุนในต่างประเทศให้มีสัดส่วนการผลิต อยู่ที่ระดับ 42% จากปัจจุบัน มีสัดส่วนการผลิต ในประเทศอยู่ที่ 76% และต่างประเทศอยู่ที่ 24% จากการเข้าไปลงทุนใน 12 ประเทศ กว่า 50 โครงการทั่วโลก ขณะเดียวกัน ปตท.สผ.ได้ตั้งงบลงทุนสำหรับขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ ใน 5 ปีข้างหน้า ที่สัดส่วน 10% ของงบลงทุนรวม

ทั้งนี้ ปตท.สผ. มองว่า การลงทุนของบริษัท ยังมีโอกาสเติบโตเฉลี่ยปีละ 3-5% ตามการคาดการณ์ของโลก ที่มองว่า ความต้องการใช้พลังงานจะยังเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 3-5% ไปจนถึงปี 2573

ส่วนความคืบหน้า โครงการยาดานา ในเมียนมา ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาฯ ลงในปี 2571 นั้น บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อขอต่อสัญญาการผลิตออกไป และยังมีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนรักษากำลังการผลิตก๊าซฯเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน ดังนั้น ปตท.สผ.จึงเตรียมงบประมาณราว 40-50 ล้านดอลาร์ต่อปี ใช้สำหรับลงทุนในช่วงปี 2568-2569   

ขณะที่ โครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน ซึ่งตั้งอยู่นอกชายฝั่งของประเทศโมซัมบิก ปัจจุบัน ทางผู้ดำเนินโครงการฯ ขอเวลาอีก 2-3 เดือน ในการประเมินแผนเพื่อเตรียมการกลับเข้าพื้นที่ เพื่อไปดำเนินการก่อสร้างโครงการภายในปีนี้ และคาดว่า จะสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)เชิงพาณิชย์ครั้งแรกได้ในช่วงปี 2571-2572