PTTEP มั่นใจแหล่งเอราวัณผลิตก๊าซฯแตะ 800 ล.ลูกบาศก์ฟุตต่อวันเม.ย.ปี67  

ผู้ชมทั้งหมด 520 

ปตท.สผมั่นใจเดือน เม..67 แหล่งเอราวัณ ผลิตก๊าซฯได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตามเงื่อนไข PSC หวังรัฐเร่งเปิดประมูลปิโตรเลียมฯภาคอีสานเพิ่ม พร้อมคงเป้าปริมาณการขายปิโตรเลียมปี66 ระดับ 4.7 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ลั่นเร่งเครื่องผลิตในอ่าวไทยและโครงการต่างประเทศเต็มที่

เมื่อวันที่ 24 เม.ย.2565 ถือเป็นจุดเริ่มต้นเปลี่ยนผ่านระบบสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ครั้งสำคัญของประเทศไทยจากเดิมใช้ระบบสัญญาสัมปทานมากว่า 30 ปี ไปสู่การใช้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) และที่สำคัญยังเป็นการเปลี่ยนผ่านการบริหารงานในแหล่ง G1/61 (เอราวัณ) กลับคืนสู่มือคนไทย ภายใต้การดำเนินงานของกลุ่ม ปตท.สผ. ซึ่งตามเงื่อนไขสัญญา PSC กำหนดให้แหล่ง G1/61 ต้องมีกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติ ไม่ต่ำกว่า800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ในช่วงที่ ปตท.สผ.เข้าไปสานต่อการดำเนินงานกลับมีกำลังการผลิตก๊าซฯ อยู่ที่ราว200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เนื่องจากเกิดปัญหาเข้าพื้นที่ล่าช้าไปจากแผนประมาณ 2 ปี แต่ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มิ.ย.2566 ปตท.สผ.สามารถเร่งกำลังการผลิตก๊าซฯ ขึ้นมาแตะระดับ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้แล้ว

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือPTTEP มั่นใจว่า ในเดือน เม.ย.2567 ปตท.สผ.จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯจากแหล่ง G1/61 อยู่ที่ระดับ800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้อย่างแน่นอน และจะผลิตต่อเนื่องในระดับนี้ไปตลอด 10 ปี ตามเงื่อนไขสัญญา PSC ขณะเดียวกัน ปตท.สผ.ได้เพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯจากแหล่งอื่นในอาจไทยเต็มที่ เพื่อมาชดเชยกำลังการผลิตก๊าซฯจากแหล่ง G1/61 โดยแหล่งอาทิตย์ นับว่าเป็นพระเอกสำหรับการผลิตก๊าซฯในปีนี้ จากเดิมมีสัญญาซื้อขายก๊าซฯ อยู่ที่ 280 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ปัจจุบัน ผลิตอยู่ที่ 340 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนแหล่ง G2/61(บงกช) มีสัญญาซื้อขายก๊าซฯปีนี้อยู่ที่ 825 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งนับเป็นการผลิตที่สูงกว่าเงื่อนไขสัญญาPSC กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่า700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และปัจจุบันผลิตได้สูงถึง 860 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

“ปตท.สผ.เรายังคงเป้าปริมาณการขายปิโตรเลียมทั้งปีนี้ อยู่ที่ 470,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ซึ่งก็ท้าทาย แต่โดยธรรมชาติไตรมาส 4 จะเป็นช่วงที่ผลิตสูงอยู่แล้ว โดยแหล่งอื่นๆในอ่าวไทยก็เร่งเต็มที่แล้ว ที่เหลือก็ต้องไปเร่งจากโครงการต่างประเทศแทน เช่น โครงการ Oman Block 61 และโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคชที่มีอัตราผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ย 13,000 บาร์เรลต่อวัน และอยู่ระหว่างการดำเนินการเพิ่ม กำลังการผลิตไปที่อัตราเฉลี่ย17,000 บาร์เรลต่อวันในช่วงไตรมาส 4ปีนี้ ฉะนั้นวันนี้ปริมาณการขายฯรวมที่ 464,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เราทำได้แน่นอน”

นายมนตรี กล่าวอีกว่า อยากให้ประเทศไทยเร่งออกประกาศยื่นสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมบนบกในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งปัจจุบัน ปตท.สผ.มีการลงทุนในแหล่งสินภูฮ่อม เพื่อผลิตก๊าซฯ ปริมาณ 90 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าน้ำพองของ กฟผ.ผลิตไฟฟ้าราว 600 เมกะวัตต์ โดยแหล่งสินภูฮ่อม จะสิ้นสุดสัมปทานในปี 2575 ขณะเดียวกัน ปตท.สผ.มองว่า พื้นที่ภาคอีสาน มีศักยภาพที่จะผลิตก๊าซฯได้ และตามปัจจุบัน กรมเชื้อเพลิงฯ ได้กำหนดเขตพื้นที่แปลงสัมปทานในภาคอีสานไว้แล้ว 8 แปลง ซึ่งเบื้องต้นเชื่อว่าแปลงข้างเคียง แหล่งสินภูฮ่อม จะมีศักยภาพที่จะทำให้สามารถดำเนินการผลิตก๊าซฯป้อนโรงไฟฟ้าน้ำพองต่อได้ โดยการลงทุนสำรวจและผลิตก๊าซฯจะต้องใช้เวลาประมาณ 5 ปี ถึงจะเกิดการผลิตได้จริง ฉะนั้น การเปิดประมูลฯรอบใหม่ ก็คงต้องรอการตัดสินใจของรัฐบาลชุดใหม่

“ผมคิดว่า ภาคอีสานยังมีศักยภาพผลิตก๊าซฯเพื่อสร้างประโยชน์ในภาคอีสานได้ แม้ว่าจะมีการลงทุนพลังงานทดแทนในพื้นที่ก็ตาม แต่การผลิตก๊าซฯได้เองในประเทศ จะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ รัฐได้ภาษีและค่าภาคหลวง ดังนั้นการลงทุนผลิตก๊าซฯ กับการส่งเสริมพลังงานทดแทนก็ควรไปด้วยกันเพื่อสร้างสมดุลพลังงาน”

ส่วนความคืบหน้าโครงการลงทุนอื่นๆนั้น ในส่วนของพื้นที่ตะวันออกกลาง อย่างโครงการ Oman Block 61 เป็นโครงการที่ไปได้ดี มีโอกาสขยายการผลิตเพิ่ม ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากับภาครัฐ เพื่อขอเพิ่มกำลังการผลิตจากระดับ 1,500 ล้านลูกบาศก์ ฟุต ไปสู่ระดับ 1,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โครงการพีดีโอ (บล็อค 6) ที่ปตท.สผ.เข้าไปซื้อหุ้นทั้งหมดในพาร์เท็กซ์ สัดส่วน 2% นั้น ซึ่งเป็นแปลงสัมปทานบนบกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีศักยภาพปิโตรเลียมสูงสุดในประเทศโอมาน มีปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ยประมาณ 660,000 บาร์เรลต่อวัน ก็มีเป้าหมายจะเพิ่มเป็น 800,000 บาร์เรลต่อวันในอนาคต

โครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน ซึ่งตั้งอยู่นอกชายฝั่งของประเทศโมซัมบิก ปัจจุบัน สถานการณ์ในพื้นที่มีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ โดยล่าสุดทางผู้ดำเนินโครงการ ประเมินว่าจะสามารถกลับเข้าไปดำเนินงานในพื้นที่ได้ในช่วงปลายปีนี้หรือ ต้นปีหน้า และยังคงเป้าหมายจะส่งมอบ LNG ลำแรกภายในปี 2570 ซึ่งปัจจุบันยังมีสัญญาซื้อขาย LNG อยู่ที่13 ล้านตัน

ด้านโครงการในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ในส่วนของโครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 2 ทางพันธมิตรคือ Eni ได้จัดเตรียมแผนเพื่อพัฒนาพื้นที่ที่มีการค้นพบปิโตรเลียมทั้งก๊าซฯและน้ำมัน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของหน่วยงานรัฐ หากได้รับการอนุมัติก็จะเร่งพัฒนาก๊าซฯขึ้นมาก่อน

นายมนตรี กล่าวว่า สำหรับการเติบโตในธุรกิจใหม่ (Diversify) ด้านธุรกิจเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ภายใต้การลงทุนของบริษัทลูก คือ บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส (ARV) ซึ่งกำลังจะมีอายุครบ 5 ปีนั้น ได้ใช้เงินลงทุนเข้าขยายธุรกิจแล้วรวมประมาณ 250 ล้านบาท ปัจจุบันเริ่มมีรายได้เข้ามาบ้างแล้ว แต่ผลประกอบการยังติดลบอยู่ โดยอนาคตมีแผนที่จะ Spin-Off เพื่อผลักดันให้ ARV ระดมทุนผ่านตลาดหุ้นในระดับอินเตอร์ เช่น สิงคโปร์เป็นต้น

ส่วนความคืบหน้าในธุรกิจ Beyond E&P ปตท.สผ.ดำเนินการภายใต้ บริษัท ฟิวเจอร์เทค เอนเนอร์ยี่ เวนเจอร์สจำกัด ปัจจุบันมีการลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ตั้งอยู่ในพื้นที่ อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร โดยมีพื้นที่ประมาณ 110 ไร่ และมีกำลังการผลิตประมาณ 9.98 เมกะวัตต์ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสำหรับใช้ในโครงการเอส 1 ขณะนี้โครงการได้เริ่มจ่ายไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2566

รวมถึงล่าสุดที่ ปตท.สผ. และ 5 บริษัทพันธมิตรชั้นนำระดับโลกได้ชนะการประมูลสัมปทานการพัฒนาโครงการผลิตกรีนไฮโดรเจนขนาดใหญ่ ในแปลงสัมปทาน Z1-02 รัฐสุลต่านโอมาน อายุสัมปทาน 47 ปี ซึ่งบริษัทได้ลงนามสัญญาเรียบร้อยแล้วซึ่งโครงการนี้จะครอบคลุมกระบวนการผลิตไฮโดรเจนแบบครบวงจร ตั้งแต่พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม น่าจะมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 5 กิกกะวัตต์โดยตั้งเป้าผลิตกรีนไฮโดรเจนในปี 2573 ที่อัตราประมาณ 2.2 แสนตันต่อปี และผลิตแอมโมเนีย เพื่อส่งออก คาดว่าจะมีกำลังการผลิต 1.2 ล้านตันต่อปี โดยบริษัทจะเริ่มศึกษารายละเอียดเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุนต่อไป

“ปตท.สผ. ตั้งเป้าหมายจะมีรายได้จากธุรกิจใหม่และธุรกิจ Beyond E&P สัดส่วน 20-30% ของพอร์ตธุรกิจ ขณะเดียวกันปัจจุบัน ก็มีดีลธุรกิจที่อยู่ระหว่างพูดคุย แต่ยังยาก เพราะราคาน้ำมันแพง คนซื้อก็อยากซื้อถูก คนขายก็อยากขายแพง”