PTTEP กาง 3 กลยุทธ์ รับมือราคาพลังงานโลกผันผวน หนุนธุรกิจครึ่งหลังปี65 โตต่อเนื่อง  

ผู้ชมทั้งหมด 1,172 

สถานการณ์ “ราคาพลังงานโลก” ที่ยังคงมีความผัวนผวน โดยมีปัจจัยหลักมาจากความกังวลต่อการขาดแคลนน้ำมันดิบ ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์จากการเริ่มเปิดประเทศของนานาประเทศ ทั้งจากการคว่ำบาตรของชาติตะวันตก ต่อน้ำมันดิบรัสเซีย รวมถึงความไม่สงบภายในของประเทศลิเบียและเอกวาดอร์ ที่ส่งผลกระทบต่อการผลิต ขณะที่อุปสงค์น้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น จากการที่ทั่วโลกเริ่มเปิดประเทศ 2 ปีหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึง การประกาศยกเลิกมาตรการปิดเมืองในประเทศจีนส่งผลให้คาดการณ์อุปสงค์เพิ่มขึ้น โดยความไม่แน่นอนเหล่านี้ ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่จะส่งผลต่อการขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานในช่วงครึ่งหลังของปี 2565

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ยังคงยึดมั่นพันธกิจหลักในการสรรหาปิโตรเลียมเพื่อสนองความต้องการใช้พลังงานทั้งภายในประเทศ และประเทศที่ไปลงทุน รวมทั้งสามารถนำเป็นรายได้กลับคืนสู่ประเทศไทยนั้น ได้เตรียมความพร้อมปรับแผนการลงทุนในช่วงที่เหลือของปี 2565 เพื่อรับมือกับสถานการณ์ไม่คาดคิดที่อาจเข้ามากระทบธุรกิจ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางพลังงานในอนาคตภายใต้ กลยุทธ์ Strategy Refinement ใน 3 ด้านหลัก ประกอบด้วย

1.E&P Growth สร้างการเติบโตในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม(E&P) เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ โดยจะเน้นพัฒนาโครงการที่มีอยู่แล้วด้วยการเปลี่ยนจากการ “ค้นพบ” แหล่งปิโตรเลียม เป็น “การผลิต” โดยเร็ว เพื่อเพิ่มปริมาณการขายให้กับบริษัท เช่น โครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) , ลัง เลอบาห์-2 ในโครงการซาราวักเอสเค 410 บี นอกชายฝั่งรัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย, โครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน  และโครงการอื่นๆตามแผนพัฒนา 5 ปี นอกจากนี้ ยังต้องรักษาความสามารถการแข่งขันด้วยการบริหารจัดการต้นทุนให้แข่งขันได้ โดยผ่านการพัฒนาและปรับปรุงด้านต่างๆ เช่น โลจีสติกส์ ซัพพลายเชนเพื่อให้เกิดการส่งเสริมซึ่งกันและกัน อีกทั้ง ยังคงต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนทางธุรกิจที่เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านพลังงานให้มากขึ้น พร้อมมองหาโอกาสการลงทุนทั้งธุรกิจ LNG Upstream  และ LNG Midstream ต่อไป

2.Decarbonization ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยการดำเนินการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกต่อเนื่องตามแผน E&P Net Zero ที่กำหนดเป้าหมายภายในปี ค.ศ.2050 เช่น การเพิ่มการใช้พลังงานทางเลือก ,การก๊าซฯเผาทิ้ง รวมถึงโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) และการปลูกป่า

3.Beyond E&P ซึ่งจะสอดคล้องกับแนวทางขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน ด้วยการปรับตัวเข้าสู่ธุรกิจใหม่อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยประกอบด้วย ธุรกิจด้านเทคโนโลยี เช่น การที่บริษัทลูกอย่าง บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) ได้เร่งดำเนินกิจการและอยู่ระหว่างขยายฐานลูกค้าให้มากขึ้น และพัฒนาโซลูชั่นใหม่ๆให้เข้าสู่ตลาด

ธุรกิจพลังงาน ได้เตรียมเตรียมลงทุนติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 10 เมกะวัตต์ ที่โครงการเอส 1 (PTTEP-S1) ด้วยเงินลงทุน 370 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มการผลิตไฟฟ้าป้อนให้กับโครงการเอส 1 ได้ในช่วงปี 2566

และแสวงหาโอกาสลงทุนธุรกิจอื่นๆ ด้วยการผลักดันความคืบหน้าของ โครงการ Gas to power และ LNG to power รวมถึง หาโอกาสเข้าลงทุนโครงการพลังงานหมุนเวียนต่างๆ และศึกษาลงทุนพลังงานแห่งอนาคต เช่น ไฮโดรเจน

ธนัตถ์ ธำรงศักดิ์สุวิทย์ ผู้จัดการแผนกนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ระบุว่า ทิศทางการดำเนินงานของ ปตท.สผ. ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดหวังว่า ผลประกอบการจะเติบโตขึ้นจากช่วงครึ่งปีแรก และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนจากปริมาณขายปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 3 ที่คาดว่าเฉลี่ย จะอยู่ที่ 481,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน และเฉลี่ยทั้งปี2565 จะอยู่ระดับ 465,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน โดยได้รับปัจจัยหนุนจากกำลังการผลิตปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้นทั้งจากโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และ โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ขณะที่ราคาก๊าซฯ ไตรมาส 3 และเฉลี่ยทั้งปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 6.4 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และต้นทุนต่อหน่วย (Unit cost) ช่วงครึ่งปีหลังจะอยู่ที่ 29-30 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ

อย่างไรก็ตาม บริษัท ประเมินว่า ราคาน้ำมันดิบ เฉลี่ยครึ่งหลังปี2565 จะเคลื่อนไหวในกรอบ 90-105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยความต้องการใช้น้ำมันของโลกจะเพิ่มแตะระดับ 101 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนราคาก๊าซฯ เฉลี่ยทั้งปี 2565 จะอยู่ที่ 27-33 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู โดยการใช้ก๊าซฯของโลก จะเพิ่มแตะระดับ 392 ล้านตันต่อปี จากการใช้ในยุโรปที่ต้องการก๊าซฯทดแทนการซื้อจากรัสเซียและการใช้ในเอเชียที่เพิ่มขึ้น ส่วนการผลิตก๊าซฯก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งจากแหล่งเก่าและแหล่งใหม่ ซึ่งจะทำให้ในระยะต่อไปราคาก๊าซฯจะปรับลดลงได้ ขณะที่ในประเทศ คาดว่า ราคาก๊าซฯไตรมาส 3 จะสูงขึ้นจากไตรมาส 2 และสูงสุดในไตรมาส 4 ตามรอบการปรับราคาก๊าซฯในอ่าวไทย

สำหรับปี 2565 ปตท.สผ. มีแผนจะใช้งบลงทุนอยู่ที่ 5,600 ล้านดอลลาร์ฯ แบ่งเป็น รายจ่ายในการลงทุน (CAPEX) อยู่ที่ 3,000 ล้านดอลลาร์ และรายจ่ายในการดำเนินงาน(OPEX) อยู่ที่ 2,600 ล้านดอลลาร์

สำหรับความคืบหน้าโครงการลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียม(E&P) ในประเทศต่างๆ นั้น ปตท.สผ.ยังเดินหน้าขยายการลงทุนตามแผน ประกอบด้วย

ประเทศไทย ได้แก่ โครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) บริษัทได้เร่งเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯในได้ตามแผน โดยปีนี้ เฉลี่ยจะอยู่ที่ 200-250 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ปี2566 จะเพิ่มเป็น 300-500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และช่วงเดือนเม.ย. ปี 2567 จะแตะระดับ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

นอกจากนี้ บริษัท ยังอยู่ระหว่างศึกษาโอกาสเข้าร่วมประมูลโครงการฯใหม่ ในประเทศ ทั้ง โครงการG1/65 โครงการG2/65 และโครงการG3/65 ซึ่งปัจจุบัน อยู่ระหว่างพิจารณาทางเทคนิคและยังไม่สรุปว่าจะเข้าร่วมประมูลหรือไม่อย่างไร

ประเทศมาเลเซีย ปัจจุบัน ได้เสร็จสิ้นการดำเนินการเจาะหลุมประเมิน ลัง เลอบาห์-2 ในโครงการซาราวักเอสเค 410 บี นอกชายฝั่งรัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย โดยยังตั้งเป้าหมายจะตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย(FID) ในปี 2566 รวมถึงมองโอกาสเพิ่มเติมในรอบการประมูลใหม่ของปีนี้ด้วย

ประเทศเมียนมา ปตท.สผ.ได้เข้ารับเป็นผู้ดำเนินการในโครงการยาดานา แล้ว เมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและยังรักษาอัตราการผลิตได้ตามปกติ ส่วนเหตุการณ์รอยรั่วท่อส่งก๊าซฯ โครงการซอติก้า ในเมียนมานั้น เบื้องต้นตรวจสอบแล้วไม่พบรอยเพลิงไหม้ จึงได้หยุดส่งก๊าซฯมายังประเทศไทยชั่วคราว ทำให้กำลังการผลิตหายไปประมาณ 240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจะใช้เวลาซ่อมแซมประมาณ 2 สัปดาห์  

ประเทศโมซัมบิก ในส่วนของโครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน ตั้งอยู่นอกชายฝั่งของประเทศโมซัมบิก ยังอยู่ระหว่างรอความชัดเจนในการกลับเข้าพื้นที่ ซึ่งบริษัทก็มีการพูดคุยกับโททาล เบื้องต้น คาดว่า จะเริ่มการผลิตก๊าซฯได้ในปี 2568

ประเทศแอลจีเรีย บริษัทได้เริ่มการผลิตเฟส1 ไปแล้วเมื่อต้นปี มิ.ย.ที่ผ่านมา กำลังการผลิตระยะแรก คาดว่าจะอยู่ที่ 10-13 พันบาร์เรลต่อวัน ซึ่ง ปตท.สผ.มีสัดส่วนอยู่ในโครงการนี้ 49% คาดว่าจะรับรู้กำลังการผลิตเข้ามาช่วงไตรมาส 3-4 ปีนี้ ประมาณ 7 พันบาร์เรลต่อวัน

และประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) บริษัท ได้ประสบความสำเร็จจากการเจาะหลุมสำรวจหลุมแรกในโครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 2  ได้ค้นพบก๊าซธรรมชาติในแหล่งกักเก็บโดยรวมประมาณ 2.5 – 3.5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และยังมองหาโอกาสการลงทุนเพิ่มเติมในยูเออีต่อไปด้วย

ด้าน ณัฐกร ศรีภูไฟ fundamental analyst บริษัทหลักทรัพย์ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จากัด (มหาชน) เปิดเผยบทวิเคราะห์หุ้น PTTEP โดยประเมินว่า แนวโน้มกําไรไตรมาส3 ปีนี้ โดดเด่นต่อเนื่อง โดยปริมาณขายอยู่ที่ 481 พันบาร์เรล/วัน (+3%QoQ) จากการเริ่มผลิตที่แอลจีเรีย 10-13 พันบาร์เรล/วันและรับรู้โครงการ G1/61 เต็มไตรมาส และราคาก๊าซอยู่ที่ 6.40 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู (+3%QoQ) ด้วยสัดส่วนการขายก๊าซที่ 72% ของทั้งหมด ก็น่าจะทำให้แนวโน้มกำไรไตรมาส3 ปีนี้  โดดเด่นต่อเนื่อง แม้ราคาขายน้ำมันดิบอาจไม่เด่นเท่ากับไตรมาส 2 ที่ผ่านมา โดยหากราคาน้ำมันดิบลดลง กำไรก็จะมีตัวช่วยจากกำไร Hedging ซึ่งปัจจุบันทำสัญญาไว้ 7.7 ล้านบาร์เรล

ทั้งนี้ ยังแนะนําให้ “ซื้อเก็งกําไร” จากประเด็นบวกของแนวโน้มกำไรไตรมาส3 ปีนี้ ซึ่งจะได้แรงหนุนจากปริมาณขายและราคาขายก๊าซเพิ่มขึ้นราว +3% โดยมองภาวะที่อุปทานน้ำมันดิบตึงตัวจะจำกัดการปรับลงของราคาน้ำมันดิบ แต่หากราคาน้ำมันดิบปรับลงก็มีตัวช่วยจากกำไร Hedging ได้