PTTEPคว้าสิทธิ์พัฒนาโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในเมียนมา

ผู้ชมทั้งหมด 1,910 

PTTEP ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลเมียนมาให้เป็นผู้พัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติ  การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ขนาดกำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ในเมียนมา มูลค่าการลงทุนประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ  PTTEP เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามในหนังสืออนุญาตให้เริ่มดำเนินงาน (Notice to Proceed) ของโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในเมียนมา (Integrated Domestic Gas to Power) กับนายตัน ซอ ปลัดกระทรวงไฟฟ้าและพลังงาน ประเทศเมียนมา เพื่อนำก๊าซธรรมชาติจากโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวเมาะตะมะ ซึ่ง  PTTEP เป็นผู้ดำเนินการ  มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าในราคาที่เหมาะสมให้กับประเทศเมียนมา โดยเริ่มแรกจะนำก๊าซฯ จากโครงการซอติก้า และโครงการเมียนมา M3 มาใช้ในการผลิตไฟฟ้าในโครงการดังกล่าว 

“การได้รับสิทธิ์ให้ดำเนินการในโครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในเมียนมา ถือเป็นก้าวสำคัญของบริษัทในการเข้าไปลงทุนธุรกิจก๊าซธรรมชาติครบวงจรในเมียนมา ตามแผนกลยุทธ์ “Execute & Expand” ซึ่งจะสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงให้กับ ปตท.สผ. ในระยะยาว โครงการนี้ยังช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับเมียนมาตามแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนและแผนแม่บทด้านพลังงานของรัฐบาลเมียนมาที่ต้องการให้ทุกครัวเรือนสามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้ภายในปี 2573” นายพงศธร กล่าว

โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในเมียนมา เป็นการลงทุนด้านพลังงานแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงการผลิตไฟฟ้า โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติ  การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ขนาดกำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ ในเขตไจลัท ภูมิภาคอิรวดี การก่อสร้างระบบท่อขนส่งก๊าซฯ ทั้งในทะเลและบนบก จากเมืองกันบก-เมืองดอร์เนียน-เมืองไจลัท รวมระยะทางประมาณ 370 กิโลเมตร และการวางระบบสายส่งไฟฟ้าแรงสูงจากเขตไจลัทไปยังเขตลานทายาในภูมิภาคย่างกุ้ง โดย ปตท.สผ. คาดว่าจะสามารถตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (Final Investment Decision) ในช่วงต้นปี 2565 

สำหรับกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าดังกล่าว คิดเป็นประมาณร้อยละ 10 ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมในประเทศเมียนมาในปัจจุบัน โดยกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ จะจำหน่ายให้กับหน่วยงานด้านไฟฟ้าของประเทศเมียนมา (Electric Power Generation Enterprise) โดยมีระยะเวลาสัญญา 20 ปี และสามารถต่ออายุสัญญาได้ 5 ปี นับจากวันเริ่มขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date)