ผู้ชมทั้งหมด 483
P&G จับมือ GC ส่งมอบบ้านจากวัสดุรีไซเคิล “Upcycling Plastic House” เพื่อความยั่งยืนและเท่าเทียม พร้อมผนึกพันธมิตร Sansiri, Lotus’s และ Habitat Group สานต่อวิสัยทัศน์ความยั่งยืน
“P&G จับมือ GC พร้อมผนึกพันธมิตร Sansiri, Lotus’s และ Habitat Group ร่วมกันบริหารจัดการและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพลาสติกใช้แล้วในโครงการ “Upcycling Plastic House เพื่อความยั่งยืนและเท่าเทียม” ผ่านการประชาสัมพันธ์ และรณรงค์ให้ประชาชนนำขวดแชมพูพลาสติกและถุงแชมพูชนิดเติมที่ใช้แล้วมาหย่อนที่ตู้รับบริจาคที่โลตัส 35 สาขา เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ผ่าน ‘YOUเทิร์น แพลตฟอร์ม’ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างบ้านจากวัสดุรีไซเคิล พร้อมส่งมอบให้กับสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีในพระอุปถัมภ์ ภายใต้กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดย มีนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมแสดงความยินดีกับผู้บริหาร
จาก ‘บริโภคและกำจัด’ สู่ ‘การบริโภคและรวบรวมเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่’ ผ่าน YOUเทิร์น แพลตฟอร์ม
ไม่ใช่แค่เป้าหมายของบริษัทฯ ใดบริษัทหนึ่ง แต่เป็นการจับมือร่วมกันของบริษัทชั้นนำในประเทศไทย อันได้แก่ ได้แก่ พีแอนด์จีประเทศไทย บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วย บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ธุรกิจโลตัส ประเทศไทย และ มูลนิธิที่อยู่อาศัย ประเทศไทย ที่ตั้งใจร่วมกันแก้ไขปัญหาพลาสติกใช้แล้ว ด้วยการคืนชีวิตพลาสติกที่ถูกทิ้งผ่านกระบวนการ Upcycling เพื่อสร้างเป็นบ้านที่อยู่อาศัย
นายนิทิน ดาร์บารี- ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร พีแอนด์จีประเทศไทย กล่าวถึงการริเริ่มโครงการฯ ว่า “ตามเป้าหมายของ P&G Ambition 2030 ที่มุ่งหวังสร้างคุณค่าให้กับบริษัทฯ ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทาน อันได้แก่ แบรนด์ สังคม และ พนักงาน ซึ่งเรามีเป้าหมายที่จะบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Ambition) ในปี 2583 โดยจะครอบคลุมถึงการปล่อยมลพิษตลอดวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ของเราทั่วทั้งห่วงโซ่อุปทาน
P&G ประเทศไทยได้ดำเนินงานตามระบบ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” โดยมีรูปแบบธุรกิจและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อเปลี่ยนสินค้าบรรจุหีบห่อสําหรับผู้บริโภคจาก ‘บริโภคและกําจัด’ เป็น ‘บริโภคและรวบรวม หรือเก็บมาใช้ใหม่’ โดยมีเป้าหมายคือ ลดพลาสติกปิโตรเลียมบริสุทธิ์ 50% ในปี 2573 คํานึงถึงการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่องด้วยวัสดุหมุนเวียน หรือ การรีไซเคิลที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังเช่น แบรนด์ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมของเราที่ตั้งเป้าจะใช้พลาสติกรีไซเคิลอย่างน้อย 4,000 ตันและมี PCR สูงถึง 25% ในขวดแชมพูและครีมนวดผม”
นายอาร์ปัน กุปตะ กรรมการผู้จัดการ พีแอนด์จีประเทศไทย กล่าวเสริมว่า “ Upcycling Plastic House ที่เราสร้างขึ้นนั้นมาจากแนวคิดที่ว่า เราต้องการสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่กว่าแก่ชุมชนและสังคม ซึ่งวันคนพิการสากล ที่ผ่านมา เราบริจาค “Upcycling Plastic House” โดยร่วมมือกับภาครัฐและพันธมิตรใน อุตสาหกรรม ซึ่งที่ผ่านมา Upcycling Plastic House ได้ถูกใช้เป็นศูนย์พักคอย สำหรับผู้พิการ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด นอกจากนี้ P&G ยังนําร่อง โครงการ Upcycling Sachet เพื่ออัพไซเคิลซองบรรจุภัณฑ์ซองลามิเนต โดยเราได้ร่วมงานกับภาคีต่างๆ และอัพไซเคิลไปเป็นบานประตู ซึ่งในอดีตวัสดุเหล่านี้ไม่สามารถนำกลับไปรีไซเคิลได้ แต่ปัจจุบันเราได้เพิ่มมูลค่าลงไปในผลิตภัณฑ์ แม้จะเป็นสิ่งเล็กน้อย แต่เป็นก้าวสำคัญ ของการก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน”
ดร.ชญาน์ จันทวสุ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานความยั่งยืนองค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า“GC ดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดความยั่งยืนที่คำนึงถึงการสร้างสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลที่ดี (ESG) มาอย่างต่อเนื่อง ในฐานะของบริษัทเคมีภัณฑ์ระดับสากลที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต บริษัทฯ ได้ยกระดับการนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ในการดำเนินธุรกิจ โดยมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด มุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี 2593
สำหรับบทบาทในฐานะพันธมิตรของโครงการนี้ GC ได้ทำงานร่วมกับพันธมิตรของบริษัทฯ ใช้องค์ความรู้และนวัตกรรม พัฒนาผลิตภัณฑ์จากกระบวนการอัพไซคลิง (Upcycling) ที่นำวัสดุเหลือใช้ มาผลิตเป็นชิ้นงานใหม่ ซึ่งใช้เป็นองค์ประกอบหลักของบ้าน 3 ส่วน ได้แก่ หลังคาและผนังบ้าน (Eco Roof and Eco Board) ซึ่งทำจากกล่องนมและถุงแชมพูชนิดเติม (Multilayers Laminated) วงกบ หน้าต่าง และประตู (Wood Plastic Composite) ทำจากฟิล์มพลาสติกใช้แล้ว ประเภท PE ผสมผงไม้ และ พื้นและผนังบ้าน (Eco Bricks) ผลิตจากขวดพลาสติกขุ่นใช้แล้ว (HDPE Bottles) ผสมกับปูนซีเมนต์ ทำให้มีคุณสมบัติแข็งแรงทนทาน รับน้ำหนักได้ดี ไม่ต่างจากอิฐหรือบล็อกปูถนนปกติที่ใช้กันในปัจจุบัน เทียบเท่ามาตรฐาน มอก.
โดยวัสดุเหลือใช้ทั้งหมดนี้ ผ่านการจัดเก็บและคัดแยกจาก “YOUเทิร์น แพลตฟอร์ม” ที่จัดการพลาสติกใช้แล้วอย่างครบวงจร ตั้งแต่วิธีการคัดแยก จัดเก็บ ขนส่ง ไปจนถึงการนำไปรีไซเคิล อัพไซเคิลอย่างครบวงจร หรือที่เรียกว่า End-to-End Waste Management จากความร่วมมือในโครงการนี้
นอกจากช่วยลดปัญหาพลาสติกในสิ่งแวดล้อม ยังสร้างประโยชน์ต่อสังคม นำไปสู่การสร้างเพิ่มมูลค่าให้กับพลาสติกใช้แล้วได้กว่า 2,000 กิโลกรัม ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 2,200 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โครงการ ‘Upcycling Plastic House เพื่อความยั่งยืนและเท่าเทียม’ ครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากพันธมิตร ได้แก่ โลตัส ที่รับหน้าที่ในการเป็นศูนย์กลางระหว่างผู้ประกอบการและชุมชน โดยเป็นจุดรับบริจาครวบรวมขวดแชมพูพลาสติและแชมพูถุงเติม
นายพงศธร ปานประสงค์ ผู้อำนวยการสินค้าอุปโภค โลตัส กล่าวว่า “โลตัส ดำเนินงานด้านความยั่งยืนภายใต้กลยุทธ์ Vision 2030. Actions every day. ที่มุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนจากการดำเนินงานในทุก ๆ วัน เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายที่ได้วางไว้ภายในปี 2573 ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular economy เป็นหนึ่งในประเด็นที่สำคัญ โดยโลตัส มีเป้าหมายในการลดปริมาณของเสียที่นําไปฝังกลบให้เป็นศูนย์ภายในปี 2573 และใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีความยั่งยืนสำหรับสินค้าแบรนด์โลตัส ภายในปี 2568 โดยปัจจุบันบรรจุภัณฑ์ทุกชิ้นของสินค้าแบรนด์ของโลตัสประเภทอาหารและสินค้าอุปโภคใช้วัสดุที่รีไซเคิลได้ 100% แล้ว
นอกจากนี้ ภายใต้แผนงานด้านบรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน โลตัส มุ่งมั่นที่จะช่วยให้ลูกค้าและประชาชนสามารถแยกและรีไซเคิลขยะได้อย่างสะดวกผ่านสาขาของโลตัส โดยตั้งแต่เริ่มดำเนินงานตั้งจุดรับขยะเพื่อนำไปรีไซเคิล โลตัส สามารถรวบรวมขวดพลาสติกและกระป๋องอะลูมิเนียมได้แล้วเกือบ 3 ล้านขวด พลาสติกยืดกว่า 1.5 ล้านกิโลกรัม และกล่องและลังกระดาษกว่า 157 ล้านกิโลกรัม เพื่อนำไปรีไซเคิลได้ทั้งหมด
การร่วมมือกับ P&G และพันธมิตรจากองค์กรอื่น ๆ ในโครงการ Upcycling Plastic House เป็นอีกก้าวสำคัญในการต่อยอดการทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการสร้างระบบปิดของบรรจุภัณฑ์ เพื่อเก็บรวมรวมบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับเข้าสู่ระบบและนำไปรีไซเคิล นอกจากมิติทางสิ่งแวดล้อมแล้ว โครงการนี้ยังสร้างประโยชน์ทางสังคมให้กลุ่มเปราะบาง ในการนำบรรจุภัณฑ์พลาสติกมา upcycle เป็นที่อยู่อาศัยอีกด้วย โลตัส มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมสนับสนุนโครงการนี้ด้วยการจัดสรรพื้นที่ในโลตัส 35 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งช่วยให้ลูกค้าและประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการสนับสนุนกลุ่มเปราะบางในสังคม”
การคืนชีวิตพลาสติกสู่การออกแบบและสร้างที่อยู่อาศัย ‘Upcycling Plastic House ’ ยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อความยั่งยืนและเท่าเทียม
นางสาวชลีรัตน์ ต่อจรัส ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดองค์กร บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงบทบาทของแสนสิริในฐานะผู้ออกแบบบ้าน Upcycling Plastic House และความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “แสนสิริ เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายแรกของไทยที่ตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero) โดยมีเจตนารมณ์ในการสร้างจุดเปลี่ยนด้านสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน เราวางเป้าหมายสูงสุดในการเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2593
โดยโครงการ ‘Upcycling Plastic Houseเพื่อความยั่งยืนและเท่าเทียม’ สอดคล้องกับพันธกิจ ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืนและใช้ทรัพยากรได้อย่างรู้คุณค่า ภายใต้คำมั่นสัญญา “Sansiri Sustainability: Everyday Better” ที่จะพัฒนาทุกสิ่งให้ดีขึ้นในทุกวัน เพื่อชีวิตดี ๆ ของทุกคน พร้อมกับต่อยอดโครงการ “waste to WORTH: แยกขยะให้เกิดประโยชน์” เพื่อปลูกฝังเรื่องการจัดการขยะ ส่งเสริมและสร้างความเข้าใจในการแยกขยะตั้งแต่ต้นทางให้เกิดประโยชน์
ภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ แสนสิริได้นำความเชี่ยวชาญในด้านดีไซน์ มาออกแบบ Upcycling Plastic House ผ่านการคำนึงถึงการอยู่อาศัยและใช้งานจริง โดยนำหลักการออกแบบด้าน Universal Design ให้บ้านอยู่สบายปลอดภัยสำหรับเป็นศูนย์พักคอยสำหรับทุกคนทุกเพศทุกวัย รวมทั้งให้ความสำคัญกับ Natural Ventilation ให้บ้านสามารถถ่ายเทอากาศได้สะดวก มีช่องทางลมเข้า-ลมออกได้ และเน้นความโปร่ง ไม่แออัด ช่วยลดการใช้พลังงาน มีการจัดวางและแบ่งสัดส่วนห้องให้เหมาะ รองรับการอยู่อาศัยสำหรับ 2 ท่าน โดยในการออกแบบครั้งนี้ เรายังมองไกลถึงการออกแบบดีไซน์แบบยืดหยุ่น ที่ทำให้สามารถต่อยอดในโครงการ Upcycling Plastic House ในทำเลอื่น ๆ หรือโครงการต่อไปในอนาคตได้อีกด้วย”
นายอวิรุทธ์ โชตินันทเศรษฐ์ ประธานกรรมการ มูลนิธิที่อยู่อาศัย ประเทศไทย กล่าวถึง ความร่วมมือในโครงการ และการก่อสร้างว่า “Habitat for Humanity Thailand หรือ มูลนิธิที่อยู่อาศัย ประเทศไทย รู้สึกภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ได้รับใช้คนไทยมายาวนานกว่า 20 ปี เรามีวิสัยทัศน์ในการช่วยเหลือ ผู้ด้อยโอกาส ในด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวไทย ผ่านการร่วมซ่อมสร้างที่อยู่อาศัย และการร่วมพัฒนาชุมชนให้มีความยั่งยืน ตามหลักการของระดับนานาชาติเรื่อง SDGs
ในวันนี้ Habitat รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของภาคีในการพัฒนาวัสดุก่อสร้าง การปลูกฝัง เพื่อให้เกิดคุณค่าจากการพัฒนาขยะเหลือใช้ ในโครงการ Upcycling house เพื่อความยั่งยืนและเท่าเทียม โดยทาง Habitat ได้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการสร้างบ้านเพื่อสนับสนุนคนพิการ ภายใต้การดูแลของสมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ ซึ่งมีความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมูลนิธิเป็นอย่างยิ่ง เริ่มต้นจากเรื่องเล็กที่ไม่เล็ก คือการแยกขยะ และการนำขยะเหลือใช้เหล่านั้นเช่น Plastic Waste มาใช้ประโยชน์ในการเป็นวัสดุเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยได้อย่างน่าประทับใจ”
ทั้งนี้ภายในงาน ยังได้รับเกียรติจาก นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวแสดงความยินดีและขอบคุณหน่วยงานทุกภาคส่วน นายอนุกูล กล่าวว่า “กระทรวง พม. ต้องขอขอบคุณทุกภาคีเครือข่ายทั้ง P&G Thailand GC Sansiri Lotus’s และ Habitat ที่จัดทำโครงการ Upcycling Plastic House เพื่อความยั่งยืนและเท่าเทียม ซึ่งในปีนี้สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีในพระอุปถัมภ์ ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รับหน้าที่เป็นผู้ดูแลจัดหาผู้อยู่อาศัย จากความมุ่งมั่นตั้งใจของหน่วยงานชั้นนำในประเทศไทยในการคืนชีวิตให้พลาสติกด้วยการนำกลับมาสร้างสิ่งใหม่นอกจากจะช่วยลดปัญหาพลาสติกในสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังเป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่กลายเป็นที่พักอาศัยที่มีความแข็งแรงทนทาน เหมาะสมกับการอยู่อาศัย
โดยที่ผ่านมาบ้าน Upcycling Plastic House ได้สร้างผลกระทบเชิงบวกที่ยิ่งใหญ่ต่อชุมชนและสังคม อาทิ การทำเป็นศูนย์พักคอยสำหรับผู้พิการที่ได้รับผลกระทบจากโควิดในช่วงที่ผ่านมา เป็นต้น ซึ่งหวังว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการนำร่องให้กับการคัดแยกพลาสติก กลายเป็นแนวทางการบริโภคและรวบรวมเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ สร้างสรรค์วัสดุใหม่ที่เป็นประโยชน์กับประชาชนกลุ่มเปราะบางขยายผลไปยังสู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ”