ผู้ชมทั้งหมด 1,712
OR ลุยขยายการลงทุนธุรกิจค้าปลีก (Non-Oil) เล็งซื้อกิจการ รวมลงทุนเน้นกลุ่มสตาร์ทอัพ วางเป้าหนุนสัดส่วน EBITDA เป็น 33% ชี้มีมาร์จิ้นสูง 25-28% ขณะที่ธุรกิจน้ำมันในปี 64 คาดยอดขายเติบโต 3% ตามทิศทางเศรษฐกิจ ลุยขยายสถานีชาร์จไฟฟ้ารถ EV 100 สาขาในปีนี้
นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยว่า คาดว่ายอดจำหน่ายน้ำมันรวมของ OR ในปี 2564 จะเติบโตตามทิศทางเสรษฐกิจ โดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ประเมินตัวเลขจีดีพี จะเติบโตราว 3% หรือเติบโตใกล้เคียงปี 2562 ที่มียอดจำหน่ายน้ำมันรวม 27,627 ล้านลิตร ประกอบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เริ่มมีทิศทางที่คลี่คลายหลังจากในแต่ละประเทศเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ซึ่งจะส่งผลให้การเดินทางเพิ่มมากขึ้น ขณะที่กลุ่มโอเปกและชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) มีมติขยายเวลาการปรับลดการผลิตน้ำมันที่ระดับ 7.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปจนถึงเดือน เม.ย. 64 คาดว่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาน้ำมันดิบอยู่ในระดับดูไบในปีนี้เฉลี่ยในระดับ 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
ส่วนแผนการลงทุนธุรกิจใหม่นั้นตามแผนการลงทุน 5 ปี (2564-2568) OR มีเป้าหมายขยายสัดส่วนกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) ของธุรกิจค้าปลีก (Non-Oil) เพิ่มเป็น 33% จากสิ้นปี 63 อยู่ในระดับ 25% โดยสัดส่วน EBITDA ธุรกิจน้ำมันจะอยู่ในระดับ 55% จาก 68% ส่วนธุรกิจในต่างประเทศมีเป้าหมาย EBITDA ที่ 12% จากสิ้นปี 63 อยู่ในระดับ 4.9%
เล็งซื้อหุ้นธุรกิจ Carsharing
ทั้งนี้เพื่อช่วยสนับสนุนให้สัดส่วน EBITDA ของธุรกิจ Non-Oil ให้ได้ตามเป้าหมาย OR จะมุ่งเน้นขยายซื้อกิจการ หรือ M&A และการร่วมลงทุน (Joint Venture) หรือ JV โดยจะขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เป็น New S-curve นั้นจะดำเนินธุรกิจผ่าน บริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ จำกัด (Modulus) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ OR ที่ถือหุ้น 100% เน้นเข้าลงทุนธุรกิจแบบ inorganic ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต โดยคาดว่าจะใช้เงินในการลงทุนสำหรับธุรกิจ New S-curve ในสัดส่วน 15% และ Non-Oil ในสัดส่วน 29% ของวงเงินลงทุน 74,000 ล้านบาทภายใน 5 ปี
ปัจจุบัน OR อยู่ระหว่างเจรจาดีลธุรกิจใหม่อยู่หลายราย โดยให้ความสำคัญในการลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพ (Start-Up) และ SME ที่มีศักยภาพเป็นหลัก เพื่อช่วยให้สตาร์ทอัพเติบโตภายใต้แพลตฟอร์มของ OR ที่มีสถานีบริการน้ำมันภายในประเทศกว่า 1,968 แห่ง และปีนี้จะขยายอีก 110 แห่ง ร้านกาแฟอเมซอน 3,168 สาขา ปีนี้มีแผนขยายเพิ่มอีก 420 สาขา โดยในปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับสตาร์ทอัพที่เกี่ยวกับคาร์แชร์ริ่ง (Carsharing) ธุรกิจเพื่อสุขภาพ (Health Care) ร่วมถึงธุรกิจให้บริการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านั้น OR ได้ดำเนินการซื้อกิจการ และซื้อหุ้นร่วมลงทุนแล้ว 3 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท ปลูกผักเพราะรักแม่ จำกัด ผู้ดำเนินกิจการร้านอาหารเพื่อสุขภาพภายใต้แบรนด์ “โอ้กะจู๋” มีจุดเด่นในเรื่องความสดใหม่ของผักที่ปลูกด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ และส่งตรงจากฟาร์มผักขนาดใหญ่ที่จังหวัดเชียงใหม่ OR เข้าลงทุนในสัดส่วน 20% การเข้าถือหุ้นใน Flash Express สัดส่วน 10% และซื้อหุ้นบริษัท พีเบอร์รี่ไทย จำกัด ในสัดส่วน 65% ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมกาแฟอย่างครบวงจรในประเทศไทย โดยเป็นผู้จัดหา ผลิตและจัดจำหน่ายเมล็ดกาแฟ รวมถึงอุปกรณ์สำหรับเปิดร้านกาแฟ และเป็นผู้ประกอบธุรกิจร้านกาแฟภายใต้แบรนด์ Pacamara ซึ่งแบรนด์ระดับ Specialty coffee
ธุรกิจ Non-Oil มาร์จิ้น25-28%
ทั้งนี้ธุรกิจ Non-Oil นั้นมีมาร์จิ้นที่ระดับ 25-28% ซึ่งสูงกว่าธุรกิจน้ำมันมีมาร์จิ้นในระดับ 4-5% ขณะเดียวกันในปัจจุบันนั้นมีลูกค้าใช้บริการในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ของ OR ราว 3 ล้านคนต่อวัน และในจำนวนนี้เป็นสัดส่วนกว่า 60% ที่ไม่ได้ใช้บริการน้ำมัน ดังนั้น OR จึงได้มุ่งเน้นขยายในธุรกิจใหม่เพิ่มมากขึ้น สำหรับการขยายสาขากลุ่มธุรกิจ Non-Oil นั้นในปี 2564 บริษัทฯ มีเป้าหมายขยายร้านกาแฟอเมซอน 420 สาขา จากปัจจุบันมีอยู่ 3,168 สาขา ร้าน Texas Chicken 20 สาขาจากปัจจุบันมี 78 สาขา Fit Auto ขยายอีก 72 สาขา จากปัจจุบันมีอยู่ 64 สาขา
ขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้า300แห่ง
ส่วนการลงทุนในธุรกิจติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ในสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ในปี 2564 มีแผนขยายลงทุนเพิ่มอีก 100 สาขา กระจายทั่วประเทศบริเวณหัวเมืองหลักในแต่ละจังหวัดตั้งแต่ภาคเหนือลงสู่ภาคใต้ ในรูปแบบชาร์จเร่งด่วน Quick Charge ซึ่งจะใช้เวลาชาร์จประมาณ 20-25 นาทีต่อคัน คาดว่าจะใช้เงินลงทุนอยู่ที่ประมาณ 1.5-2 ล้านบาทต่อสาขา และจะขยายเพิ่มขึ้นเป็น 300 สาขาภายในปี 2565 จากปัจจุบัน มีการติดตั้งแล้ว 30 สาขา ทั้งในรูปแบบของหัวชาร์จปกติ Normal Charge และ Quick Charge เพื่อรองรับการใช้งานของยานยนต์ไฟฟ้า(EV) รวมทั้งได้มีการจัดทำ Application ‘EV Station’ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคอย่างครบวงจร
อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน กฎหมายไทยยังไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการทั่วไปจัดเก็บค่าไฟฟ้าสำหรับชาร์จรถ EV ได้ ยกเว้น 3 การไฟฟ้าเท่านั้น ซึ่งปัจจุบัน OR ใช้วิธีให้สมาชิกบัตรบลูการ์ดใช้งานฟรี ทั้งนี้การจะส่งเสริมให้เกิดการใช้รถอีวีอย่างแพร่หลายในประเทศไทยนั้น จำเป็นที่ภาครัฐจะต้องเร่งออกกฎหมายเพื่อให้สัมพันธ์กับนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดด้านรถ EV ที่ภาครัฐจะเชื่อมโยงการส่งเสริมทั้งอุตสาหกรรมและทั้งระบบ ซึ่งคาดว่าจะมีมาตรการทางด้านภาษีออกมาสนับสนุนด้วย