ผู้ชมทั้งหมด 5,309
เกือบ 20 ปีแล้ว ที่คนไทยได้ลิ้มรสกาแฟหอมกรุ่น เข้มข้น มีสไตล์ลงตัว ที่ไม่ว่าใครได้ดื่มแล้วจะรู้ทันทีถึงรสชาติที่แตกต่างจากกาแฟสดทั่วๆไป จึงไม่แปลกใจที่วันนี้ “Café Amazon” (คาเฟ่ อเมซอน) จะกลายเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งและทรงพลังที่สุดในกลุ่มสินค้าประเภทร้านกาแฟ จากการขยายสาขาในปัจจุบัน กว่า 3,500 แห่ง ทั้งที่ตั้งอยู่ในสถานีบริการน้ำมัน(ปั๊ม) พีทีที สเตชั่น และพื้นที่นอกปั๊ม
ยิ่งไปกว่านั้น “คาเฟ่ อเมซอน” ยังพร้อมเสิร์ฟ “เบเกอรี่” หลากชนิดที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคทุกกลุ่มอายุ ได้เลือกซื้อทานกรุบกริบคู่กับกาแฟ หรือเครื่องดื่มที่ชื่นชอบตามรสนิยม เรียกได้ว่า เข้าร้านคาเฟ่ อเมซอน อิ่มครบจบทั้งเครื่องดื่มและอาหาร เมนูไหนก็อร่อยถูกใจ
ความสำเร็จของ “คาเฟ่ อเมซอน” ที่ครองใจคนไทยและนักท่องเที่ยว เกิดจากเบื้องหลังความใส่ใจในทุกกระบวนการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ เจ้าของแบรนด์คาเฟ่ อเมซอน ที่เข้าไปสร้างองค์ความรู้ตั้งแต่การปลูกกาแฟกับชาวเขา การเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟ ไปจนถึงการส่งมอบเข้าสู่กระบวนการคั่วกาแฟและบรรจุเมล็ดกาแฟ รวมถึงการผลิตเบเกอรี่ เพื่อกระจายส่งไปยังสาขาคาเฟ่ อเมซอน ทั่วประเทศ ก็เพื่อให้สินค้าอยู่บนมาตรฐานการผลิตเดียวกัน นับเป็นหัวใจสำคัญของการคงคุณภาพสินค้า
โออาร์ จึงเนรมิตพื้นที่ 200 ไร่ ต.สนับทึบ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ให้กลายเป็น ศูนย์ธุรกิจค้าปลีก โออาร์ ด้วยมูลค่าเงินลงทุนรวมประมาณ 6,000 ล้านบาท มีพนักงานในพื้นที่รวม 400 คน เพื่อร่วมกันยกประสิทธิภาพสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค
พื้นที่ศูนย์ธุรกิจค้าปลีกแห่งนี้ ประกอบด้วยไปด้วย 1 คลังสินค้า 3 โรงงาน ขณะนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์ทั้ง 4 แห่งแล้ว และกำลังจะกลายเป็น 4 จุดแข็งหลังบ้านของโออาร์ ที่จะเสริมประสิทธิภาพการใช้บริการและการแข่งขันในธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม(F&B) อย่างเต็มกำลังในปี 2565 เป็นต้นไป
ศูนย์ธุรกิจค้าปลีก โออาร์ แรกเริ่มได้จัดตั้ง “โรงคั่วกาแฟคาเฟ่อเมซอน” เมื่อราวปี 2558 เพื่อให้มีปริมาณผลผลิตเมล็ดกาแฟคั่วที่เพียงพอต่อความต้องการในการใช้งาน และมีคุณภาพเมล็ดกาแฟคั่วเหมาะสมตามมาตรฐานสูตรกาแฟคาเฟ่ อเมซอน โดยการแปรรูปเมล็ดกาแฟด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีเครื่องคั่ว 2 เครื่อง คือ 1. Probat เป็นเครื่องคั่วเครื่องแรกของโรงคั่ว เป็นเครื่องคั่วจากเยอรมัน 2. Brambati เนื่องจากความต้องการของตลาดมากขึ้น จึงต้องขยายกำลังการผลิต เป็นเครื่องคั่วจากอิตาลีที่มีขนาดใหญ่กว่า ซึ่ง 2 เครื่องคั่ว มีกำลังการผลิตประมาณ 15 ตันต่อวัน หรือ คิดเป็นราว 75% ของกำลังการผลิต ซึ่งเครื่องคั่วทำงานอัตโนมัติในเวลา 15-20 นาที โดยการคั่ว 1 ครั้งจะใช้กาแฟ 300 กิโลกรัม ภายในโรงคั่วกาแฟฯ แห่งนี้ยังเป็นระบบปิดทั่วหมด เพื่อควบคุมประสิทธภาพการผลิต
โออาร์ ยังก่อสร้าง ศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center) แห่งแรกของ Café Amazon ที่ล้ำสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ ขึ้นในศูนย์ธุรกิจค้าปลีก ซึ่งมีจุดเด่นเทคโนโลยีคลังสินค้าอัจฉริยะ ใช้หุ่นยนต์ทำงานมากกว่า 50 ตัว รับ เก็บ จ่าย และขนย้ายสินค้า มากกว่า 70% และสามารถเก็บสินค้าได้มากถึง 1.5 ล้านกล่อง รวมถึง ยังสามารถติดตามรถขนส่งได้ตั้งแต่เริ่มเข้ารับสินค้า จนถึงการส่งมอบปลายทางซึ่งจะช่วยสร้างความความเข้มแข็งด้าน Logistics ให้กับธุรกิจของ OR เช่น Texas Chicken อีกทั้งยังได้รับการประเมินมาตรฐานอาคารประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (LEED) ปัจจุบัน ศูนย์กระจายสินค้าแห่งนี้ ก่อสร้างเสร็จตั้งแต่เดือนพ.ค. 2564 ซึ่งในปี 2565 เป็นต้นไป จะทำให้รับ-ส่งสินค้าได้เต็มประสิทธิภาพ 100%
นอกจาก การจัดตั้งโรงงานคั่วกาแฟแล้ว วัตถุดิบสำคัญสำหรับเครื่องดื่มเมนูอื่นๆ โออาร์ ก็ให้ความสำคัญในมาตรฐานเช่นกัน จึงได้จัดตั้ง โรงงานผลิตผลผสม (Cocoa & Creamer Factory) เพื่อผลิตผงผสมกาแฟ โกโก้ และชาเขียว รวมถึง แบ่งบรรจุน้ำตาลทรายและครีมเทียม เพื่อเพิ่มความหวาน มัน สำหรับเมนูร้อน โดยโรงงานแห่งนี้ ใช้เครื่องจักรในการผลิตที่ทันสมัย มีมาตรฐาน สะอาด ปลอดภัย ตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร ชั่ง ตวง ตามสูตร ด้วยอุปกรณ์ที่แม่นยำ ผสมคลุกเคล้าวัตถุดิบทุกอย่างให้เข้ากัน และควบคุมการทำงานของเครื่องจักรด้วยระบบอัตโนมัติ บรรจุและส่งสินค้าไปยังศูนย์กระจายสินค้าได้อย่างรวดเร็วด้วยระบบสายพานลำเลียงอัตโนมัติ เพื่อส่งต่อถึงร้านคาเฟ่ อเมซอน อีกทั้ง ยังดูแลและใส่ใจในการรักษาสิ่งแวดล้อม ไม่มีการปล่อยของเสียออกสู่ชุมชน
สำหรับโรงานผลิตผงผสม มีกำลังการผลิตปีละ 13,000 ตัน ผลิตผงผสมทุกชนิดที่ใช้ในร้านคาเฟ่ อเมซอน ให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งโรงงานแห่งนี้ ก่อสร้างเสร็จราวเดือนก.ย.2564
ตลอดจน การจัดตั้ง โรงงานเบเกอรี่ (Bakery Factory) ที่ก่อสร้างเสร็จพร้อมกับโรงงานผลิตผงผสม โดยโรงงานเบเกอรี่ จะผลิตเบเกอรี่ชนิดสดและแห้ง เช่น ขนมปัง เค้ก คุ๊กกี้ และพัฟพาย มีกำลังการผลิต 2,000 ตันโดว์ต่อปี หรือ คิดเป็นครัวซอง 40 ล้านชิ้นต่อปี ซึ่งจะไปสู่เป้าหมายการผลิตใน 3 ปีจากนี้ และส่งออกสู่ร้านคาเฟ่ อเมซอน
ทั้งนี้ การจัดตั้งโรงงานเบเกอรี่ หัวใจสำคัญเพื่อต้องการควบคุมมาตรฐานคุณภาพสินค้า ขณะที่ราว 80% ของกำลังการผลิตยังเป็นร้านค้า SME ที่โออาร์ ให้ความสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตไปควบคู่กับผู้ประกอบการ
จิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ มองว่า ความพร้อมของคลังสินค้า และโรงงานดังกล่าว นับเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ Café Amazon เนื่องจากเป็นสถานที่ในการกระจายวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ไปยังร้านสาขากว่า 3,500 แห่ง อย่างถูกต้องทั้งประมาณและคุณภาพ ส่งตรงถึงสถานที่ที่ถูกต้อง ในเวลาที่เหมาะสม โดยมีต้นทุนในการดำเนินงานต่ำและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และทำให้ โออาร์ เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี่ด้าน Supply Chain ที่ทันสมัย
ขณะเดียวกัน การประชุมคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด โออาร์) เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2565 ยังได้อนุมัติแผนการขยายโรงงาน ระยะที่ 3 มูลค่า 850 ล้านบาท คาดในปี 2567 จะก่อสร้างแล้วเสร็จ พร้อมเดินเครื่องการผลิตได้ ซึ่งจะเพิ่มกำลังการผลิตกาแฟของอเมซอน เป็น.10,000 ตันต่อปี จากปัจจุบันมีกำลังการผลิต 4,500 ตันต่อปี โดยโรงงานแห่งที่ 3 นี้ จะเป็นระบบคั่วแบบใหม่ ใช้ความร้อนเป่า ทำให้เมล็ดกาแฟได้รับความร้อนทั่วทั้งเมล็ด มีความสดและมีคุณภาพมากขึ้น
ในอนาคต หรือในปี 2566 Café Amazon ในประเทศไทย จะเพิ่มเป็น 5,000 สาขา ทั้งในและนอกปั๊ม เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่จะเข้ามาใช้บริการมากขึ้น และเพื่อสร้างเอกลักษณ์ของร้าน Café Amazon ให้ผสมผสานกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ดึงดูดผู้บริโภค สร้างความผ่อนคลาย
โออาร์ จึงมุ่งเน้นเปิด Café Amazon Concept Store ในอนาคตให้มากขึ้น หลังสาขาแรกในประเทศไทย ประสบความสำเร็จ และถือเป็น Landmark แห่งใหม่ของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่สาขาพหลโยธิน กม.56 ด้วยการหยิบเอาวัตถุดิบจากชุมชนที่ตั้งของร้าน มาสร้างสรรค์เป็นเมนูพิเศษที่จำหน่ายเฉพาะสาขานี้เท่านั้น อย่าง Unicorn Cotton Candy Frappe เมนูยูนิคอร์นสายไหมอยุธยา เคียงคู่กับ Americoco อเมริกาโนมะพร้าวหอมชื่นใจ อีกทั้งยังมีสินค้าพิเศษที่คาเฟ่ อเมซอนรับซื้อมาจากวิสาหกิจชุมชน หรือ SME ท้องถิ่น แล้วนำมาสร้างสรรค์ให้กลายเป็นสินค้าพรีเมียมสุด Exclusive ที่หาไม่ได้จากร้านอื่นๆ
อีกทั้งยังมี Light Meal เบเกอรีอบร้อน ทั้งครัวซอง ทั้งซุป ให้บริการทั้งวัน เมนูกาแฟที่หลากหลาย สินค้ารักษ์โลก ไปจนถึงวัสดุตกแต่งร้านก็ถูออกแบบมาเพื่อโลกของเรา การเข้าไปอยู่ในชุมชนและสนับสนุนการจ้างงาน วัตถุดิบ ตลอดจนกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่ และเตรียมพบกับคาเฟ่ อเมซอน สาขาเวียงจันทน์และสาขาวิภาวดี62 ได้ในเร็วๆ นี้
ส่วนต่างประเทศ ร้าน Café Amazon ยังมีแผนขยายสาขาเพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้า ภายในปี 2568 จะมีสาขา ในต่างประเทศ 1,000 สาขา มีรายได้ 34,000 ล้านบาท จากปัจจุบันมีอยู่ 298 สาขา ใน 10 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา, ลาว, ฟิลิปปินส์, เมียนมาร์, โอมาน, สิงคโปร์, จีน, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย และเวียดนาม