‘OR’ มั่นใจ กำไรปี 67 โตใกล้เคียงปี 66 “เศรษฐกิจ- ท่องเที่ยว” ฟื้น หนุนยอดขาย

ผู้ชมทั้งหมด 610 

ทิศทางอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ(GDP)โลก ในปี 2567 ตามคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ประเมินว่า จะเติบโต 3.2% แม้ลดลงจากปีก่อนที่ขยายตัว 3.3% แต่ในส่วน GDP ไทย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่า ในปี 2567 จะเติบโต 2.3-2.8% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน อยู่ที่ 1.9% และหากเทียบกับ GDP ของประเทศเพื่อนบ้าน ในปี 2567 พบว่า กัมพูชา จะเติบโต 6% , สปป.ลาว เติบโต 4% เวียดนาม เติบโต 5.8% และฟิลิปปินส์ เติบโต 6% ซึ่งจะเห็นว่า เศรษฐกิจเพื่อนบ้านเติบโตดีกว่าไทย

ดันนั้น ทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ จะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ผู้ค้าน้ำมัน เบอร์ 1 ของไทย ที่มีส่วนแบ่งการตลาดน้ำมัน(มาร์เก็ตแชร์) อยู่ที่ระดับ 39.2% ให้มีผลการดำเนินงานที่ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2566

แม้ว่าในปี 2567 OR จะเผชิญกับผลกระทบข่าวปลอม (Fake News) ทำให้ส่วนแบ่งการตลาด(มาร์เก็ตแชร์)ของOR ลดลงเล็กน้อย อาจส่งผลให้ภาพรวมของวอลุ่มทั้งปีนี้ ลดลงราว 3-5% จากปีก่อน อย่างไรก็ตามปริมาณการขายที่ลดลงจากการเสียมาร์เก็ตแชร์นั้น ทาง OR ได้จัดทำโปรโมชั่นและแผนการตลาดเพื่อแก้ไขวอลุ่มให้กลับมา โดยจะเห็นว่าในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา วอลุ่มทยอยกลับคืนมาแต่หากเทียบกับช่วงไตรมาส 2 ของปีก่อน วอลุ่มยังกลับมาไม่ 100% แต่แนวโน้มดีขึ้นเรื่อยๆ

ขณะเดียวกัน ในปีนี้ OR คาดว่า จะได้รับประโยชน์จากจำนวนนักท่องเที่ยว ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 35.5 ล้านคน แม้จะยังไม่เท่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 อยู่ที่ 41 ล้านคน แต่การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวขึ้นจะช่วยสนับสนุนยอดขายน้ำมันและน้ำมันเครื่องบิน

ทั้งนี้ ยังต้องติดตามปัจจัยยเสี่ยงทั้งจากปัญหาสงครามการค้า การตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐฯที่ต้องการสกัดสินค้าจากจีน ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่อาจส่งผลต่อความผัวผวนของราคาน้ำมัน ซึ่งในปี2567 กลุ่ม ปตท. (PRISM Experts) คาดการณ์ ราคาดูไบ เฉลี่ยอยู่ที่ 79-89 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่เงินบาท คาดว่าจะอยู่ในกรอบ 34.5-37.5 บาทต่อดอลลาร์

นางสาววิไลวรรณ กาญจนกันติ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านบริหารการเงิน บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ระบุว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของ OR ในช่วงไตรมาส3 ปี 2567 คาดว่าผลประกอบการจะอยู่ในระดับใกล้เคียง หรืออ่อนตัวลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ที่มีรายได้อยู่ที่ 361,922 ล้านบาท มีEBITDA อยู่ที่ 11,016 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ อยู่ที่ 6,260 ล้านบาท โดยในช่วงไตรมาส 3 อาจได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้ในส่วนของกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลง แต่ในทางกลับกันหากเงินบาทอ่อนค่าลงก็จะเป็นผลบวกต่อOR เนื่องจากมีรายรับเป็นดอลลาร์ฯ

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณารายธุรกิจ พบว่า ธุรกิจ Mobility คาดว่าวอลุ่มจะอ่อนตัวลงจากไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามซีซั่นนอลที่เข้าสู่ฤดูฝน ขณะที่กำไรขั้นต้นต่อลิตร คาดว่า จะสามารถรักษาค่าการตลาด (Marketing Margin) อยู่ที่ระดับ 0.90 – 1 บาทต่อลิตรได้ ส่วนธุรกิจ Lifestyle ปัจจุบัน EBITDA Margin อยู่ที่สัดส่วน 27% ก็คาดว่าจะสามารถรักษาระดับ 27% ขึ้นไปถึง 28% ได้ ซึ่งในส่วนของคาเฟ่ อเมซอน ยอดขายทำนิวไฮต่อเนื่อง เมื่อไตรมาส 2 ที่ผ่านมา เฉลี่ยอยู่ที่ 102 ล้านแก้ว และไตรมาส 3 คาดว่า จะยังทำได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านแก้ว และธุรกิจ Global คาดว่าจะเติบโตขึ้น โดยเฉพาะวอลุ่มการขายจากฟิลิปปินส์ที่กลับมาแล้วและวอลุ่มของกัมพูชาที่ยังเติบโตจะเป็นปัจจัยสนับสนุนวอลุ่มการขายในภาพของธุรกิจต่างประเทศและส่งผลให้มีกำไรเพิ่มขึ้น

ส่วนแนวโน้มค่าการตลาดน้ำมัน ในไตรมาส 3 ปี2567 โดยค่าการตลาดปกติของ OR จะอยู่ที่ระดับ 0.70- 1.20 บาทต่อลิตร ซึ่งในไตรมาส 3 คาดการณ์ว่าจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ที่ระดับ 0.90-1 บาทต่อลิตร

สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานทั้งปี 2567 คาดว่า กำไรสุทธิจะอยู่ในระดับใกล้เคียงกับผลการดำเนินงาน ในปี 2566 มีกำไรสุทธิจำนวน 11,094 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากปริมาณการขาย(วอลุ่ม) สินค้าคอมมูนิตี้ ที่เป็นในส่วนของธุรกิจหลัก มีสัดส่วนราว 70% ของรายได้รวมนั้น จากการที่ OR เผชิญกับผลกระทบข่าวปลอม (Fake News) ทำให้ส่วนแบ่งการตลาด(มาร์เก็ตแชร์)ของOR ลดลงเล็กน้อย อาจส่งผลให้ภาพรวมของวอลุ่มทั้งปีนี้ ลดลงราว 3-5% จากปีก่อน ส่วนธุรกิจ Lifestyle ยังเติบโตต่อเนื่อง แม้ว่าคาเฟ่ อเมซอน ยอดขายในไตรมาส 3 อาจอ่อนตัวลงบ้างเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน แต่เชื่อว่า ไตรมาส 4 ยอดขายคาเฟ่ อเมซอน จะทำนิวไฮเมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ EBITDA Margin จะยังรักษาระดับ 27 -28 % ไว้ และอาจทำได้ดีถึง 29% ส่วนธุรกิจ Global ตัววอลุ่มดีขึ้น และ EBITDA Margin กลับคืนมาระดับ 3-4% ฉะนั้นทั้งปีคาดว่า กำไรทั้งปีจะใกล้เคียงกับปีก่อน

ทั้งนี้ ครึ่งแรกปี 2567 (ณ 30 มิ.ย.) พบว่า OR มีสถานีบริการ PTT Station ทั้งสิ้น 2,681 แห่ง แบ่งเป็นในประเทศ 2,269 แห่ง ในต่างประเทศ 412 แห่ง มีร้านคาเฟ่ อเมซอน อยู่ที่ 4,652 แห่ง มีสถานีชาร์จ EV Station PluZ จำนวน 963 แห่ง หรือ ติดตั้ง 1,802 หัวชาร์จ ครอบคลุม 77 จังหวัด และมีร้าน Convenience Store จำนวน 2,340 สาขา

ปี2567 OR ยังมีแผนขยายสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น เพิ่ม 100 แห่งในประเทศไทย ส่วนต่างประเทศจะขยายตามการเติบโตของเศรษฐกิจประมาณ 20 แห่ง ขณะที่ ร้านคาเฟ่ อเมซอน ตั้งเป้าขยายสาขาเพิ่ม 300 แห่ง