ผู้ชมทั้งหมด 497
ปี 2566 เป็นปีที่ “กัมพูชา” จัดอีเว้นท์ใหญ่หลายงาน ทั้งการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬา ซีเกมส์ ครั้งที่ 32 ของกัมพูชาในเดือน พ.ค. และอาเซียนพาราเกมส์ ครั้งที่ 12 ในเดือน มิ.ย. ตลอดจนการเลือกตั้งในเดือน ก.ค. รวมถึง แผนการเปิดใช้สนามบินเสียมราฐในต.ค. ขณะที่ กองทุนสำรองระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจกัมพูชา จะขยายตัว 5.8% ในปี 2566 ฟื้นตัวตามภาคการท่องเที่ยวและอุปสงค์ภายในประเทศ โดยคาดหมายว่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มาเยือนได้ 4 ล้านคนในปีนี้ ปัจจัยดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นภาคการบริการของกัมพูชาในปีนี้
บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ซึ่งมีฐานการลงทุนอยู่ในกันพูชา ผ่านบริษัทลูก คือ บริษัท ปตท. (กัมพูชา) จำกัด (PTTCL) ครอบคลุมธุรกิจทั้งด้านน้ำมันและการค้าปลีก ที่ตอบสนองความต้องการด้าน Lifestyle ไม่ว่าจะเป็นร้านคาเฟ่ อเมซอน ร้านสะดวกซื้อ รวมทั้งธุรกิจเสริมอื่นๆ ซึ่งเป็นพันธมิตรของ OR ผ่านช่องทางทั้งในและนอก พีทีที สเตชั่น นอกจากนี้ ยังจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้กับกลุ่มลูกค้าตลาดพาณิชย์ ทั้งกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมและอาคารพาณิชย์และกลุ่มค้าส่งน้ำมัน การจำหน่ายน้ำมันอากาศยานให้กับสายการบิน รวมถึงการจำหน่ายผลิตภัณฑ์หล่อลื่น PTT Lubricants OR เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจในกัมพูชา โดยมีแผนที่จะขยายตลาดอื่นๆในอนาคต เช่น LPG และยางมะตอย เป็นต้น
ดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ระบุว่า การขยายฐานธุรกิจเพื่อสร้างความสำเร็จและการยอมรับในตลาดโลก (Global Market) นับเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของ OR จากพันธ์กิจทั้งหมด 4 ด้าน คือ Seamless Mobility, All Lifestyles, Global Market และ OR Innovation ซึ่งมุ่งดำเนิน ธุรกิจผ่านวิสัยทัศน์ “Empowering All toward Inclusive Growth” เติมเต็มโอกาส เพื่อทุกการเติบโต ร่วมกัน
โดย OR เล็งเห็นถึงความสำคัญของธุรกิจในสายงานต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจ Mobility กลุ่มธุรกิจ Lifestyle และธุรกิจอื่น ๆ ซึ่งล้วนเป็นทรัพยากรที่สำคัญของ OR ในการดำเนินธุรกิจให้เติบโตต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืน ด้วยการส่งเสริมแนวคิด นโยบาย และกลยุทธ์ในการดำเนินงาน ให้กับธุรกิจต่างประเทศ ผ่าน OR SDG หรือ SDG ในแบบฉบับของ OR เพื่อให้สอดรับกับแนวทางการขยาย Global Portfolio ทั้งด้าน S -SMALL โอกาสเพื่อคนตัวเล็ก D – DIVERSIFIEDโอกาสเพื่อการเติบโตทุกรูปแบบ และ G – GREEN โอกาสเพื่อสังคมสะอาด โดยตลาดหลักของธุรกิจต่างประเทศที่ OR มุ่งให้ความสำคัญ ได้แก่ ก้มพูชา สปป. ลาว และฟิลิปปินส์
ทั้งนี้ OR ต่อยอดรูปเเบบทางธุรกิจจากความสำเร็จในประเทศสู่เวทีนานาชาติด้วยการผสมผสานกลุ่มธุรกิจ Mobllity กลุ่มธุรกิจ Lifestyle และธุรกิจอื่น ๆ ให้เป็นรูปแบบทางธุรกิจที่สนับสนุนซึ่งกันและกันอย่างลงตัว เพื่อใช้เป็นต้นแบบในการขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศ สร้างชื่อเสียงให้แบรนด์ไทยเป็นที่รู้จักในระดับสากล
“การขยาย Global Portfolio ของ OR และการมุ่งสร้างความแข็งแรงทางโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับการขยายตัว ทางธุรกิจ Mobility อย่างยั่งยืนต่อไป” ดิษทัต กล่าว
เมื่อเร็วๆนี้ PTTCL ยังได้ต่อยอดขยายธุรกิจในกัมพูชา โดยจับมือกับ บริษัท เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชั่น (KNX) เข้าร่วมพิธีลงนามในสัญญามอบสิทธิ Single Unit Franchise ธุรกิจ “อ๊อตเทริ วอชแอนด์ดราย” (Otteri Wash & Dry) ในประเทศกัมพูชาและร่วมเปิดร้านสะดวกซัก “อ๊อตเทริ วอชแอนด์ดราย” สาขาแรกอย่างเป็นทางการ ในสถานีบริการน้ำมันพีทีที สเตชั่น Chbar Ampov ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยธุรกิจดังกล่าวมุ่งเน้นการนำเสนอบริการร้านสะดวกซักรูปแบบเดียวกับในประเทศไทยเพื่อให้ผู้บริโภคในกัมพูชาได้เข้าถึงการบริการซักผ้าและอบผ้าในรูปแบบการบริการตนเอง (Self-service) ขณะเดียวกัน PTTCL ยังมีแผนการขยายสาขาร้านสะดวกซัก “อ๊อตเทริ วอชแอนด์ดราย” จำนวน 3 สาขา ในประเทศกัมพูชา ภายในปี2566
โดย KNX เป็นบริษัทที่ OR เข้าลงทุนถือหุ้นในสัดส่วน 40% ดำเนินธุรกิจจำหน่ายเครื่องซักผ้า และเครื่องอบผ้าแบบอุตสาหกรรม รวมถึงประกอบกิจการร้านสะดวกซัก ภายใต้แบรนด์ชื่อ “อ๊อตเทริ วอชแอนด์ดราย” และเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งของไทยที่ปัจจุบันมีจำนวนสาขากว่า 950 แห่งทั่วประเทศไทย ด้วยเล็งเห็นถึงโอกาสในการบุกเบิกตลาดร้านสะดวกซักในประเทศกัมพูชา
ณัฐพงศ์ แก้งตระกูลพงษ์ Managing Director บริษัท ปตท. (กัมพูชา) จำกัด (PTTCL) ระบุว่า กัมพูชา ถือเป็นประเทศยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจที่สำคัญเพื่อสร้างรายได้ของ OR ที่เปรียบเสมือนบ้านหลังที่ 2 รองจากประเทศไทย โดย PTTCL ดำเนินธุรกิจ Mobility และธุรกิจ Lifestyle ในประเทศกัมพูชา ภายใต้แบรนด์ของ OR มีจำนวน พีทีที สเตชั่น 163 สถานี ร้านคาเฟ่ อเมซอน 229 สาขา ร้อนสะดวกซื้อ 68 สาขา และ FIT Auto 1 สาขา (ข้อมูล ณ 31 มีนาคม 2566)
สำหรับทิศทางการดำเนินงานของ OR ในปี 2566 ยังเดินหน้าสร้างการเติบโตตามกลยุทธ์การลงทุนช่วง 5ปี (2566-2570) ที่ใช้งบลงทุน 1.1 แสนล้านบาท และปี 2566 จะใช้งบลงทุน ประมาณ 3.1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในธุรกิจ Lifestyles สัดส่วน 45% หรือ จำนวน 14,193 ล้านบาทธุรกิจMobility สัดส่วน 22% หรือ จำนวน 6,799 ล้านบาทธุรกิจ Global Market สัดส่วน 16% หรือ จำนวน 4,954 ล้านบาท และธุรกิจ Innovation สัดส่วน 17% หรือจำนวน 5,251 ล้านบาท โดย OR จะมุ่งเน้นการเติบโตร่วมกับพันธมิตรพร้อมตั้งเป้าหมายจะมีรายได้จากความร่วมมือในการทำธุรกิจราว 50%
โดยปีนี้ จะขยายธุรกิจในต่างประเทศ จะเน้นการเจาะตลาดในกัมพูชามากขึ้น เนื่องจากคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะเติบโตขึ้น 6.2% จากปีก่อน เติบโต 5.1% และกัมพูชา เป็นประเทศที่ไม่มีโรงกลั่นน้ำมัน จึงจำเป็นต้องนำเข้าน้ำมัน จึงเป็นโอกาสของ OR ทั้งการเจาะตลาดจะเน้นทั้ง ธุรกิจ Mobility และธุรกิจ Lifestyle
อย่างไรก็ตาม การลงทุนของ OR ยังต้องจับตาสถานการณ์การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อาจจะกระทบการส่งออก และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ อีกทั้งต้องจับตาผลกระทบเงินเฟ้อ ต่อความสามารถในการชำระหนี้โดยเฉพาะหนี้ภาคเอกชนท่ามกลางภาวะการเงินที่ตึงตัวขึ้น ตลอดจนการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูง ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าเงินผันผวนมากขึ้น