OR ชู “มาตรฐานดี” ดึงโมเดลธุรกิจในไทย ขยายสาขา “พีทีที สเตชั่น – คาเฟ่ อเมซอน” ใน ลาว

ผู้ชมทั้งหมด 522 

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว “สปป.ลาว” ประเทศขนาดเล็ก บนพื้นที่ 236,800 ตารางกิโลเมตร มีจำนวนประชากรกว่า 7.5 ล้านคน ที่มีพรมแดนติดกับประเทศไทยทางทิศตะวันตก กั้นด้วยแม่น้ำโขงเป็นบางช่วง ด้วยทั้งสองประเทศมีพรมแดนติดกันและแสดงออกถึงความคล้ายคลึงกันทางภาษาและวัฒนธรรม สปป.ลาวจึงนับเป็นอีกหนึ่งประเทศสำคัญในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศไทย จึงไม่แปลกที่สินค้าไทยจะเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย อีกทั้งความอุดมสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ ของสปป.ลาว

ตลอดจนการเปิดให้บริการ “รถไฟฟ้าความเร็วสูงลาว-จีน” ในช่วงปี 2564 ได้ขยายระยะทางขนส่งผู้โดยสารข้ามประเทศจากนครหลวงเวียงจันทน์ของลาว ถึงนครคุนหมิงของจีน กลายเป็นจุดเริ่มต้นช่องทางเชื่อมโยงเศรษฐกิจที่สำคัญระหว่างลาว-จีน และยังเปิดกว้างการท่องเที่ยวในสปป.ลาวให้สะดวกมากขึ้น ทำให้นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้าไปหาโอกาสการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือOR ผู้ค้าน้ำมันที่มีส่วนแบ่งการตลาด(มาร์เก็ตแชร์) เบอร์ 1 ในประเทศไทย เป็นหนึ่งในบริษัทข้ามชาติที่เล็งเห็นถึงโอกาสขยายการเติบโตด้านธรุกิจพลังงาน ในสปป.ลาว จึงเข้าไปปักหมุดลงทุน เมื่อปี 1993 (พ.ศ.2536) ถึงปัจจุบัน( พ.ศ.2567) เป็นเวลาร่วม 31 ปี ภายใต้ชื่อ บริษัท หัวของการค้า จำกัด ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น PTT (Lao) Co., Ltd. หรือ PTTLAO ในปี 2012 (พ.ศ.2555) เพื่อประกอบธุรกิจครบวงจร ทั้งค้าปลีกน้ำมันและธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน (Nonoil) นับเป็นบริษัทต่างชาติอันดับต้นๆ ที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากประชากรลาว หรือ เรียกได้ว่า “Brand Love”

การดำเนินธุรกิจในสปป.ลาว ของ OR ที่ประสบความสำเร็จ และมีอนาคตการเติบโตต่อเนื่อง ทางทีมผู้บริหาร OR จึงได้นำคณะสื่อมวลชนจากประเทศไทยเกือบ 30 คน เยี่ยมชมธุรกิจในสปป.ลาว ทั้งสถานีบริการน้ำมัน และร้านกาแฟ ระหว่าง 25-27 ก.ค. 2567 โดยมีนายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR พร้อมด้วย นายสุชาติ ระมาศ ผู้อำนวยการใหญ่ และ นายรชา อุทัยจันทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ด้านธุรกิจต่างประเทศ ของ OR รวมถึง นายพีรเวท ณ ระนอง Managing Director บริษัท พีทีที (ลาว) จำกัด (PTTLAO) นำเยี่ยมชมธุรกิจ OR ที่เมืองนครหลวงเวียงจันทน์ พร้อมกับนั่ง“รถไฟฟ้าความเร็วสูงลาว-จีน” ไปยังแขวงหลวงพระบาง

การเยี่ยมชมธุรกิจของ OR ในครั้งนี้ ตอกย้ำให้เห็นว่า คงมีประชากรลาวน้อยคนนักที่ไม่รู้จัก “ร้านคาเฟ่ อเมซอน” เพราะเป็นร้านกาแฟ อันดับต้นๆที่ได้รับความนิยมในสปป.ลาว ที่ครองใจประชากรหลากหลายกลุ่มตั้งแต่ชาวบ้านทั่วไป นักศึกษา นักธุรกิจ รวมถึงชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในสปป.ลาว ที่มักจะแวะเวียนเข้ามาใช้บริการ ด้วยจุดเด่นการออกแบบร้านที่สวยงานสะดุดตา ด้วยการผสมผสานวัฒนธรรมให้เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น ขณะที่ทำเลที่ตั้งของร้านฯ จะเน้นพื้นที่ชุมชนเป็นหลัก ร้านคาเฟ่ อเมซอน ในแต่ละพื้นที่จึงมักจะกลายเป็นศูนย์กลางชุมชน สำหรับนัดพบปะและในอนาคตจะเพิ่มพื้นที่สำหรับจัดทำเป็นห้องประชุมให้กับผู้มาใช้บริการด้วย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในนครหลวงเวียงจันทน์ คือ ร้านคาเฟ่ อเมซอน Concept Store สาขา โรงกายะสิน ตั้งอยู่ในพื้นที่ “โฮงกายยะสิน” มรดกสหภาพโซเวียต  ปี 2533 ที่บ้านสะหว่าง เมืองจันทะบูลี ถือเป็นร้าน Concept Store ร้าน Cafe Amazon Concept store ที่แรกในต่างประเทศ และ แห่งแรกในสปป.ลาว Landmark แห่งใหม่ของนครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการต่อเนื่อง

ร้านคาเฟ่ อเมซอน Concept Store สาขา โรงกายะสิน เปิดดำเนินการเมื่อเดือนธันวาคม 2566 ด้วยธีมของสาขานี้คือ “The door to the local culture” คาเฟ่ อเมซอนจึงหยิบเอาวัตถุดิบจากชุมชนที่ตั้งของร้าน มาสร้างสรรค์ 3 เมนูพิเศษที่จำหน่ายเฉพาะสาขานี้เท่านั้น

อย่างเมนู Tum Mak Hoong ที่หยิบยกความเป็น culture หรือความเป็น local ของที่ลาว ขึ้นมาให้เป็นจุดเด่น โดยตั้งต้นมาจากส้มตำลาว โดยที่เบสของเครื่องดื่มจะเป็น ชาขาว 400 ปี (สินค้าหลักของบ้านกอแมน แขวงผ้งสาลี ภาคเหนือสุดของลาว)

ตามด้วยเมนู Roselle Beer Laos อีกสิ่งหนึ่งที่ขึ้นชื่อสำหรับประเทศลาว ก็คงหนีไม่พ้นเบียร์ลาว ผสมกับไซรัปกระเจี๊ยบหอมชื่นใจ

และเมนูเอาใจคนรักกาแฟ Kayasin Frappe เพราะมีส่วนผสมของกาแฟ นำมาปั่นเข้ากับนมมะพร้าว ให้รสชาติละมุนนุ่มนวลสุดๆ

อีกทั้ง ยังมีสินค้าพิเศษที่คาเฟ่ อเมซอนรับซื้อมาจากวิสาหกิจชุมชน หรือ SME ท้องถิ่น แล้วนำมาสร้างสรรค์ให้กลายเป็นสินค้าพรีเมียมสุด Exclusive เช่น กระเป๋าผ้า ปักแฮนด์เมด ผสมผสานผ้าทอลายพื้นเมือง เป็นต้น

ส่วนที่แขวงหลวงพระบาง ร้านคาเฟ่ อเมซอน สาขาหลวงพระบาง ก็เป็นอีกจุดนัดหมายที่สำคัญ เพราะตั้งอยู่กลางชุมชนและใจกลางแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในเมืองมรดกโลก การออกแบบร้านมีเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมอาคารภายนอกที่อนุรักษ์ไว้ซึ่งความดั้งเดิมของเมืองทั้งวัตถุ สถานที่ รวมถึงวัฒนธรรมประเพณีของลาวแล้ว เข้ากับความเป็นแบรนด์ Café Amazon อย่างลงตัว

สาขานี้ ยังมีเมนูใหม่ห้ามพลาด อย่าง Iced Strawberry Butterfly Pea Latte รสชาติหอมหวานของสตรอเบอร์รี น้ำผึ้งแท้และดอกอัญชัน ผสานกับกาแฟรสชาติเข้มข้นสูตรเฉพาะของ Café Amazonได้อย่างอร่อยลงตัว และ Strawberry Butterfly Pea Frappe รสชาติหอมหวานสดชื่นของสตรอเบอร์รี น้ำผึ้งแท้และดอกอัญชัน ปั่นเข้ากับนมสดแท้คุณภาพ พร้อมอร่อยเคี้ยวเพลินกับท็อปปิ้งบุกเน้นๆ

ด้วยความใส่ใจในรายละเอียดทุกขั้นตอนส่งผลให้ยอดขายกาแฟผ่านร้านคาเฟ่ อเมซอน ในสปป.ลาว เฉลี่ยต่อวันต่อสาขา อยู่ที่ประมาณ 200 แก้ว ถือเป็นการตอบรับที่ดีมาก

นายพีรเวท ณ ระนอง กรรมการผู้จัดการ PTTLAO เล่าว่า ร้านคาเฟ่ อเมซอน เข้ามาเปิดสาขาแรกในสปป.ลาว เมื่อปี 2014(พ.ศ.2557) หรือราว 10 ปีก่อน ปัจจุบัน มีอยู่ 94 สาขา และจะครบ 110 สาขาในสิ้นปี2567 ก่อนเพิ่มเป็น 150 สาขาในปี 2573 ตามกลยุทธ์การเติบโตภายใต้ธุรกิจ Nonoil อีกทั้งยังพัฒนาการให้บริการที่ตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ที่หลากหลาย ทั้งธุรกิจ Lifestyle ที่มีทั้งร้านสะดวกซื้อที่ปัจจุบัน PTTRM เข้ามาบริหารร้านจิฟฟี่ แล้ว 35 สาขา แต่ขณะนี้กำลังเตรียมดึงพันธมิตรร้านเซเว่นอีเลฟเว่นเข้ามาเปิดบริการสาขาแรกที่สามแยกสะหวันเซโน สะหวันนะเขต ในวันที่ 7 สิงหาคม 2567 และในอนาคตจะขยายสาขาต่อไปอีกปีละ 5 สาขา ซึ่งจะเป็นทั้งการเปิดร้านสะดวกซื้อตามการขยายสถานีบริการใหม่ และเปิดแทนที่ร้านจิฟฟี่ นอกจากนี้ ยังได้เปิด ร้านอาหารข้าวเปียกปูด้วย

ในส่วนธุรกิจน้ำมัน(Oil) มีสถานีบริการน้ำมัน PTT Station ก็ถือเป็นสถานีบริการอันดับต้นๆที่ลูกค้าในสสป.ลาวเลือกใช้บริการ เพราะมีความหลากหลายของสินค้า ปัจจุบัน สถานีบริการน้ำมัน PTT Station มีจำนวน 56 แห่ง และจะเพิ่มเป็น 63 แห่งในสิ้นปี2567 อีกทั้งมีแผนขยายเป็น 71 แห่งในปี 2573 แม้ว่า สปป.ลาว จะมีจำนวนประชากรน้อยกว่าไทย แต่ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพเนื่องจากมีการเข้ามาของทุนจีน ทำให้การใช้น้ำมันสูงขึ้น โดยภาพรวมตลาดน้ำมันใน สปป.ลาว มีความต้องการใช้ปีละ 140 ล้านลิตร ซึ่ง PTTLAO ครองสัดส่วนอยู่ 20 ล้านลิตร ติดในกลุ่มท็อป 5 ร่วมกับแบรนด์อื่นทั้งหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของ สปป.ลาว แบรนด์ท้องถิ่น และแบรนด์ต่างชาติอื่นๆ

ขณะที่การขยายสถานีบริการจะควบคู่กับ “ธุรกิจคลังน้ำมัน” ซึ่งกักเก็บได้ 7.8 ล้านลิตร รองรับความต้องการใช้ได้นาน 10 วัน ซึ่งธุรกิจนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ทำให้สปป.ลาว ไม่ขาดแคลนน้ำมัน

นอกจากนี้ ภายในสถานีบริการน้ำมัน ยังมีการขยายสาขา ทั้งศูนย์บริการยานยนต์ฟิต ออโต้ (FIT Auto) และฟิต เอ็กซ์เพรส (FIT Express) รวม 9 สาขา รวมถึงธุรกิจน้ำมันเครื่องพีทีที ลูบริแคนทส์ (PTT Lubricants) ซึ่งในปี 2567 จะมีการขายเพิ่มเป็น 5 ล้านลิตร จากปี 2566 อยู่ที่ 4.2 ล้านลิตร นับเป็นการสร้างเรกคอร์ดใหม่ทางธุรกิจ โดยจะขยายการเติบโตไปในส่วนของยานยนต์ เช่น รถบรรทุกที่มาเชื่อมผ่านเส้นทางรถไฟจีน-ลาว และเครื่องจักรกลทางการเกษตร ซึ่งน้ำมันเครื่องจะนำเข้าจากไทย 100%

PTTLAO ยังเล็งเห็นโอกาสในธุรกิจพลังงานสะอาด จึงได้จัดตั้ง สถานีชาร์จไฟฟ้าอีวี สเตชั่น พลัส (EV Station PluZ) จำนวน 5 แห่ง และสิ้นปี2567 จะเพิ่มเป็น 12 แห่ง และจะขยายเป็น 18 แห่งในปี 2568 เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระบบขนส่งแบบไร้รอยต่อ (Seamless Mobility) แม้ว่าปัจจุบัน จะมีผู้ใช้รถEVในสปป.ลาว ประมาณ 3,000 กว่าคันเท่านั้น แต่ในอนาคตจะเติบโตขึ้น ฉะนั้นเป้าหมายในอนาคตการขับรถEV ตลอดระยะทางเหนือจดใต้ 1,300 กม. จะต้องสามารถชาร์จEV ได้อย่างปลอดภัย

สำหรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจของ PTTLAO จะยึดตามโมเดลและมาตรฐานในประเทศไทย คือ มาตรฐาน 4 ชัวร์ คือ 1. สะดวก/สบายชัวร์ 2. คุณภาพชัวร์ มีห้องแล็บและคลังที่ไม่มาตรฐานสากล 3. เติมเต็มลิตรชัวร์ และ 4. ปลอดภัยชัวร์ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้การดำเนินธุรกิจในสปป.ลาวประสบความสำเร็จ ขณะที่การใช้งบประมาณลงทุนในสปป.ลาว ในปี2567 ยังใช้งบฯไม่มากนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นการปรับปรุงคลังน้ำมัน ประมาณ 40 ล้านบาท ขณะที่การขยายสถานีบริการน้ำมัน เป็นการลงทุนโดยดีลเลอร์ ส่วนการขยายร้านคาเฟ่ อเมซอน จะใช้ประมาณ 18 ล้านบาท และจะมีการลงทุนร้านสะดวกซื้อ เงินลงทุนประมาณ 30 ล้านบาท

นอกจากนี้ PTTLAO ยังเห็นถึงโอกาสขยายตัวจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานใน สปป.ลาว ซึ่งถือเป็น Strategic Location อีกแห่ง เนื่องจากทุนจีนเข้ามาลงทุนจำนวนมาก ล่าสุด การก่อสร้างทางด่วนเวียงจันทน์ไปวังเวียงเสร็จแล้ว และจะขยายมากขึ้น จึงเป็นโอกาสสร้างการเติบโตให้กับกลุ่มสินค้ายางมะตอย น้ำมันเตา โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม ดังนั้นจึงเร่งทำการตลาดสินค้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้น

นายพีรเวท มองว่า การขับเคลื่อนธุรกิจในสปป.ลาว ถือเป็นความท้าทาย เนื่องจากเผชิญกับวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ทางด้านการเงินมา 3-4 ปีแล้ว ส่งผลให้อัตราอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินกีบผันผวนและอ่อนค่าลงอย่างเห็นได้ชัด จากปี 2551 ค่าเงินกีบ อยู่ที่ 250 กีบต่อบาท แต่ปี2567 อยู่ที่เกือบ 700 กีบ ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ต้นทุนค่าไฟฟ้า และค่าแรงปรับเพิ่มขึ้น แต่คาดว่าในปี 2568 เศรษฐกิจจะเริ่มคลี่คลาย จากการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล

ขณะที่ PTTLAO ได้วางแผนเตรียมรับมือ ทั้งในการบริหารจัดการต้นทุนสต๊อกให้เกิดประสิทธิภาพ ปรับลดจำนวนวันในการสต๊อกลง แต่ต้องมีความมั่นคงด้านพลังงาน และสร้าความเชื่อมั่นด้านโลจิสติกส์ รวมถึงบริหารจัดการรายรับ-รายจ่าย ให้เหมาะสมกับสกุลเงินในแต่ละช่วงเวลา เพื่อลดความผัวผวนของค่าเงิน รวมถึงปรับขึ้นค่าแรงเพื่อดึงดูดแรงงานไว้เป็นต้น

อีกทั้งยังดำเนินธุรกิจใหม่ต่อยอดเพื่อสร้างรายได้จากต่างประเทศกลับเข้ามาอีกทาง โดยอาศัยจุดแข็งที่ สปป.ลาวมีชื่อเสียงเรื่องการเป็นแหล่งปลูกกาแฟ โดยส่งออกเมล็ดกาแฟไป ไทย ประมาณ 380 ตันในปี 2566 และจะส่งออกเพิ่มขึ้นในปี2567 รวมถึงส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ เช่น กัมพูชา และฟิลิปปินส์

แน่นอนปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นมีผลต่อค่าเงินกีบ และต้นทุนการผลิตสินค้า ร่วมกับปัจจัยอื่น ๆ ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าแรง ทำให้หลายบริษัทรวมถึงโออาร์มีการปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเพื่อบรรเทาปัญหา ซึ่งจะทำให้กำลังซื้อชะลอตัวลงชั่วคราว แต่ในระยะยาวแล้ว สปป.ลาวยังเป็นจุดลงทุนที่มีศักยภาพ

“ปี2567 การขายน้ำมันผ่านสถานีบริการ และร้านคาเฟ่ อเมซอน ในสปป.ลาว คาดว่าจะเติบโตราว 3% ตามปริมาณการขยายสาขาทั้งธุรกิจน้ำมันและนอนออยล์ และปี2568 จะเติบโตมากกว่า 3% ได้หากค่าเงินกีบนิ่ง และมีการขยายสาขาปั๊มน้ำมันและร้ากาแฟได้ตามเป้าหมาย รวมถึงส่งออกเม็ดกาแฟได้เพิ่มขึ้น”

นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร OR มองว่า แม้ว่า สปป.ลาว จะเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจแต่จากประสบการณ์ที่บริหารธุรกิจเทรดดิ้งมาก่อน จึงมีความเข้าใจถึงปัจจัยความแตกต่างของการดำเนินธุรกิจในแต่ละประเทศ ที่ต้องมองรอบด้าน ทั้งศักยภาพของประเทศ ซึ่ง สปป.ลาว มีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจที่ดีกับจีน ทำให้มีการขยายการลงทุนของจีนเข้ามาจำนวนมาก จึงถือเป็นทำเลที่มีศักยภาพสูง แม้ว่าจะไม่สูงเท่ากับกัมพูชา ที่ถือเป็นบ้านแห่งที่ 2 ของOR แต่ก็เป็นโอกาสขยายการเติบโตที่ดีในอนาคต

“สปป.ลาวเราไม่มีคู่แข่งค้าน้ำมันที่เป็นทุนไทยรายอื่นเลย ส่วนคู่แข่งด้านพลังงานจากจีน ก็คงไม่เข้ามาแข่ง เพราะกว่าจะขนส่งมาก็มีต้นทุนสูง และ เรา “ยังสามารถหารายได้” จากการพัฒนาธุรกิจด้านส่งออกกาแฟกลับเข้ามาได้ ฉะนั้นระยะสั้นเราเพียงรักษาธุรกิจให้อยู่รอด (Maintain Survival) เพื่อรอจังหวะที่ สปป.ลาว จะฟื้นตัวกลับมา พร้อมรักษาความเป็นแบรนด์เลิฟ ของคนที่นี่ เพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต”

จากการเล็งเห็นศักยภาพการเติบโตทางธุรกิจในตลาดต่างประเทศของ OR จึงจัดสรรงบประมาณลงทุนระยะ 5 ปี (ปี 2567-2571) สำหรับภาพรวมกลุ่มธุรกิจ Global 8,007 ล้านบาท คิดเป็น 12% ของงบลงทุนทั้งหมด สะท้อนถึงความมุ่งมั่นอย่างยั่งยืนในตลาดสากล โดยการขยายธุรกิจของ OR เข้าไปลงทุนในต่างประเทศ ทั้งญี่ปุ่น มาเลเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จีน โอมาน กัมพูชา และสปป.ลาว แม้ว่าแต่ละประเทศจะมีปัจจัยที่ต่างกัน แต่ OR จะยึดโมเดลที่ทำสำเร็จในไทยเป็นแม่แบบในการขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศ