“OR” งัดกลยุทธ์รุกธุรกิจใน “ไทย-ต่างประเทศ” หนุนการเติบโตครึ่งหลังปี67

ผู้ชมทั้งหมด 265 

ก้าวเข้าสู่ครึ่งหลังปี 2567 ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างปรับกลยุทธ์การลงทุนเพื่อบริหารจัดการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตตามเป้าหมาย บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ผู้ค้าน้ำมันที่มีส่วนแบ่งการตลาด(มาร์เก็ตแชร์) เบอร์1 ของประเทศไทย ได้ประเมินทิศทางการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 เพื่อรับมือกับปัจจัยที่จะเข้ามาส่งผลกระทบต่อธุรกิจทั้งสภาวะเศรษฐกิจและฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงครึ่งปีหลังที่จะเผชิญกับฤดูฝนและย่างเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยวในช่วงปลายปี

นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR มองว่า ผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ของ OR จะยังคงเติบโตขึ้น โดยเบื้องต้นวางเป้าใกล้เคียงกับครึ่งปีแรก เนื่องจากไตรมาส 3 จะเป็นช่วงโลว์ซีซั่น เพราะเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งบริษัทได้วางแผนรับมือโดยการจัดกิจกรรมกระตุ้นการขายดึงดูดผู้บริโภคเข้ามาใช้บริการในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ให้มากขึ้น ขณะที่ในช่วงไตรมาส 4 จะเข้าสู่ไฮซีซั่น หรือฤดูท่องเที่ยวช่วงปลายปี ที่โดยปกติแล้วยอดขายจะเติบโตขึ้นตามทิศทางการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ซึ่งในปีนี้ก็ต้องรอลุ้นว่ายอดขายไตรมาส 4 จะเติบโตขึ้นมากน้อยระดับใด

อย่างไรก็ตาม แผนการขยายสาขาทั้งสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น มั่นใจว่า จะเป็นไปตามเป้าหมายโดยเพิ่มอีก 100 แห่ง และร้านคาเฟ่ อเมซอน เพิ่มอีกกว่า 300 แห่งในปีนี้ อีกทั้ง ในปีนี้ OR ยังได้แรงหนุนจากยอดขายน้ำมันอากาศยาน (Jet A1) ที่เติบโตขึ้นมาก และคาดว่าทั้งปีนี้ น่าจะเห็นการเติบโตในระดับตัวเลขสองหลักได้ ขณะเดียวกัน ยังต้องรอติดตาม “เงินดิจิทัลวอลเล็ต” ตามนโยบายของภาครัฐว่าจะเข้ามาสนับสนุนกำลังซื้อของผู้บริโภคในช่วงโค้งสุดท้ายปีอย่างไร

นอกจากการเติบโตในประเทศแล้ว OR ยังให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนการเติบโตในตลาดต่างประเทศ โดยได้จัดสรรงบลงทุนระยะ 5 ปี (ปี 2567-2571) สำหรับกลุ่มธุรกิจ Global ไว้ที่กว่า 8,000 ล้านบาท หลัก ๆ จะเน้นการลงทุนในประเทศกัมพูชา ที่ถือเป็นบ้านหลังที่ 2 ของOR โดยเม็ดเงินส่วนใหญ่จะใช้สำหรับการลงทุนขยายคลังน้ำมัน เพื่อรองรับน้ำมันส่วนเกินของโรงกลั่นไทยออยล์ ที่จะเพิ่มขึ้นจาก 2.75 แสนบาร์เรลต่อวัน เป็น 4 แสนบาร์เรลต่อวัน หลังการก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาด (CFP) แล้วเสร็จ โดยกำลังการผลิตส่วนเกินดังกล่าว ทาง OR มีแผนที่จะนำเข้ามาในกัมพูชา เนื่องจากปัจจุบันกัมพูชายังไม่มีโรงกลั่นฯ ขณะเดียวกัน OR ได้ขยายการลงทุนในกัมพูชาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันมีสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น แล้ว 170 แห่ง และร้านคาเฟ่ อเมซอน ประมาณ 200 สาขา รวมถึงยังจะเป็นการเพิ่มโอกาสจำหน่ายน้ำมัน เพื่อป้อนให้กับลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมได้ด้วย อีกทั้ง OR ยังมีแผนก่อสร้างคลัง LPG ในกัมพูชา เพื่อเจาะตลาดอุตสาหกรรมด้วย

“OR เรามียอดขายน้ำมันและกาแฟเป็นที่หนึ่งในประเทศไทย แต่การเติบโตในอนาคตจะไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก แต่ในต่างประเทศเรายังมีโอกาสขยายการเติบโตได้อีกมาก ฉะนั้นจากนี้ไปจะเร่งขยายตลาดต่างประเทศมากขึ้น ผ่านการจับมือกับพันธมิตรในท้องถิ่นที่มีความเชี่ยวชาญ และชำนาญ เพื่อสร้างการเติบโตไปด้วยกัน

สำหรับธุรกิจ Global ปัจจุบัน OR มีสัดส่วนรายได้หลักๆ มาจาก กัมพูชา, ฟิลิปปินส์ และสปป.ลาว ซึ่งกัมพูชาถือว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตมากที่สุด ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และจำนวนประชากรที่มาก ขณะที่ธุรกิจในลาว จะเป็นลักษณะประคองตัว เนื่องจากเศรษฐกิจสปป.ลาวยังเผชิญผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินกีบที่ผันผวน แต่มองว่าธุรกิจพลังงานในอนาคตยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก

รวมถึง เวียดนาม ปัจจุบันมีการลงทุนธุรกิจร้านคาเฟ่ อเมซอน แล้วจำนวน 25 สาขา และปัจจุบันยังอยู่ระหว่างศึกษาโอกาสการเข้าไปลงทุนคลัง LPG เพื่อเจาะตลาดลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมเพิ่มเติม โดยจะเป็นการร่วมลงทุนกับพันธมิตรท้องถิ่น คาดว่าจะมีความชัดเจนในเร็วๆนี้ ส่วนเมียนมา เดิมมีแผนขยายการลงทุน แต่ปัจจุบันยังมีแรงกดดันจากสถานการณ์ทางการเมืองอยู่ ซึ่งในอนาคตความเสี่ยงดังกล่าวหายไป ก็เชื่อว่าเมียนมาจะเป็นอีกโอกาสสำคัญของ OR

ส่วนแผนการดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) ภายใต้ความร่วมมือกับธนาคารกรุงไทย และบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF นายดิษทัต ระบุว่า เรื่องนี้ ทางคณะกรรมการบริษัทฯ ได้รับทราบเชิงกลยุทธ์แล้ว แต่ยังไม่ได้อนุมัติ 100% และปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ คาดว่า ภายในเดือนกันยายนนี้จะได้ข้อสรุป

นายดิษทัต เล่าว่า OR ยังมุ่งเน้นขับเคลื่อนการลงทุนตามวิสัยทัศน์และแนวคิดในการสร้างความยั่งยืน โดยนำเรื่องความยั่งยืนตามแนวทาง SDG ในแบบฉบับของ OR คือ S-Small โอกาสเพื่อคนตัวเล็ก D-Diversified โอกาสเพื่อการเติบโตทุกรูปแบบ และ G-Green โอกาสเพื่อสังคมสะอาด มาผสมผสานกับกลยุทธ์ทางธุรกิจเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน นำสู่เป้าหมาย OR 2030 Goals

ปัจจุบัน OR ได้เตรียมแผนการลงทุนอุทยานอเมซอน (Amazon Park) บนพื้นที่ 600 ได้ ในจังหวัดลำปาง ซึ่งจะนำทีมคณะกรรรมการบริษัทฯ (บอร์ด) ลงพื้นที่จริงในเดือนกันยายนนี้ ก่อเสนอขออนุมัติการลงทุนในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งหากผ่านการอนุมัติ จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างเฟสแรกในปีนี้บนพื้นที่ 350 ไร่ก่อน จากนั้นดำเนินการเฟสที่เหลืออีก 250 ไร่ คาดว่าภายใน 2 ปี จะสามารถเปิดให้บริการได้

สำหรับ Amazon Park จะมีคอนเซ็ปต์คล้ายกับ “สิงห์ปาร์ค” ที่นำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน สร้าง Ecosystem ยกระดับคาเฟ่ อเมซอน สู่แบรนด์ระดับโลก โดยจะมีทั้งศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรม(R&D) การพัฒนาต้นกล้ากาแฟเอง จากปัจจุบัน ที่ซื้อจากหน่วยงานราชการ และมีกลางน้ำที่เข้มแข็งมีโรงคั่วฯ ส่วนปลายน้ำ มีร้านคาเฟ่ อเมซอน มากกว่า 4,200 สาขา อีกทั้งในอนาคตจะเป็นสถานที่จัดประชุม World Coffee ให้องค์ความรู้กับผู้ประกอบการ นักศึกษา เป็นการสร้างความภูมิใจในแบรนด์ และยังสร้างรายได้ในกับชุมชนท่องเที่ยวให้กับจังหวัดลำปาง

อย่างไรก็ดี การจะขยายคาเฟ่อเมซอน ให้มีความยั่งยืนในตลาดต่างประเทศ นอกเหนือจากโลเคชั่นที่ดีแล้ว ยังจำเป็นต้องมีแพลตฟอร์มการเล่าเรื่อง หรือ สตอรี่ เล่าเรื่องราวตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาร่วมลงทุน เพราะคาเฟ่ อเมซอน จะโตอีก 10-20% ต่อไปในประเทศไทยคงลำบาก แต่การมี Amazon Park ยังจะช่วยให้การขยายการลงทุนในต่างประเทศเติบโตอย่างยั่งยืนได้

นอกจากนี้ OR ยังได้สมัคร แอพลิเคชั่น “VERRA” สำหรับเตรียมความพร้อมขาย “คาร์บอนเครดิตกาแฟ” โดย VERRA เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถขายในตลาดระดับสากลได้หากได้รับการรับรอง แต่การจะรับรองยังต้องปฏิบัติตามมาตรฐาน โดยกระบวนการเข้าร่วม “โครงการคาร์บอนเครดิตป่าดิบชื้น” ของ Verra กำหนดให้ต้องมีต้นไม้ท้องถิ่น 20-30 ชนิดเป็นร่มเงา

สำหรับ “VERRA”  เป็น องค์กรไม่แสวงหากำไร มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ วอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา ออกใบรับรองมาตรฐานสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาที่ยั่งยืนมากมาย รวมถึงการออกใบรับรองมาตรฐานคาร์บอน (Verified Carbon Standard) ซึ่งดำเนินการไปแล้วเป็นจำนวนมาก

OR ได้เตรียมพร้อมในทุกด้าน เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไข ของ VERRA เพราะ OR ต้องการขายคาร์บอนเครดิต เข้าสู่ระบบของตลาดสากล ซึ่งจะเป็นการสร้างความยั่งยืนในการทำธุรกิจในอนาคต