IRPC แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1/66 พลิกทำกำไร

ผู้ชมทั้งหมด 2,190 

IRPC เผยผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2566 กำไร 301 ล้านบาท จากปริมาณขายรวมเพิ่มขึ้น 62% คาดไตรมาส2/2566 แนวโน้มการใช้น้ำมันโลกขยับสูงขึ้นจากธุรกิจการบิน การเปิดประเทศของจีนและความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในประเทศฟื้น

นายกฤษณ์  อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชนหรือ IRPC กล่าวว่า “ช่วงไตรมาส 1/2566 ความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในประเทศเริ่มฟื้นตัว จากการเปิดประเทศของจีนส่งผลต่อการท่องเที่ยวของไทยขยายตัวสูงขึ้น ประกอบกับโรงกลั่นน้ำมันของบริษัทฯ กลับมาผลิตตามปกติหลังจากเสร็จสิ้นการซ่อมบำรุงใหญ่ (Major Turnaround) ในไตรมาส 4/2565 (1 เดือนรวมถึงต้นทุนราคาน้ำมันดิบ(Crude Premium) ปรับตัวลดลง ทำให้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปรับตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกในประเทศกลุ่มบรรจุภัณฑ์ (Packaging) และป้ายโฆษณา รวมทั้งช่วงฤดูร้อนยังสนับสนุนให้ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าและวัสดุก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้นด้วย

จากปัจจัยข้างต้นส่งผลต่อผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2566  บริษัทฯ มีรายได้จากการขายสุทธิ 75,760 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 20,679 ล้านบาท หรือร้อยละ 38 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยมีปัจจัยหลักมาจากปริมาณการขายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 62  แม้ราคาขายเฉลี่ยลดลงร้อยละ 24 ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลง ส่งผลให้บริษัทฯ มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตตามราคาตลาด (Market GIM) อยู่ที่ 7,084 ล้านบาท หรือ 11.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นร้อยละ172 เนื่องจากต้นทุนราคาน้ำมันดิบ (Crude Premium) ปรับตัวลดลง  ขณะที่ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปรับตัวเพิ่มขึ้น และมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตทางบัญชี (Accounting GIM) จำนวน 5,342 ล้านบาท หรือ 8.90 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เทียบกับไตรมาสก่อนที่ขาดทุนจาก Accounting GIM ถึง 4,207 ล้านบาท หรือ 10.50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2566 มีกำไรสุทธิจำนวน 301 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,450 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2565 ที่มีผลขาดทุนสุทธิ 7,149 ล้านบาท

แนวโน้มตลาดปิโตรเคมี ในช่วงไตรมาส 2/2566 ความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีปรับสูงขึ้นแต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากผู้ผลิตส่วนใหญ่มีสต๊อกสินค้าระดับสูง ขณะที่ความต้องการในภูมิภาคยังคงระดับต่ำจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เพราะความกังวลวิกฤตการเงินของธนาคารหลายแห่งทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป ซึ่งมีโอกาสลุกลามไปยังประเทศอื่นๆ ขณะเดียวกันก็มีกำลังการผลิตใหม่ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นทั้งจากประเทศจีน มาเลเซียและเวียดนามจะเป็นแรงกดดันให้ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในภูมิภาคเอเชียลดลง

สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในไตรมาส 2/2566 คาดว่าปริมาณการใช้น้ำมันของโลกจะเพิ่มขึ้น สาเหตุหลักจากการเปิดประเทศของจีน รวมถึงธุรกิจการบินมีแนวโน้มเติบโตตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวใกล้ถึงระดับก่อนการระบาดของ COVID-19 สำหรับปริมาณสินค้า(อุปทานคาดว่าจะมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น เนื่องจากโอเปกและพันธมิตรมีมติลดการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มเติมถึง 1.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงสิ้นปี 2566) ประกอบกับเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา รัสเซียได้ประกาศขยายเวลาลดการผลิตน้ำมันดิบ 0.50 ล้านบาร์เรลต่อวันถึงสิ้นปี 2566อย่างไรก็ดีคาดว่าการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบจะมีแรงต้านจากความต้องการบางส่วนหายไป เนื่องจากเข้าสู่ฤดูปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในช่วงไตรมาส 2/2566 

นายกฤษณ์ กล่าวต่อไปว่า “แม้ช่วงไตรมาส 1/2566 บริษัทฯ จะกลับมามีกำไร แต่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อและดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนประกอบธุรกิจ และความต้องการสินค้า ขณะที่ราคาน้ำมันดิบก็ยังมีความผันผวน ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวทำให้ผลประกอบการตลอดทั้งปีตามแผนมีความท้าทายยิ่งขึ้น 

บริษัทฯ เร่งปรับตัวเพื่อบรรเทาผลกระทบที่มีต่อธุรกิจ มุ่งรักษาเสถียรภาพทางการเงิน พิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบโดยปรับแผนการผลิตและการบริหารจัดการสต็อกวัตถุดิบเพื่อลดความเสี่ยงด้านราคา การปรับลดค่าใช้จ่ายตลอดจนใช้ประโยชน์จากการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นน้ำมันและโรงปิโตรเคมี ที่ซ่อมบำรุงแล้วเสร็จอย่างเต็มประสิทธิภาพ ใช้พลังงานน้อยลงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”   

อย่างไรก็ดี IRPC ยังคงมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่องค์กร Net Zero Emission ด้วยการเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนในเขตประกอบการอุตสาหกรรม IRPC ภายใต้โครงการ Floating Solar Farm ส่วนขยาย เพิ่มการผลิตไฟฟ้าได้อีก 8.5 เมกะวัตต์ ในไตรมาส 4 ปีนี้ และร่วมโครงการปลูกป่า 2 ล้านไร่ กับกลุ่ม ปตทพร้อมด้วย กรมป่าไม้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้รับการรับรองให้เป็น “องค์กรผู้นำด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก” (Climate Action Leading Organization)  ของเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (Thailand Carbon Neutral Network: TCNN) ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

นอกจากนี้ IRPC ได้ดำเนินโครงการ “From Wastes to Walk” ร่วมกับโรงงานทำขาเทียมภายใต้มูลนิธิขาเทียม ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจำนวน 95 แห่งทั่วประเทศ และหน่วยเวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สภากาชาดไทย เก็บรวบรวมชิ้นส่วนพลาสติกที่เหลือจากการผลิตกายอุปกรณ์ โดยนำกลับมาพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพที่โรงงานของ IRPC และส่งกลับไปผลิตเป็นอุปกรณ์เสริมร่างกายให้กับผู้ป่วยและผู้พิการต่อไป

IRPC พร้อมเดินหน้าสู่องค์กรแห่งนวัตกรรม ดำเนินธุรกิจควบคู่การสร้างสมดุลให้กับสังคม และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนให้ความสำคัญกับการบูรณาการความยั่งยืนในการดำเนินงาน ภายใต้หลักธรรมาภิบาล หรือ ESG (Environmental, Social and Governance)