ผู้ชมทั้งหมด 936
IRPC ระบุผลการดำเนินงานไตรมาส 1/64 มีแนวโน้มเติบโตดี มั่นใจภาพรวมทั้งปี 64 พลิกเป็นกำไรจากที่ขายทุนต่อเนื่อง 2 ปีติด หลังจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ธุรกิจปิโตรเคมี โรงกลั่นฟื้นตัว ส่วนแผน 5 ปีอัดงบลงทุน 3.6 หมื่นล้านเล็งขยายลงทุนโรงงานผลิตภัณฑ์ขั้นปลาย และซื้อกิจการ
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 1/2564 มีแนวโน้มเติบโตดีขึ้นตามภาวะตลาด โดยในช่วง 6 สัปดาห์แรกของปีนี้สามารถทำผลงานได้เกินเป้าหมายแล้ว เนื่องจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กลุ่มปิโตรเคมีปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเวชภัณฑ์ กลุ่มบรรจุภัณฑ์ และกลุ่มเครื่องใช้ในบ้านที่ปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการของตลาด
ขณะที่ภาพรวมทั้งปี 2564 IRPC มั่นใจว่าจะกลับมาพลิกเป็นกำไรได้ หลังจากที่ขาดทุนต่อเนื่องมา 2 ปี โดยในปี 2562 ขาดทุนสุทธิ 1,174 ล้านบาท และปี 2563 ขาดทุนสุทธิ 6,151 ล้านบาท เนื่องจากคาดว่าในปี 2564 ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กลุ่มปิโตรเคมีจะยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นและทรงตัวอยู่ในระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก โพลีโพรพิลีน (polypropylene – PP) และเม็ดพลาสติกที่มีความหนาเเน่นสูง High Density Polyethylene (HDPE) มีราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นหลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้เม็ดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเวชภัณฑ์ กลุ่มบรรจุภัณฑ์
ส่วนเม็ดพลาสติก ABS ความต้องการใช้จากทั่วโลกยังอยู่ในระดับสูงกว่า PP และซัพพลายไม่ล้นตลาด ขณะที่ความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ ไม่ได้ลดลงทำให้ราคายังโดดเด่นในปี 2563 ฉะนั้นในปี 2564 ดีมานด์ของผลภัณฑ์ปิโตรเคมี จะดีต่อเนื่อง แต่ซัพพลายอาจถูกกดดันจากกำลังการผลิตใหม่ของโรงงานขนาดใหญ่ในมาเลเซีย และจีนที่จะเข้ามาในช่วงครึ่งปีหลัง
ขณะที่แนวโน้มของธุรกิจโรงกลั่นก็เริ่มฟื้นตัวจากปัจจัยความต้องการใช้น้ำมันกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยบริษัทคาดการณ์ว่าในปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 47 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ในช่วง6 สัปดาห์แรกของปีนี้ ราคาสูงขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ไปสู่ระดับ 53-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และตั้งเป้ากำลังการกลั่นไว้ที่ 190,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งช่วยหนุนให้ผลประกอบการของปีนี้กลับมาเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนแผนการลงทุน 5 ปี (2564-2568) นั้นบริษัทเตรียมงบลงทุนไว้ราว 36,000 ล้านบาท โดยจะมองหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ตามแผนกลยุทธ์มุ่งสู่ปิโตรเคมีปลายน้ำ ภายใต้กลยุทธ์ 3 S ได้แก่ Strengthening the core, Striving the growth, Sustaining the future ซึ่งจะเพิ่มประสิทธิภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามภายใต้งบการลงทุนดังกล่าวจะใช้สำหรับซื้อกิจการ (M&A) ราว 8,000 ล้านบาท
พร้อมกันนนี้ภายใน 5 ปีนั้นบริษัทตั้งเป้าหมายกำไรก่อน ดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ในระดับ 14,000 ล้านบาท โดยเป็นการเติบโตจากการขยายการลงทุนใน 7 โครงการ ประกอบด้วย 1.การลงทุนในโครงการ Strengthen IRPC เพื่อเพิ่มรายได้ เพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิตในช่วง 4 ปี (2563-2566) ซึ่งบริษัทฯ ตั้งเป้า EBITDA ที่ 4,552 ล้านบาท
2.โครงการปรับปรุงความน่าเชื่อถือ (Reliability Improvement) ตั้งเป้าหมาย ประหยัดค่าใจจ่าย 600 ล้านบาท 3. การลงทุนในโครงการ Ultra Clean Fuel (UCF) เพื่อรองรับการผลิตน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ ปี 2566
4.โครงการ Infrastructure and Asset ระหว่างปี 2564- ปี2568 ตั้งเป้าหมายจะมี EBITDA อยูที่ 1,365 ล้านบาท 5.โครงการโนอาห์ (แผนเกษียณอายุก่อนกำหนด)เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของบริษัท ดำเนินการระหว่างปี 2564- ปี2568 ตั้งเป้าหมาย ลดต้นทุน 4,067 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 5 โครงการนี้ จะเพิ่ม EBITDA และประหยัดงบลงทุนให้กับบริษัท รวม 14,000 ล้านบาท
6.โครงการ Specialty Product ที่เป็นการเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง กลุ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty) โดยตั้งเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ Specialty เป็น 30% ในปี 2567 จากปัจจุบัน อยู่ที่ 13% และ 7. โครงการ Galaxy ที่จะเป็นการต่อยอดการเติบโตทางธุรกิจ