ผู้ชมทั้งหมด 1,882
“ไอออน เอนเนอร์ยี่” ตั้งเป้าปี 65 รุกขยายธุรกิจให้บริการโซลูชั่นพลังงานโซลาร์ครบวงจร เพิ่มกำลังผลิตแตะ 25 เมกะวัตต์ มูลค่า 625 ล้านบาท เจาะตลาดผู้ใช้รายย่อย กลุ่มบ้านอยู่อาศัย องค์กรธุรกิจที่ต้องการติดตั้งระบบโซลาร์ขนาดต่ำกว่า 1 เมกะวัตต์ ขณะที่ 5 ปี เล็งเติบโต 150 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการ 3,750 ล้านบาท
กระแสตื่นตัวของภาครัฐและองค์กรธุรกิจที่ใส่ใจเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอน จากการประกาศตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ที่ชัดเจนของหลายหน่วยงาน หลังการประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติปี 2564 หรือ COP 26 ช่วงเดือนพ.ย. 2564 ส่งผลต่อธุรกิจติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์เซลล์)ในประเทศไทยได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพราะจะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมาย net zero
ข้อมูลสำนักวิจัยธนาคารกรุงไทย พบว่า ในช่วง 30 ปีข้างหน้า หรือ ช่วงปี 2563-2593 ตลาดโซลาร์เซลล์ในอาเซียน จะเติบโต 28 เท่า จาก 23 กิกะวัตต์(GW)ในปี63 เป็น 647 กิกะวัตต์(GW)ในปี93 ขณะที่ปัจจุบัน ตลาดโซลลาร์เซลล์ในไทย(Thai Private PPA market growth) คิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 5.5% และมีโอกาสเติบโตขึ้นต่ำ 30% ต่อปีหรือเติบโต 13.4 เท่า ภายใน 10 ปี จากปี 63 ที่มีอยู่ 670 เมกะวัตต์ เป็น 9,000 เมกะวัตต์ในปี 73
ขณะที่การติดตั้งโซลาร์เซลล์ยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะในกลุ่มที่อยู่อาศัย องค์กรขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ยังเข้าถึงได้ยากเนื่องจากราคาอุปกรณ์และการติดตั้งยังมีต้นทุนสูง บริษัท ไอออน เอนเนอร์ยี่ จำกัด (ION) ผู้จัดหาโซลูชั่นพลังงานโซลาร์ครบวงจร จึงได้ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเชื่อมการเข้าถึงของผู้ใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนและองค์กรต่างๆ ให้เข้าถึงพลังงานสะอาดโดยไม่มีค่าใช้จ่ายในการจัดซื้ออุปกรณ์และไม่มีค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง
นายพีรกานต์ มานะกิจ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ไอออน เอนเนอร์ยี่ จำกัด (ION) ระบุว่า กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยโดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่อาศัยถือเป็นตลาดที่ยังไม่มีคู่แข่งรายใหญ่ เนื่องจากลูกค้ากลุ่มนี้มีข้อจำกัดด้านเงินทุน ไอออนจึงได้ออกแบบธุรกิจเพื่อให้ปิดช่องว่างของกลุ่มนี้ด้วยการจับมือกับภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อติดตั้งโซลาร์ฟรีพร้อมบ้านใหม่ ซึ่งหากสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือนให้เป็นพลังงานสะอาดจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนได้อย่างมาก จากข้อมูลจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ระบุว่าการใช้เตาไมโครเวฟ 23 ของล้านครัวเรือนในอังกฤษ จะปล่อยคาร์บอนเทียบเท่า 1,200 ล้านกิโลกรัมต่อปี เทียบเท่ากับปริมาณการปล่อยก๊าซจากรถยนต์ 1.3 ล้านคัน ซึ่งในที่อยู่อาศัยแต่ละแห่งก็มีเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก ดังนั้นหากบ้านหนึ่งหลังสามารถเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดก็จะสามารถลดคาร์บอนได้มากกว่าที่คาด
โดยปี 2565 ไอออน ตั้งเป้าหมายเจาะกลุ่มลูกค้าควบคู่กันทั้งการให้บริการแบบ Private PPA และการให้บริการแบบ EPC ซึ่งจะมีโครงการติดตั้งใหม่รวมกำลังการผลิตไฟฟ้า 25 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการ 625 ล้านบาท แบ่งเป็น PPA จำนวน 15 เมกะวัตต์ และ EPC จำนวน 10 เมกะวัตต์ หรือประกอบไปด้วยลูกค้าภาคครัวเรือนและอสังหาริมทรัพย์อีกกว่า 2,000 โครงการ และในระยะตั้งเป้าหมายให้มีสัดส่วนลูกค้า PPA 70% และ EPC 30%
รวมถึง ในระยะ 5 ปี นับจากปี 2565-2570 ตั้งเป้าหมายจะมีการติดตั้งโซลาร์โซลูชั่นกำลังการผลิตไฟฟ้า 150 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นมูลค่าโครงการ 3,750 ล้านบาท โดย ไอออนจะใช้กลยุทธ์ในการร่วมมือกับพันธมิตรภาคอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของเมืองไทย ในการเข้าไปติดตั้งโซลาร์โซลูชั่นในโครงการที่อยู่อาศัยโครงการใหม่ ซึ่งจากปัจจัยเทรนด์การเติบโตของอุตสาหกรรมและการมีพันธมิตรภาคอสังหาริมทรัพย์จะช่วยให้ไอออนไปถึงเป้าหมายได้ไม่ยาก
“โซลาร์ภาคประชาชน เป็นนโยบายที่ดีที่สนับสนุนให้ผู้ใช้ไฟฟ้าติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพราะสามารถขายไฟฟ้าส่วนเกินกลับเข้าระบบได้แม้ว่าราคารับซื้อค่าไฟจะไม่สูงมาก แต่ก็เป็นนโยบายที่ภาครัฐควรส่งเสริมให้เกิดความต่อเนื่องและกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน เพราะจะเป็นส่วนช่วยลดภาวะโลกร้อน”
นอกจากนี้ ไอออน ยังศึกษาโอกาสลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ เพื่อตอบสนองการให้บริการกับลูกค้าได้ครอบคลุมมากขึ้น คาดว่า ปีนี้มีโอกาสที่จะเห็นการลงทุนได้ เนื่องจากปัจจุบันเริ่มมีลูกค้ากลุ่มโรงงานที่แสดงความสนใจบ้างแล้ว
ขณะเดียวกัน ไอออน ยังมองหาโอกาสติดตั้งโซลาร์เซลล์พื้นที่จอดรถ(car park) และสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าที่คาดว่าจะเติบโตตามความนิยมใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) มากขึ้น ซึ่งก็มีโอกาสที่จะเป็นการลงทุนเกิดขึ้นในปีนี้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2564 ไอออนได้ทำการติดตั้งโซลาร์โซลูชั่นให้ลูกค้าไปแล้วกว่า 400 โครงการ เป็นลูกค้ากลุ่ม PPA และ EPC ทั้งภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และบ้านเดี่ยว โดยตัวอย่างลูกค้าที่ได้เลือกใช้บริการไอออนคือบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) โรงแรม เดอะสแตนดาร์ด หัวหิน บริษัทโรงงานแม่รวย (ผู้ผลิตและจำหน่ายถั่วลิสง “โก๋แก่”) รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอีกหลายแห่ง โดยจุดเด่นที่ลูกค้าเลือกใช้บริการไอออน
นายพีรกานต์ เชื่อมั่นว่า ด้วยจุดแข็งของ ไอออน ใน 3 ด้าน ประกอบด้วย การทำงานที่รวดเร็วกว่า พร้อมเสนอราคาภายใน 14 วัน การให้บริการด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า เนื่องจากเป็นบริษัทในกลุ่มของบางกอก เคเบิล ซึ่งเป็นผู้ผลิตสายไฟฟ้ารายใหญ่และผู้บุกตลาดโซลาร์ เจ้าแรกในประเทศไทย ที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมโซลาร์ในมากกว่า 15 ปี และความโดดเด่นในเทคโนโลยีที่ทันสมัย ด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชั่น solar monitoring & payment platform ที่สามารถตรวจสอบการทำงานของระบบโซลาร์ ทั้งการผลิตและการจ่ายไฟฟ้า รวมถึงกำลังการใช้ไฟฟ้า และยังสามารถชำระค่าไฟฟ้าผ่านแอปพลิเคชั่น ครบวงจรผ่านแอปพลิเคชั่นเดียว จะทำให้ ไอออน ได้รับความสนใจจากลูกค้าและตัดสินใจเลือกใช้บริการ
ปัจจุบัน รูปแบบการให้บริการของไอออน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ประกอบด้วย การให้บริการแบบ Private PPA ซี่ง ION จะทำการการ “ลงทุน” ติดตั้งโซลาร์ฟรีผ่านสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เป็นการให้บริการที่เหมาะสมกับองค์กรธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่มีค่าไฟตั้งแต่ 500,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป โดยที่ไอออนจะให้บริการจัดหาและติดตั้งแผงโซลาร์และระบบสายไฟฟ้า รวมถึงเชื่อมต่อการให้บริการผ่านแอปพลิเคชั่น ให้กับผู้ใช้งานฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งลูกค้าจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นแค่ในส่วนของค่าไฟฟ้าที่ใช้จริงในแต่ละเดือนเท่านั้น ทั้งนี้ค่าไฟฟ้าจากการใช้บริการแบบ PPA นี้จะมีราคาต่ำกว่าการใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าขั้นต่ำประมาณ 20-40% (ขึ้นกับขนาดการติดตั้ง) โดยไอออนจะทำสัญญาการใช้ไฟฟ้ากับลูกค้าเป็นระยะเวลา 15 ปี เมื่อครบสัญญาลูกค้าจะสามารถใช้ไฟฟ้าได้ฟรีไปอีกถึง 10 ปี หรือตามอายุของแผงโซลาร์ ซึ่งปัจจุบันมีอายุการใช้งานขั้นต่ำ 25 ปี
และการให้บริการแบบ EPC ซึ่งเป็นการให้บริการในรูปแบบ “รับเหมา” ออกแบบ จัดหา และติดตั้งระบบโซลาร์ให้กับลูกค้า ด้วยการบริการแบบมืออาชีพ และอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐาน พร้อมการขออนุญาตกับหน่วยงานรัฐ สามารถติดตั้งได้ทุกขนาดตั้งแต่ 1.5 กิโลวัตต์ขึ้นไป เหมาะสมสำหรับภาคครัวเรือนและอสังหาริมทรัพย์ เช่นบ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม โฮมออฟฟิศ รวมไปถึงองค์กรธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม