GULF เล็งปิดดีลซื้อโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศกว่า 1,000 MW ในปีนี้

ผู้ชมทั้งหมด 907 

GULF เร่งเครื่องศึกษาแผนซื้อโครงการโรงไฟฟ้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ กว่า 1,000 เมกกะวัตต์ คาดชัดเจนภายในปีนี้ พร้อมโชว์ผลงาน ไตรมาส2 กำไรโต 120% จากปีก่อน ผลจากโรงไฟฟ้า IPP ที่ทยอยเปิดดำเนินการ และส่วนแบ่งกำไรจาก INTUCH

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินงานช่วงครึ่งหลังของปี 2565 บริษัท อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าหลายโครงการ ทั้งโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ในยุโรป อังกฤษ อเมริกา และเอเชีย ซึ่งล้วนเป็นโครงการขนาดใหญ่ มีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากกว่า 1,000 เมกะวัตต์ คาดว่าจะมีข้อสรุปและเห็นความชัดเจนภายในปีนี้

ขณะที่ความคืบหน้าของโครงการต่าง ๆ ยังเป็นไปตามแผน ไม่ว่าจะเป็นการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้า GSRC หน่วยที่ 4 (662.5 เมกะวัตต์) ในเดือนตุลาคม หรือโครงการโซลาร์รูฟท็อปภายใต้ GULF1 ที่จะทยอยเปิดดำเนินการให้ครบ 100 เมกะวัตต์ ภายในสิ้นปี นอกจากนี้  GULF ได้เข้าถือหุ้น 50% ร่วมกับกันกุล ใน Gulf Gunkul Corporation ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม จำนวน 3 โครงการ รวมทั้งสิ้น 170 เมกะวัตต์ ส่งผลให้ GULF สามารถรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเข้ามาในงบการเงินตั้งแต่ไตรมาส 3/2565 เป็นต้นไป เนื่องจากทั้ง 3 โครงการได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ไปแล้ว จึงมั่นใจว่าผลประกอบการในปี 2565 จะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2565 มีรายได้รวม (Total Revenue) เท่ากับ 24,553 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 107% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยสาเหตุหลักมาจากการรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้า GSRC หน่วยที่ 1-3 (รวม 1,987.5 เมกะวัตต์) ที่ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ไปในปี 2564 และครึ่งปีแรกของปี 2565 ประกอบกับรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ SPP 12 โครงการ ภายใต้กลุ่ม GMP อันเนื่องมาจากราคาขายไฟฟ้าที่สูงขึ้นตามราคาก๊าซธรรมชาติ และจากปริมาณการขายไฟฟ้าให้แก่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น 10% จากไตรมาส 2/2564 ในส่วนของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเล BKR2 ที่ประเทศเยอรมนีนั้น มีรายได้เพิ่มขึ้น 20% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย Capacity Factor เฉลี่ยสูงขึ้นจาก 21% ในไตรมาส 2/2564 เป็น 24% ในไตรมาสนี้ ทั้งนี้ ไตรมาส 2 ถือเป็นช่วง low season เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 และไตรมาส 4 ที่เป็นช่วง high season ซึ่งมี Capacity Factor เฉลี่ยอยู่ในระดับ 40-50% นอกจากนี้ GULF ยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก INTUCH จำนวน 1,172 ล้านบาทในไตรมาส 2/2565 อีกด้วย

ส่วนของกำไรขั้นต้นจากการขายในไตรมาส 2/2565 เท่ากับ 4,303 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 62% หรือเพิ่มขึ้น 1,645 ล้านบาทเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2564 อย่างไรก็ตาม อัตรากำไรขั้นต้นจากการขาย (Gross Profit Margin) ในไตรมาสนี้ เท่ากับ 19.2% ลดลงจาก 24.0% ในไตรมาส 2/2564 โดยปัจจัยหลักมาจากต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นจาก 238.56 บาท/ล้านบีทียูในไตรมาส 2/2564 เป็น 422.71 บาท/ล้านบีทียูในไตรมาสนี้ หรือเพิ่มขึ้น 77% ในขณะที่ค่า Ft เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 0.3230 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง จาก -0.1532 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง เป็น 0.1698 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง

ทั้งนี้ กำไรจากการดำเนินงาน (Core Profit) ในไตรมาส 2/2565 เท่ากับ 3,081 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,680 ล้านบาท หรือ 120% จากไตรมาส 2/2564 สาเหตุหลักมาจากการรับรู้ผลกำไรจากโครงการ GSRC หน่วยที่ 1-3 ที่ทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนมีนาคม 2564 เดือนตุลาคม 2564 และเดือนมีนาคม 2565 ตามลำดับ และการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจาก INTUCH จำนวน 1,172 ล้านบาท นอกจากนี้ ในไตรมาส 2/2565 PTT NGD ซึ่งเป็นโครงการจำหน่ายก๊าซธรรมชาติผ่านทางท่อที่ GULF ถือหุ้นร่วมกับ ปตท. นั้น ได้บันทึกส่วนแบ่งกำไรเท่ากับ 273 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 332% เทียบกับไตรมาส 2/2564 โดยสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันเตาที่เพิ่มสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก เนื่องจากโครงสร้างรายได้นั้น ผูกกับราคาน้ำมันเตา

สำหรับกำไรสุทธิ (Net Profit) ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ในไตรมาส 2/2565 (รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน) เท่ากับ 1,531 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จาก 1,407 ล้านบาทในไตรมาส 2/2564 เนื่องจากค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง 6% จาก 33.46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาส 1/2565 มาเป็น 35.46 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาส 2/2565 ซึ่งเป็นเพียงการบันทึกรายการทางบัญชี และไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดและผลประกอบการของบริษัทฯ แต่อย่างใด         

ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 GULF มีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Net Interest-Bearing Debt to Equity) อยู่ที่ 1.89 เท่า เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 1.79 เท่า ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 เนื่องจากการเบิกเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินเพื่อนำมาใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน