GULF ลุ้นปิดดีลโครงการขนาดใหญ่เพิ่ม หนุนรายได้ปี65 โตเกินเป้า 80%

ผู้ชมทั้งหมด 547 

กัลฟ์ฯ ลุ้น รายได้ปี65 โตเกินเป้า 80% จากปีก่อน หากปิดดีล M&A เพิ่มในปีนี้ แย้มเจรจาโครงการขนาดใหญ่ในต่างประเทศ 2-3 โครงการ จ่อเข้าร่วมประมูลผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในไทย คาดรัฐเตรียมออกประกาศภายใน 2 เดือนนี้ หนุนสู่เป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตแตะ 7,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573 มั่นใจ รายได้โตต่อเนื่องสูงสุดในปี 2570 ที่ระดับ 196,000 ล้านบาท

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยในงาน Oppday Q2/2022 บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) GULF เมื่อวันที่ 25 ส.ค.2565 โดยระบุว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2565 บริษัท คาดว่า รายได้จะเติบโตขึ้น 80% จากปี 2564 โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์(COD) โครงการ IPP เช่น โรงไฟฟ้ากัลฟ์ ศรีราชา (GSRC) ยูนิตที่ 1 และ 2 เต็มปี รวมถึง ยูนิตที่ 3 ที่จะเข้ามาเพิ่มเติม อีกทั้งยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนใน บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH เป็นต้น

ขณะเดียวกัน เป้าหมายรายได้ปีนี้ ยังมีโอกาสเติมโตสูงกว่า 80% หากสามารถปิดดีลควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ (M&A)เพิ่มเติมได้ โดยหากเป็นดีลที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วก็จะทำให้รับรู้รายได้ทันที่ในปีนี้ โดยปัจจุบัน บริษัท อยู่ระหว่างทำการศึกษาและเจรจาโครงการขนาดใหญ่ในต่างประเทศอยู่ ประมาณ 2-3 โครงการ คาดว่าจะมีความชัดเจนได้ภายในปีนี้

“บริษัท ยังมีแผนเข้าร่วมประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย ซึ่งคาดว่า ภาครัฐเตรียมประกาศเปิดรับซื้อไฟฟ้าภายใน 3 เดือนนี้ และบริษัทยังมองโอกาสเข้าลงทุนโครงการในต่างประเทศด้วย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแตะ 30% ภายในปี 2573 หรือมีกำลังผลิตอยู่ที่ 7,000 เมกะวัตต์ ซึ่งจะมาจากการลงทุนโซลาร์รูฟท็อป การประมูลโครงการตามนโยบายรัฐ เขื่อนในลาว และการมองหาโครงการ M&A เพิ่มเติม ”

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัท ยังเดินหน้าการลงทุนตามแผน ทั้งการก่อสร้างโรงไฟฟ้า IPP ทั้งโรงไฟฟ้า GSRC ,โรงไฟฟ้า  GPD และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ของกลุ่ม GULF1 ส่วนต้นทุนดำเนินการที่เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยนั้น ในส่วนของโครงการที่เปิดดำเนินการไปแล้ว จะไม่ได้รับผลกระทบ แต่ในส่วนของโครงการใหญ่ ยอมรับว่าจะส่งผลให้ต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ จากการศึกษาโอกาสการลงทุนแล้วทุกโครงการจะต้องได้รับผลตอบแทนที่ดีกลับเข้ามาด้วย

สำหรับธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัทมีใบอนุญาตจัดหาและนำเข้า LNG อยู่ที่ 7.8 ล้านตันต่อปี และยังได้ใบอนุญาตก่อสร้าง LNG Terminal อีก 10.8 ล้านตัน ซึ่งจะเปิดดำเนินการในปี 2569 โดย LNG ที่นำเข้ามานั้น จะป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าให้กับโรงไฟฟ้า IPP และ SPP ของบริษัท รวมถึง ยังสามารถส่งขายให้กับภาคอุตสาหกรรมได้อีกประมาณ 6 แสนตันต่อปี นอกจากนี้ ในส่วนของโครงการแหลมฉบัง เฟส 3 ที่ได้รับสัมปทานจัดหาตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 4 ล้านตู้ต่อปี จะเปิดดำเนินการในปี 2568

ส่วนความคืบหน้าการศึกษาแผนพัฒนาธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในประเทศไทยร่วมกับกลุ่ม Binance นั้น ขณะนี้ บริษัทร่วมทุนจะเป็นผู้ยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รวมถึงใบอนุญาตธุรกิจที่เกี่ยงข้องอื่นๆ เช่น นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) หรือโบรกเกอร์และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Dealer) หรือดีลเลอร์ คาดว่าจะยื่นเอกสารได้ในเร็วๆนี้

ขณะที่ ธุรกิจ Data Center นั้น จะดำเนินการในลักษณะของผู้ใช้บริการ “แวร์เฮ้าส์” ซึ่งในปีนี้ เตรียมจัดซื้อที่ดิน และเริ่มการก่อสร้างในปีหน้า พร้อมเปิดดำเนินการ เฟส 1 ในปี 2567 กำลังผลิต 20 เมกะวัตต์ และเฟส 2 เปิดดำเนินการในปี 2568 กำลังผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 40 เมกะวัตต์

นางสาวยุพาพิน กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการลงทุนช่วง 5 ปี (ปี65-69) ของบริษัท เตรียมวงเงินประมาณ 120,000 ล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนในพลังงานหมุนเวียน สัดส่วน 60%,ธุรกิจไฟฟ้า ราว 20%,ก๊าซธรรมชาติ สัดส่วน 5%,ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน สัดส่วน 10% และธุรกิจอื่นๆ เช่น ดิจิทัล  สัดส่วน 10% โดยทิศทางการเติบโตของรายได้ จะเป็นการเติบโตต่อเนื่อง และขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในปี 2570 ที่ระดับ 196,000 ล้านบาท จากการก่อสร้างโรงไฟฟ้า IPP ต่างๆ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่แล้วเสร็จ ซึ่งหลังจากปี 2570 เป็นต้นไป รายได้ของบริษัท จะยังเติบโตจากโครงการประเภทเขื่อน

ทั้งนี้ ปัจจุบัน กัลฟ์ฯ มีโครงการโรงไฟฟ้าที่ลงนามซื้อขายไฟฟ้า(PPA) อยู่ที่ 13,661 เมกะวัตต์ เป็น โรงไฟฟ้า IPP จำนวน 6 โรง กำลังผลิตรวม 10,869 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 19 โรง กำลังผลิตรวม 2,474 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้ โรงไฟฟ้า IPP จะขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. ในสัดส่วนราว 80-85% ทำให้มีรายได้ที่มั่นคง ซึ่งภายในปี 2568 สัดส่วนการขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ.จะเพิ่มขึ้นเป็น 93% ตามการก่อสร้างโรงไฟฟ้า IPP ที่แล้วเสร็จและเข้าระบบเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้บริษัทมีรายได้ที่มั่นคงต่อเนื่อง