GULF ลุ้นปิดดีลพลังงานหมุนเวียนเพิ่มไตรมาส2-3ปีนี้

ผู้ชมทั้งหมด 772 

กัลฟ์ ลุ้นปิดดีล M&A โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนช่วงไตรมาส 2-3 ปีนี้เพิ่มเติม พร้อมอัดงบ 5ปี วงเงิน 1 แสนล้านบาท ขยายลงทุนธุรกิจไฟฟ้า ดิจิทัล และโครงสร้างพื้นฐาน คาดตั้ง บริษัทร่วมทุน Binance ในไตรมาส 2 ปีนี้ พร้อมขอไลเซ่นส์ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ กรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยในงาน Oppday Year End 2021 ของบริษัท เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2565 โดยระบุว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2565 บริษัท ตั้งเป้าหมายจะมีรายได้เติบโตขึ้น 60% จากปี 2564 โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์(COD) โครงการ IPP เช่นโรงไฟฟ้ากัลฟ์ ศรีราชา (GSRC) ยูนิตที่ 3 และ 4 กำลังการผลิตรวม 1,325 เมกะวัตต์ โดย ยูนิตที่ 3 คาดว่า จะCOD ในวันที่ 31 มี.ค.นี้ และยูนิตที่ 4 คาดว่าจะ COD เดือน ต.ค.นี้ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ของกลุ่ม GULF1 ซึ่งจะเริ่มทยอยเปิดดำเนินการอีกประมาณ 100 เมกะวัตต์ภายในปีนี้ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเลที่ประเทศเวียดนาม (Mekong Wind) ซึ่งคาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ครบ 128 เมกะวัตต์ ภายในไตรมาส 2 ปีนี้

นอกจากนี้ ยังมีการรับรู้รายได้เต็มปีจากโครงการโรงไฟฟ้า GSRC เฟส 1-2 เต็มปี และโครงการ DIPWP ที่โอมาน ซึ่งบริษัทเข้า ซื้อหุ้นเพิ่มเป็น 49% กำลังการผลิต เฟสแรก 40 เมกะวัตต์ จะรับรู้รายได้และกำไรเต็มปีในปีนี้ อีกทั้งรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนใน บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH รวมถึงมีการศึกษาทำดีลควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ (M&A)เพิ่มเติมในโครงการพลังงานหมุนเวียน เช่น ไทย เวียดนาม ยุโรป และอเมริกา

“ดีล M&A ปัจจุบันบริษัท ดูอยู่หลายโครงการ ส่วนใหญ่เป็นพลังงานหมุนเวียน คาดว่าจะมีความชัดเจนได้ในช่วงไตรมาส 2-3 ของปีนี้ และคาดว่ากลางปีนี้จะประกาศความชัดเจนดีลพลังงานลมในต่างประเทศได้”

สำหรับความคืบหน้าการศึกษาแผนพัฒนาธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในประเทศไทยร่วมกับกลุ่ม Binance นั้น ขณะนี้ อยู่ระหว่างการเจรจาในรายละเอียด ทั้งรูปแบบการทำธุรกิจร่วมกัน และมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องอะไรบ้าง โดยคาดว่า จะมีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งน่าจะมีข้อสรุปภายในเดือน มี.ค.นี้

ขณะที่การขอใบอนุญาตกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่า จะดำเนินการภายหลังจากการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนแล้วเสร็จ โดยบริษัทร่วมทุนจะเป็นผู้ยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ภายในปีนี้ ส่วนใบอนุญาตธุรกิจที่เกี่ยงข้องอื่นๆ เช่น นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) หรือโบรกเกอร์และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Dealer) หรือดีลเลอร์ นั้นจะต้องพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง

นางสาวยุพาพิน กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการลงทุนช่วง 5 ปี (ปี65-69) ของบริษัท เตรียมวงเงินประมาณ 100,000 ล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนในพลังงานหมุนเวียนประมาณ 75,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 75%,ก๊าซธรรมชาติ 10,000 ล้านบาท คิดเป็น 10%,ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน 10,000 ล้านบาท คิดเป็น 10% และธุรกิจดิจิทัล  5,000 ล้านบาท คิดเป็น 5%

ขณะที่สัดส่วนรายได้ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า คาดว่า ยังมาจากธุรกิจหลักคือไฟฟ้าทั้งจากโรงไฟฟ้าก๊าซฯและพลังงานหมุนเวียน ราว 80% ธุรกิจดิจิทัล ประมาณ 55% และธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ราว 5%

ส่วนความสนใจลงทุนธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV)นั้น  บริษัทยังไม่มีความสนใจลงทุนในธุรกิจดังกล่าว แต่ยอมรับว่าอยู่ระหว่างการศึกษาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) หรือ แบตเตอรี่ ที่ใช้สำหรับกักเก็บพลังงานในโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้