GULF กางแผนลงทุน 5 ปี (2568-2572) ทุ่ม 9 หมื่นลบ. มุ่งธุรกิจ “พลังงานสะอาด – ดาต้าเซ็นเตอร์”

ผู้ชมทั้งหมด 103 

“กัลฟ์” กางแผนลงทุน 5 ปี ทุ่ม 9 หมื่นล้านบาท ขณะที่ปี 2568 ตั้งงบ 2.3 หมื่นล้านบาท ลุยขยายการเติบโตธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน และดาต้าเซ็นเตอร์ หนุนรายได้ปี2568 โตตามเป้า 20-25% หลังรับรู้ผลการดำเนินงานโรงไฟฟ้าใหม่ COD เพิ่ม 1,500 เมกะวัตต์ ลั่นพร้อมควบรวม INTUCH เริ่มซื้อขายบริษัทใหม่ ภายใต้ชื่อย่อ GULF ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.2568 คาดหนุนส่วนแบ่งกำไรเพิ่มประมาณ 3,500 ล้านบาทต่อปี

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยในงาน Oppday year-end 2024 GULF วันที่ 25 ก.พ.2568 โดยระบุว่า บริษัทตั้งงบประมาณลงทุนตามแผน 5 ปี (2568-2572) วงเงิน 90,000 ล้านบาท โดยในปี 2568 จะใช้งบลงทุน 23,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่สัดส่วนประมาณ 80% จะใช้ลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เช่น โรงไฟฟ้าโซลาร์ฯ และพลังงานลมในไทย ประมาณกว่า 3,000 เมกะวัตต์ โครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำในลาว อีกประมาณ 3,112 เมกะวัตต์ โครงการพลังงานลมในอังกฤษ อีก 1,500 เมกะวัตต์ และใช้ลงทุนในธุรกิจก๊าซฯ สัดส่วน 14% เช่น ใช้ในโครงการโรงไฟฟ้าบูรพาพาวเวอร์ (ประเทศไทย)​​ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาดกำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ ในจ.ฉะเชิงเทรา รวมถึงธุรกิจดิจิตัลฯ ที่จะใช้ลงทุนในธุรกิจศูนย์ข้อมูล (data center)เป็นหลักสัดส่วนประมาณ 5% และที่เหลือประมาณ 2% ใช้สำหรับลงทุนในธุรกิจสาธารณูปโภคพื้นฐาน ที่จะใช้ในโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81)

ส่วนทิศทางการดำเนินงานของบริษัท ในปี 2568  ตั้งเป้ารายได้จะเติบโตขึ้น 20-25% จากโครงการโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ของบริษัทฯ จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เพิ่มอีกประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ในปีนี้ ได้แก่ โครงการ HKP หน่วยผลิตที่ 2 กำลังการผลิตติดตั้ง 770 เมกะวัตต์ ที่ได้เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเรียบร้อยตามกำหนดในเดือนมกราคมที่ผ่านมา โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (solar farms) 5 โครงการ และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (solar farms with battery energy storage systems) ภายในประเทศ 2 โครงการ รวมทั้งหมด 7 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 597 เมกะวัตต์ ที่มีแผนเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เพิ่มใน พ.ย.- ธ.ค.ปีนี้

ขณะที่โครงการ solar rooftop ภายใต้ GULF1 คาดว่าจะดำเนินการจ่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้าเพิ่มอีกประมาณ 100 เมกะวัตต์ในปีนี้ ส่งผลให้กำลังการผลิตไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นจาก 15,100 เมกะวัตต์ เพิ่มเป็น 16,577 เมกะวัตต์ในปีนี้

นอกจากนี้ ในปีนี้ บริษัทจะรับรู้ผลการดำเนินงานเต็มปี ของโครงการโซลาร์ฟาร์มและโซลาร์ผสมกับแบตเตอรี่ในประเทศอีก จำนวน 5 โครงการที่เพิ่งเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ไปเมื่อเดือน ธ.ค.ปี2567 และปีนี้ยังเป็นปีแรกที่จะรับรู้กำไรเต็มปีของโครงการโรงไฟฟ้า GPD ทั้ง 4 ยูนิค

ขณะที่ธุรกิจก๊าซ ในปีนี้ กลุ่มบริษัทฯ มีแผนขยายการนำเข้า LNG เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 70 ลำ หรือประมาณ 4-5 ล้านตัน เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าของโครงการโรงไฟฟ้า GSRC ,GPD และ HKP ซึ่งคาดว่าจะทำให้บริษัทฯ รับรู้รายได้เพิ่มขึ้นจาก shipper fee ไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท โดยเป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจก๊าซของบริษัทฯ ต่อไป

ส่วน ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค โครงการต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนายังคงเป็นไปตามแผน โดยโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) มีกำหนดจะเปิดดำเนินการในปี 2568 ขณะที่สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) มีกำหนดจะเปิดดำเนินการในปี 2569 ในส่วนของโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 ณ ปัจจุบัน ได้ดำเนินการถมทะเลเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย และมีแผนที่จะเริ่มก่อสร้างสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG terminal) ในช่วงกลางปีนี้ อีกทั้งโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 มีกำหนดรับมอบพื้นที่จากการท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อเริ่มก่อสร้างท่าเทียบเรือในช่วงปลายปี 2568

นอกจากนี้ ธุรกิจศูนย์ข้อมูล (data center) มีแผนที่จะทยอยเปิดให้บริการเฟสแรกขนาด 25 เมกะวัตต์ ในเดือนเม.ย.ปีนี้ โดยบริษัทฯ มีแผนที่จะขยายขนาดการให้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 100-200 เมกะวัตต์ ภายใน 3 ปีข้างหน้า เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลในประเทศไทย ในขณะที่ธุรกิจ cloud ซึ่งบริษัทฯ ได้ร่วมมือกับ Google เพื่อให้บริการ Google Distributed Cloud air-gapped มีแผนเปิดให้บริการในช่วงกลางปี 2568 เพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านการประมวลผลข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมองถึงการต่อยอดความร่วมมือทางธุรกิจไปสู่บริการอื่น ๆ ในอนาคต ซึ่งรวมถึงการพัฒนาโซลูชัน AI และการเสริมความแข็งแกร่งด้าน cybersecurity เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล

ขณะที่การควบรวมกิจการระหว่าง กัลฟ์ กับ INTUCH ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในช่วงต้นไตรมาสที่ 2 ของปีนี้  โดยบริษัทใหม่ (NewCo) จะมีผลกำไรที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจาก NewCo จะมีสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นใน ADVANC เป็น 40.44% จากเดิมถือทางอ้อมในสัดส่วน 19.16% ส่งผลให้ได้รับส่วนแบ่งกำไรเพิ่มขึ้นประมาณ 3,500 ล้านบาทต่อปี ในขณะเดียวกัน กระแสเงินสดจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 6,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งสามารถรองรับการขยายธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ ในอนาคต

สำหรับความคืบหน้าหลังควบรวมกิจการกับบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH เป็นบริษัทใหม่ภายใต้ชื่อ Gulf Development Public Company Limited (GULF) ที่จะเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.นี้

โดยขั้นตอนการดำเนินงานของบริษัทใหม่นั้น เริ่มจาก INTUCH จ่ายเงินปันผลวันที่ 4 มี.ค.2568 ขณะที่ GULF จ่ายเงินปันผลภายในวันที่ 6 มี.ค.2568 จากนั้นซื้อขายวันสุดท้ายของ GULF และ INTUCH ภายในวันที่ 20 มี.ค.2568 และจะมีการประชุมผู้ถือหุ้นร่วมของ GULF และ INTUCH ภายในวันที่ 25 มี.ค.2568 โดยจะมีการประกาศชื่อบริษัทใหม่ พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่

หลังจากนั้น GULF และ INTUCH จะระงับการซื้อขาย เพื่อเตรียมเข้าจดทะเบียน NewCo ระหว่างวันที่ 21 มี.ค.-2 เม.ย.2568 และจะเริ่มซื้อขายบริษัทใหม่ ภายใต้ชื่อย่อ GULF ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.2568 เป็นต้นไป

ส่วนกรณีที่ภาครัฐเตรียมแทรกแซงค่าไฟฟ้าในประเทศไทยนั้น บริษัทมองว่า มีผลกระทบน้อย เนื่องจากพอร์ตการลงทุนโรงไฟฟ้าของบริษัทส่วนใหญ่เป็นโครงการ IPP และพลังงานหมุนเวียนได้รับเงินสนับสนุนในรูปแบบ FIT คิดเป็นสัดส่วน กว่า 90%ของพอร์ตไฟฟ้า และขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ดังนั้นหากรัฐเข้ามาแทรกแซงค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน จะไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัท เพราะจะส่งผ่านต้นทุนการดำเนินการไปยัง กฟผ. แต่จะมีส่วนที่กระทบจากการขายไฟฟ้าให้กับโรงงานอุตสาหกรรม สัดส่วนประมาณ 6% ซึ่งเป็นไปตามแผนลงทุนของบริษัทที่ได้บริหารจัดการความเสี่ยงในการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าไว้แล้ว โดยจะไม่พึ่งพารายได้จากธุรกิจที่บริหารความเสี่ยงไม่ได้ เช่น กรณีการเข้ามาแทรกแซงค่าไฟฟ้าของภาครัฐ