ผู้ชมทั้งหมด 602
GULF ทุ่มงบ 9 หมื่นล้านบาท เดินหน้าขยายการลงทุนตามแผน 5ปี ขณะที่ปี2567 เตรียมใช้เงิน 2 หมื่นล้านบาท มุ่งธุรกิจพลังงานหมุนเวียน วางเป้ารายได้โตไม่น้อยกว่า 30% ตามกำลังการผลิตทยอยเข้าพอร์ตเพิ่มอีก 2,500 เมกะวัตต์ จากโรงไฟฟ้า GPD หน่วย 3-4 รวม 1,325 เมกะวัตต์ และหินกองเฟสแรก 770 เมกะวัตต์
นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยว่า บริษัทตั้งงบลงทุน 5 ปี(ปี 2567-2571) อยู่ที่ประมาณ 9 หมื่นล้านบาท โดยสัดส่วน 80% ยังคงเน้นการขยายการลงทุนพลังงานหมุนเวียน ทั้งโรงไฟฟ้าพลังน้ำ โซลาร์ฟาร์ม โซลาร์พ่วงแบตเตอรี่ โรงไฟฟ้าขยะ และโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งเงินลงทุนดังกล่าวยังคงมาจากกระแสเงินสดของบริษัท การออกบอนด์ และการกู้เงินจากสถาบันการเงิน
ขณะที่ปี 2567 บริษัทเตรียมใช้งบลงทุนประมาณ 2 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่จะใช้สำหรับขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน คิดเป็นสัดส่วน 65% ,เงินลงทุนสำหรับโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในแผน สัดส่วน 31% และเงินลงทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน 3% ส่วนที่เหลืออีก 1% จะใช้สำหรับการลงทุนด้านดิจิทัล ดาต้าเซ็นเตอร์ เป็นต้น
รวมถึงในปี 2567 บริษัทมีแผนเสนอขายหุ้นกู้ จำนวน 3-3.5 หมื่นล้านบาท หลังจากปี 2566 บริษัทได้เสนอขายหุ้นกู้ไปแล้ว 2 ครั้ง คือ ในเดือนมีนาคม มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท และเดือนกันยายน ออกเสนอขาย 1.5 หมื่น ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับรีไฟแนนซ์หุ้นกู้ที่ครบกำหนด และใช้สำหรับการขยายธุรกิจต่อไป
“บริษัทวางเป้ารายได้ปี 2567 เติบโตไม่ต่ำกว่า 30% เมื่อเทียบกับปีนี้ที่คาดว่าจะมีรายได้เติบโต 50% จากปี 2565 โดยมั่นใจว่าผลการดำเนินงานในปี 2567 จะเติบโตขึ้นตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยรับรู้กำไรตามสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการต่างๆเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้า IPP ทั้ง GSRC และ GPD หลังจาก COD ครบ 5,000 เมกะวัตต์ตามสัญญา PPA คาดว่าจะรับรู้กำไรประมาณ 7,000-8,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ คาดรับรู้กำไรตามสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี”
ทั้งนี้ ปัจจัยหนุนผลประกอบการ จะมาจากโครงการโรงไฟฟ้า กัลฟ์ พีดี (GPD) หน่วยที่ 3 และ 4 กำลังการผลิตรวม 1,325 เมกะวัตต์ ในช่วงเดือนมีนาคมและตุลาคม 2567 ตามลำดับ ,โรงไฟฟ้าหินกองหน่วยที่ 1 กำลังการผลิต 770 เมกะวัตต์ในเดือนมีนาคม 2567 ,โซลาร์รูฟท็อปที่จะ COD เพิ่มอีกประมาณ 100 เมกะวัตต์ ,โครงการโซลาร์ฟาร์มในประเทศไทย จำนวน 160 เมกะวัตต์ และโครงการโซลาร์ฟาร์มร่วมกับระบบแบตเตอรี่ อีก 135 เมกะวัตต์ในช่วงปลายปี 2567 ทำให้มีกำลังการผลิตที่ COD เพิ่มเป็น 14,930 เมกะวัตต์ จากปีนี้อยู่ที่ 12,440 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตามในส่วนของโครงการแลนด์บริดจ์ หรือโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย -อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) บริษัทมีความสนใจที่จะร่วมลงทุน โดยอยู่ระหว่างการศึกษาติดตามนโยบายของภาครัฐ ที่จะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุน ว่าจะมีความเหมาะสมกับการลงทุนมากน้อยแค่ไหน ส่วนบริษัทจะเข้าลงทุนหรือไม่นั้น ขึ้นกับข้อกำหนดของภาครัฐ
ส่วนความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในลาว จำนวน 3 โครงการ กำลังการผลิตรวม 3,142 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการหลวงพระบาง ขนาด 1,460 เมกะวัตต์ ,โครงการปากลาย 770 เมกะวัตต์ และโครงการปากเบง 912 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีความคืบหน้าด้านการก่อสร้างตามแผน กำหนด COD ในปี 2573-2576 คาดว่าบริษัทจะรับรู้กำไรตามสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ประมาณ 3,500-4,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่โครงการโซลาร์ฟาร์มร่วมกับระบบแบตเตอรี่ รวม 649 เมกะวัตต์ กำหนด COD ในปี 2567-2568 จะรับรู้กำไรประมาณ 950-1,000 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้บริษัทยังเตรียมทยอยลงนามสัญญาเพิ่มเติมอีก 700 เมกะวัตต์ ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ที่ชลบุรี รวม 16 เมกะวัตต์ กำหนด COD ปี 2569 คาดรับรู้กำไรประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี
สำหรับ แนวโน้มผลดำเนินงานในไตรมาส 4/2566 บริษัทคาดผลประกอบการเป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากโรงไฟฟ้าGPD หน่วยที่ 2 ขนาด 662.5 เมกะวัตต์ COD เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และโครงการ BKR2 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังลมในทะเลประเทศเยอรมัน จะมีผลประกอบการที่ดีขึ้น เนื่องจากไตรมาส 4 เป็นช่วงไฮซีซั่นของโรงไฟฟ้าพลังงานลม เช่นเดียวกับโครงการโรงไฟฟ้าพลังลมในไทยที่บริษัทร่วมทุนกับบริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น
นอกจากนี้ ราคาก๊าซธรรมชาติ Henry Hub ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Jackson ที่สหรัฐฯ มีกำไรเพิ่มขึ้น และโครงการโซลาร์รูฟท็อปจะ COD เพิ่มอีก 30 เมกะวัตต์ในไตรมาส 4 ปีนี้ ส่งผลทั้งปี 2566 COD รวม 150 เมกะวัตต์ และแม้ว่าค่าไฟงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 จะลดลงเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย แต่ด้วยต้นทุนราคาก๊าซฯที่ลดลงเป็นไม่เกิน 330 บาทต่อล้านบีทียู จึงไม่ส่งกระทบต่ออัตราส่วนกำไรขั้นต้น(Gross Profit Margin) ของ SPP รวมทั้งบริษัทมีสัดส่วนการขายไฟให้กับลูกค้าอุตสหากรรม(IU) สัดส่วนเพียง 8% เท่านั้น ดังนั้นไตรมาส 4/2566 จึงมีผลประกอบการเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้