GPSC โชว์โรงไฟฟ้าขยะ RDF แห่งแรกที่จ.ระยอง

ผู้ชมทั้งหมด 1,225 

GPSC เปิดโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง RDF กำลังการผลิต 9.8 เมกะวัตต์ หลังเปิดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ เมื่อเดือน พ.ค. 64 ที่ผ่านมา ชูโมเดลบริหารจัดการขยะครบวงจรแห่งแรก จ.ระยอง ด้วยมูลค่าลงทุนกว่า 2,217 ล้านบาท

นายศิริเมธ ลี้ภากรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel: RDF)  กำลังการผลิต 9.8 เมกะวัตต์ ได้เดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ภายใต้โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ซึ่งถือเป็นโครงต้นแบบ เพื่อการบริหารการจัดการขยะแบบครบวงจรแห่งแรกในพื้นที่ จ.ระยอง ที่จะตอบสนองการเติบโตภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ  EEC  โดย GPSC เป็นผู้ลงทุน 100%  มูลค่าลงทุน 2,217 ล้านบาท

โครงการดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่ติดกับศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจร จ.ระยอง เพื่อรับเชื้อเพลิง RDF แบ่งการลงทุนเป็นโครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง RDF ประมาณ 1,655 ล้านบาท และโรงงานผลิต  RDF ประมาณ 562 ล้านบาท โดยโรงงานผลิต RDF ดังกล่าว เป็นการต่อยอดการบริหารจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพจากความร่วมมือระหว่าง GPSC และองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง (อบจ.ระยอง) ซึ่งเป็นผู้จัดการขยะจากชุมชน ครอบคลุมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในจังหวัดระยอง จำนวน 67 แห่ง

การป้อนขยะชุมชนเข้าสู่โรงงานผลิต RDF ด้วยกำลังการผลิตที่ GPSC สามารถนำมาคัดแยกขยะในปริมาณ 500 ตัน/วัน หรือ 170,000 ตัน/ปี  ซึ่งเพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้า จากปริมาณขยะชุมชนในจังหวัดระยอง ที่มีอยู่ประมาณ 1,000-1,200 ตัน/วัน ทำให้เกิดความมั่นคงต่อการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง  

“โครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง RDF แห่งนี้ ถือเป็นโมเดลของการบริหารจัดการขยะครบวงจรแห่งแรก ใน จ.ระยอง ที่นำมาสู่การต่อยอดและแก้ไขปัญหาขยะของชุมชนใน จ.ระยอง อย่างแท้จริง สามารถลดพื้นที่ฝังกลบขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มใช้เทคโนโลยีเตาเผาไหม้แบบตะครับเคลื่อนที่ (Moving Grate) ที่มีอุณหภูมิ 850-1,100 องศาเซลเซียส และลำเลียงขยะ RDF ด้วยสายพานด้วยระบบปิด ติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง และรายงานป้ายแสดงผลคุณภาพสิ่งแวดล้อม (Emission Display Board) บริเวณด้านหน้าโรงงาน เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับหน่วยงานต่างๆ และชุมชนโดยรอบ ว่าการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้” นายศิริเมธ กล่าว

ทั้งนี้ภายใต้โครงการโรงไฟฟ้าจาก RDF บริษัทฯ ยังได้จัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้ แปลงขยะเป็นพลังงาน” ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 12 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้และเห็นคุณค่าของการคัดแยกตั้งแต่ระดับครัวเรือน ไปจนถึงระดับชุมชน โดยศูนย์ฯ แห่งนี้ ได้จัดทำแบบจำลองนวัตกรรมการคัดแยกขยะชุมชน และเกมส์จำลองต่างๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงวิธีการดำเนินการของโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง RDF 

ขณะเดียวกันบริษัทฯ อยู่ระหว่างการพัฒนาระบบการเยี่ยมชมรูปแบบนิทรรศการเสมือนจริง หรือ RDF Virtual Exhibition ที่เผยแพร่ข้อมูลด้านการจัดการขยะพลังงาน  เป็นการเปิดประสบการณ์ท่องโลกทางดิจิทัล  ที่เสริมการเรียนรู้ของเยาวชน และประชาชนได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าเยี่ยมชมการผลิตจริงในโรงงาน ซึ่งคาดว่าจะพัฒนาแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้  

การพัฒนานวัตกรรมพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่สำคัญของบริษัทฯ  สอดคล้องกับแนวทางพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน โดยตระหนักถึงความสำคัญด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) อย่างจริงจัง เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันจะเป็นรากฐานสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของบริษัทฯ ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยและสหประชาชาติ  ในการพัฒนาระบบไฟฟ้า ส่งมอบพลังงานสะอาดให้กับชุมชนและสังคม นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิต เพื่อการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีความยั่งยืนต่อไป