GPSC ผนึก สพฐ. จัดคอร์สติวเข้มครูประถม 16 แห่ง หนุนเพิ่มทักษะเยาวชนไทย

ผู้ชมทั้งหมด 547 

GPSC -สพฐ. ยกระดับการศึกษาไทยผ่านโครงการ “พัฒนาครูสู่การเรียนรู้วิถีใหม่” รูปแบบออนไลน์ เปิดสูตรติวเข้มครูประถม 16 แห่ง เพิ่มทักษะการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ด้วยระบบ S.T.E.M รับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม

นายณรงค์ชัย   วิสูตรชัย     ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสรัฐกิจสัมพันธ์และกิจการสาธารณะ   บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า นับเป็นความสำเร็จของการบูรณาการที่เกิดขึ้น จากความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ในการพัฒนาแนวทางการเรียนการสอนในยุค New Normal ในการจัดกิจกรรมการฝึกอบรมในโครงการ “การพัฒนาครูสู่การเรียนรู้วิถีใหม่” รุ่นที่ 1 ซึ่งมีครูและบุคลากรทางการศึกษาจากโรงเรียนชั้นประถมศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และในสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ที่ GPSC ให้การสนับสนุน จำนวน 16 แห่ง ผ่านการฝึกอบรม และดำเนินการกิจกรรมภายในโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว สพฐ.และ GPSC ได้ร่วมกันยกระดับมาตรฐานครูและบุคลากรทางการศึกษา ผ่านการนำทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ หรือที่เรียกว่า สะเต็ม (S.T.E.M) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ได้รับการส่งเสริมและรับรองจาก สพฐ. มาปรับใช้ในการออกแบบการเรียนการสอนผ่านสื่อการเรียนรู้ แทนการเรียนการสอนในห้องเรียนรูปแบบเดิมผ่านระบบออนไลน์แพลตฟอร์มหลากหลายโปรแกรม เน้นให้ครูผู้สอนถ่ายทอดในเชิงการปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี  สอดคล้องกับหลักสูตรของการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยครูที่เข้าร่วมฝึกอบรมภายใต้โครงการดังกล่าว จะได้รับวุฒิบัตรและได้รับการรับรองผลการประเมินการเข้าร่วมกิจกรรมจาก GPSC และ สพฐ. และยังสามารถนำผลการอบรมรายชั่วโมงไปจัดทำรายงานการประเมินผลเพื่อการชี้วัดในการเลื่อนวิทยฐานะ ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ ก.ค.ศ ได้กำหนดไว้ด้วยเช่นกัน

สำหรับครู และบุคลากรทางการศึกษาที่ผ่านการฝึกอบรมในครั้งนี้ สามารถนำเอาทักษะกระบวนการออกแบบกิจกรรม การใช้ความคิดสร้างสรรค์ นำไปสู่การสร้างหลักสูตรที่ทดแทนการเรียนการสอนรูปแบบเดิมได้อย่างเหมาะสมให้กับผู้เรียน ภายใต้สถานการณ์การเรียนการสอนในยุคปัจจุบัน เพื่อสนับสนุนให้คุณครูในฐานะผู้นำด้านการศึกษาของประเทศ ได้นำฐานความรู้ และทักษะที่หลากหลายมาใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ ในยุคแห่งการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มุ่งเน้นให้ “ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” สามารถเพิ่มทักษะ เสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ๆ ส่งผลให้เยาวชนไทยเข้าถึง และเข้าใจในบทเรียนมากขึ้น