GPC ลงนามร่วมทุนท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 เล็งดึงต่างชาติบริหาร

ผู้ชมทั้งหมด 824 

GPC ลงนามสัญญาร่วมทุนฯ พัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F มูลค่าการลงทุนกว่า 3 หมื่นล้าน เปิดบริการปี 68 คาดให้ผลตอบแทนจาการลงทุน 11% สร้างรายได้ 8,000 ล้านบาทต่อปี เล็งดีลต่างชาติบริหารได้ข้อสรุปปีหน้า

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของ ท่าเทียบเรือ F ว่า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของ ท่าเทียบเรือ F เป็นโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญของอีอีซี ที่จะช่วยเสริมความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นการส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมเพิ่มมูลค่า และการบริหารจัดการขนส่งหลายรูปแบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนค่าขนส่ง ซึ่งจะช่วยพัฒนาและขยายพื้นที่หลังท่าของท่าเรือแหลมฉบัง ได้อย่างเต็มศักยภาพ

นายรัฐพล ชื่นสมจิตต์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทน บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด (GPC) กล่าวว่า การลงทุนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F นั้นมูลค่าการลงทุนในส่วนของการพัฒนาโครงสร้างหน้าท่าจำนวน 30,871 ล้านบาท โดยในส่วนนี้จะแบ่งเป็นการกู้เงินในสัดส่วน 60-70% หรือประมาณ 21,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นเงินทุนราว 9,871 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของเงินทุนผู้ถือให้ในแต่ละบริษัทจะต้องลงทุนตามสัดส่วนการถือหุ้น

การลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือ F นั้นแบ่งออกเป็นท่าเทียบเรือ F1 และF2 โดยการดำเนินการก่อสร้างนั้นจะลงทุนในส่วนของท่าเทียบเรือ F1 ก่อนคาดว่าการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) จะดำเนินการถมทะเล และก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จในปี 2566 พร้อมส่งมอบพื้นที่ให้กับ GPC เข้าไปดำเนินก่อสร้างท่าเทียบเรือ อาคารสำนักงาน และติดตั้งเครื่องจักร ซึ่งกำหนดแล้วเสร็จปี 2568

สำหรับท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของ ท่าเทียบเรือ F คาดว่าจะให้ผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) 11% โดยคาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่ปี 2568 โดยในส่วนของท่าเทียบเรือ F1 จะมีรายได้เฉลี่ยต่อปีราว 4,000 ล้านบาท และหลังจากปี 2572 เมื่อดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือ F2 แล้วเสร็จก็คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 8,000 ล้านบาทต่อปี ระยะเวลาการคืนทุน 10 ปี  อย่างไรก็ตามการบริหารท่าเรือนั้นต้องจ้างบริษัทต่างชาติเข้ามาบริหาร เนื่องจากเป็นท่าเทียบเรือขนาดใหญ่บริษัทต่างชาติมีความเชี่ยวชาญมากกว่าบริษัทในไทย ซึ่งขณะนี้ก็อยู่ระหว่างการเจรจากับหลายบริษัท ทั้งบริษัทในเอเชีย ยุโรป และตะวันออกกลาง คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปีหน้า

ทั้งนี้ช่วงระหว่าง กทท.ดำเนินงานถมทะเลนั้น GPC ก็จะดำเนินการออกแบบ จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ (EHIA) และจัดทำแผนการตลาดไปด้วย อย่างไรก็ตามกลุ่ม GPC เชื่อมั่นในประสิทธิภาพว่าจะสามารถแข่งขันได้กับท่าเรือสิงคโปร์ เนื่องจากเป็นท่าเรือขนาดใหญ่ที่สามารถรองรับเรือขนาดใหญ่ที่ขนตู้สินค้าได้ 18,000 – 24,000 ตู้ ขณะเดียวกันบริเวณท่าเทียบเรือมีขนาดกว้างสามารถกลับเรือได้สะดวกและรวดเร็วเมื่อลงสินค้าแล้วเสร็จก็เชื่อว่าจะช่วยดึงดูดให้สายการเดินเรือมาใช้บริการ

เรือโทยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการสายบริหารการเงินและกลยุทธ์องค์กร และรักษาการแทนผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 จะสามารถรองรับเรือที่มีขนาดบรรทุกสินค้าใหญ่ที่สุดในโลกได้ มีการบริหารจัดการสินค้าด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยด้วยระบบอัตโนมัติ พร้อมทั้งจะมีโครงข่ายเชื่อมโยงหลังท่าเรือ ทั้งทางบก ทางราง และทางเรือชายฝั่ง อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนผสมผสานให้เป็นท่าเรือสีเขียว คำนึงถึงคุณภาพสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ คำนึงถึงสุขภาพของประชาชนในบริเวณใกล้เคียง อันจะนำไปสู่ท่าเรือชั้นนำระดับมาตรฐานโลก

สำหรับโครงการพัฒนาทลฉ.ระยะที่ 3 มูลค่าโครงการรวมประมาณ 1.1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น กทท. ลงทุนประมาณ 50,000 ล้านบาท และเอกชนลงทุนประมาณ 60,000 ล้านบาท ในส่วนของเอกชนแบ่งเป็นเงินลงทุนในท่าเทียบเรือ F ประมาณ 30,000 ล้านบาท ท่าเทียบเรือ E ประมาณ 25,000 ล้านบาท และท่าเทียบเรือ E0 ประมาณ 5,000 ล้านบาท

โดยเป็นการพัฒนาและดำเนินการในส่วนของท่าเทียบเรือ F เป็นลำดับแรก ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี วงเงินเอกชนลงทุนประมาณ 30,871 ล้านบาท แบ่งเป็นการพัฒนาท่าเทียบเรือ F1 จะเริ่มก่อสร้างในปี 2566 โดยมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2568 และท่าเทียบเรือ F2 จะเริ่มก่อสร้างในปี 2570 โดยมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2572 ซึ่งมีความสามารถ ความสามารถในการรองรับการขนถ่ายตู้สินค้าได้อย่างน้อย 4,000,000 ทีอียูต่อปี