ผู้ชมทั้งหมด 67
GC เดินหน้าผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) สำเร็จเป็นรายแรกของไทย ตอกย้ำศักยภาพผู้นำเคมีภัณฑ์คาร์บอนต่ำระดับโลก วางแผนผลิต SAF 6 ล้านลิตรต่อปี โดยใช้น้ำมันพืชใช้แล้วเป็นวัตถุดิบหลัก พร้อมเตรียมขยายการผลิตเป็น 24 ล้านลิตรต่อปีในอนาคต
“ความแตกต่างด้วยนวัตกรรม ที่ยั่งยืน” เป็นวิสัยทัศน์ของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ผู้นำในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ครบวงจรของไทย ที่มุ่งมั่นสู่การเป็นผู้นำระดับโลกด้านเคมีภัณฑ์ครบวงจรแห่งอนาคต ผ่านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน ภายใต้เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2593 (ค.ศ. 2050)
ล่าสุด GC ประสบความสำเร็จในการเริ่มผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) เป็นรายแรกของประเทศ นับเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมพลังงานและเคมีภัณฑ์ด้วยนวัตกรรมเคมีชีวภาพ การผลิต SAF ของ GC เป็นการต่อยอดความเชี่ยวชาญด้านการกลั่นและเคมีภัณฑ์ชั้นสูง มาสู่นวัตกรรมพลังงานสะอาดสำหรับอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบทางการเกษตรและของเสียในประเทศ และส่งเสริมศักยภาพของไทยในการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการบินคาร์บอนต่ำของภูมิภาคอาเซียน
นายทศพร บุณยพิพัฒน์ ผู้จัดการใหญ่ GC กล่าวว่า “การผลิต SAF เชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการในวันนี้ พร้อมรองรับความต้องการพลังงานทดแทนของอุตสาหกรรมการบินพาณิชย์ไทยที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และให้ความสำคัญกับการนำแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนมาใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่ง SAF ของ GC ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISCC CORSIA (International Sustainability and Carbon Certification – Carbon Offsetting and Reduction Scheme for International Aviation) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ยอมรับในอุตสาหกรรมการบินสำหรับการรับรองความยั่งยืน และสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 80%* เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานทั่วไป (*อ้างอิงตามมาตรฐานการรับรอง ISCC CORSIA)
นอกจากนี้ GC ยังได้รับรองมาตรฐาน ISCC Plus (International Sustainability and Carbon Certification Plus) ซึ่งมุ่งเน้นการใช้วัตถุดิบชีวภาพและวัสดุหมุนเวียนใน การพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืน โดย GC ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูงอีกกว่า 10 ชนิด เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ยั่งยืน อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมสิ่งทอ ถือเป็นการยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานภายใต้กรอบความยั่งยืนสูงสุด
อย่างไรก็ตาม ความต้องการของตลาด SAF กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลจากความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมการบินเชิงพาณิชย์และการกำหนดกรอบกฎหมายที่สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
GC ได้เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความท้าทายและโอกาสนี้ ด้วยจุดแข็งสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการกลั่นน้ำมัน และการบริหารจัดการวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการนำน้ำมันพืชใช้แล้วภายในประเทศมาผลิตเป็น SAF เชิงพาณิชย์
นอกจากนี้ GC ยังได้สร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับพันธมิตรสำคัญในอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งจะช่วยให้ GC สามารถรักษาส่วนแบ่งตลาด SAF ได้อย่างมั่นคง และมีบทบาทสำคัญในการกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมการบินพาณิชย์และพลังงานในอนาคต
สำหรับจุดเด่นของโรงกลั่นชีวภาพ (Biorefinery) แห่งนี้ ประกอบด้วย
นวัตกรรมการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง : ในเฟสแรก GC วางแผนผลิต SAF 6 ล้านลิตรต่อปี โดยใช้น้ำมันพืชใช้แล้วเป็นวัตถุดิบหลัก และมีแผนขยายการผลิตเป็น 24 ล้านลิตรต่อปีในอนาคต ด้วยการใช้เทคโนโลยีการปรับปรุงโรงกลั่นที่มีอยู่เดิม ทำให้สามารถประหยัดการลงทุนเมื่อเทียบกับการสร้างโรงงานใหม่ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการขยายขีดความสามารถการผลิตพลังงานชีวภาพเพื่อรองรับการเติบโตที่ยั่งยืน(ให้เพิ่มเรื่องการลงทุนต่ำไปด้วย)
พันธมิตรเชิงกลยุทธ์ : ความร่วมมือระหว่าง GC กับพันธมิตรสำคัญอย่าง OR และการบินไทยในการนำ SAF ไปใช้กับเที่ยวบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ นับเป็นก้าวสำคัญของ การพัฒนาเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่ครอบคลุมทั่วภูมิภาค พร้อมสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมการบินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง : GC ได้พัฒนาเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมสำคัญหลากหลายประเภท ได้แก่ บรรจุภัณฑ์ยั่งยืน ชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ รวมถึงยาและเวชสำอางค์ โดยมุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตถุดิบทางการเกษตรในประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม : การลงทุนในโครงการนี้ไม่เพียงช่วยเสริมความมั่นคงทางพลังงานของประเทศและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคการบิน แต่ยังเปิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ในอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ พร้อมสนับสนุนเกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นผ่านการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตทางการเกษตร ตอกย้ำบทบาทของ GC ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนของประเทศ
ขณะที่ แผนการเติบโตในอนาคตของ GC มีแผนขยายกำลังการผลิตเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ใช้พลังงานทดแทน และการลงทุนในเทคโนโลยีที่ยั่งยืน เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นในตลาดเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ชีวภาพในอนาคต ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในระยะยาว
รวมถึง เสริมสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งและขยายฐานการตลาด รวมถึงการทำงานร่วมกับองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพและพลังงานทดแทน เพื่อผลักดันการพัฒนาและขยายตลาดผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน
พร้อมพัฒนาและส่งเสริมความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การคัดเลือกแหล่งวัตถุดิบทางชีวภาพที่ยั่งยืนไปจนถึงการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เพื่อให้กระบวนการผลิตเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ชีวภาพมีความยั่งยืนมากขึ้น ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม
นอกจากนี้ ยังเตรียมส่งมอบโซลูชันอย่างครบวงจรสำหรับภาคอุตสาหกรรม โดยมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่สนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมต่างๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่อุปทาน
ควบคู่กับการ สร้างภาพลักษณ์องค์กรในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน ด้วยการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมและธรรมมาภิบาล พร้อมสร้าง ความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคและผู้ถือหุ้นในระยะยาว