ผู้ชมทั้งหมด 929
GC ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลินโรงงานเม็ดพลาสติกรีไซเคิลปี2566 แตะ 60-80% หลังลุ้นคว้าใบอนุญาต อย. รองรับความปลอดภัยใช้งานบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ช่วงไตรมาส1 ปีหน้า พร้อมเร่งหาลูกค้ากระตุ้นการขาย แนะรัฐใช้มาตรการภาษี ส่งเสริมการใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลในประเทศตอบโจทย์BCG และลดภาวะโลกร้อน เตรียมลุยขยายเครือข่ายชุมชนร่วมคัดแยกขยะสร้างเศรษฐกิจระดับฐานราก
เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2565 บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) หรือ GC นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมโรงงานENVICCO ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงระดับ Food Grade ที่ผ่านการรับรองโดยองค์การอาหารและยาสหรัฐ (U.S. Food and Drug Administration : US FDA) แห่งแรกในประเทศไทย และใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้วัตถุดิบทั้งหมด 100% เป็นพลาสติกใช้แล้วในประเทศ ผ่านเทคโนโลยีการผลิตที่ล้ำสมัย เพื่อคืนคุณค่าให้กับพลาสติกใช้แล้วให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าอีกครั้ง โดยมีคุณสมบัติเทียบเท่าพลาสติกใหม่
โรงงานแห่งนี้ ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง หลังจากโรงงานได้เปิดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2565 โดยมีกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลสูงถึง 45,000 ตันต่อปี แบ่งเป็นเม็ดพลาสติก ชนิด rPET จำนวน 30,000 ตันต่อปี และ เม็ดพลาสติก ชนิด rHDPE จำนวน 15,000 ตันต่อปี โดยการดำเนินการของ ENVICCO จะช่วยลดขยะพลาสติกในประเทศไทย ได้ถึง 60,000 ตันต่อปี ลดก๊าซเรือนกระจกได้ 75,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เทียบเท่าการปลูกป่าประมาณ 78,000 ไร่ หรือ ปลูกต้นไม้ใหญ่กว่า 8.32 ล้านต้น
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) ระบุว่า โรงงานผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล อยู่ระหว่างรอการอนุมัติใบอนุญาตจากองค์การอาหารและยา(อย.) สำหรับรองรับมาตรฐานความปลอดภัยการใช้เม็ดพลาสติกรีไซเคิลชนิด rPET และ rHDPE เพื่อขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม คาดว่าจะได้รับการอนุมัติช่วงไตรมาส 1 ของปี 2566 ซึ่งจะช่วยให้บริษัทฯสามารถใช้กำลังการผลิตได้เพิ่มขึ้นเป็น 60-80% จากปัจจุบันที่ใช้กำลังการผลิตได้ 40% ทำให้เกิดความคุ้มค่าในการลงทุนมากขึ้น
และในปีหน้า โรงงานเม็ดพลาสติกรีไซเคิล จะเพิ่มการดำเนินงานให้ครบวงจรมากขึ้น เปิดโอกาสให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมสร้างนิสัยคัดแยกขยะ เป็นหนึ่งในเครือข่ายจัดหาพลาสติกใช้แล้วป้อนให้กับโรงงานฯ เพื่อช่วยเหลือเรื่องของสิ่งแวดล้อมและยังเป็นการสร้างเศรษฐกิจระดับชุมชน
อีกทั้ง โรงงานนี้ถือเป็นหนึ่งในแผนกลยุทธ์ระยะยาวของบริษัทฯ ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่จะทำให้ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ครบสมบูรณ์ และยังช่วยให้เกิดการสร้างงานในชุมชน ตอบโจทย์ BCG Model(Bio-Circular-Green Economy Model) ของประเทศไทยอีกด้วย
นายณัฐนันท์ ศิริรักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นวิคโค จำกัด กล่าวว่า เม็ดพลาสติกรีไซเคิล จะมีต้นทุนสูงกว่าพลาสติกทั่วไปราว 20-30% ซึ่งลูกค้าที่ใช้พลาสติกรีไซเคิล น่าจะบริหารจัดการต้นทุนโดยการจัดสรรงบประมาณและงบด้านกิจการเพื่อสังคม (CSR) เข้ามาร่วมในการผลิต เพราะหากเทียบกับการที่ผู้ประกอบการ ต้องโดนข้อจำกัดเรื่องการตั้งกำแพงภาษีจากอียู ที่กำหนดให้ผู้ส่งออกสินค้าไปยุโรปต้องใช้พลาสติกรีไซเคิลเป็นส่วนผสมเพื่อลดภาวะโลกร้อนนั้น ที่มีอัตราเสียภาษีประมาณ 800 ยูโรต่อตัน และจะบังคับใช้ปี 2566 นั้น การหันมาใช้พลาสติกรีไซเคิลเป็นส่วนผสมก็จะคุ้มค่ากว่าการถูกเรียกเก็บภาษี
“บริษัทฯ ได้จัดหาลูกค้ารองรับการใช้พลาสติกรีไซเคิลเพิ่มขึ้นกว่า 10 รายแล้ว รองรับกำลังการผลิตพลาสติกรีไซเคิลที่จะเพิ่มขึ้น หลังจากได้อย. ปัจจุบันโรงงานนี้มีการผลิตเพื่อส่งออกเป็นส่วนใหญ่ประมาณ 70% และจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการในประเทศประมาณ 30% มีรายได้หลักร้อยล้านบาท คาดว่าเปีหน้า รายได้จะทะลุพันล้านบาท หลังได้ อย. เพราะจะหนุนให้การใช้กำลังการผลิตเพื่อ ขณะที่การตั้งกำแพงภาษีของอียูก็จะเป็นส่วนผลักดันให้เกิดการใช้เพื่มขึ้น เพื่อลดภาวะโลกร้อน”
ทั้งนี้ มองว่า การส่งเสริมใช้พลาสติกรีไซเคิลในประเทศไทยให้แพร่หลาย ภาครัฐควรออกมาตรการทางด้านภาษีเพื่อส่งเสริมการใช้พลาสติกรีไซเคิล โดยกำหนดรูปแบบที่เหมาะสม และจูงใจการคัดแยกขยะรีไซเคิลให้มีมาตรฐาน รวมถึงการให้ความรู้แยกขยะอย่างถูกต้องเพื่อสร้างรากฐานที่ยั่งยืนในประเทศ
อย่างไรก็ตาม GC ยังร่วมกับหลากหลายพันธมิตร มุ่งให้ความรู้ สร้างความเข้าใจในการจัดการ และคัดแยกขยะอย่างถูกวิธีผ่านโครงการต่างๆ อาทิ โครงการ Upcycling the Oceans, Thailand โครงการ ThinkCycle Bank โครงการ PPP Rayong เป็นต้น และได้ริเริ่ม YOU เทิร์น แพลตฟอร์ม ระบบบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้วแบบครบวงจรด้วยหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน ตั้งแต่การรวบรวม และคัดแยกพลาสติกใช้แล้ว การขนส่งเพื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล โดยพลาสติกใช้แล้วเข้าสู่โรงงาน ENVICCO ด้วย เพื่อชุบชีวิตเพิ่มมูลค่าให้พลาสติกใช้แล้ว จนได้กลับมาเป็นสินค้าไลฟ์สไตล์ ตอบสนองการดำเนินชีวิตของผู้คน และส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมการคัดแยกขยะ โดยแพลตฟอร์มนี้สามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้ทุกระดับ สู่การขยายผลสู่วงกว้างได้อย่างไม่สิ้นสุด สนับสนุนเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกทั้งในระดับโลก และระดับประเทศ เพื่อให้เราสามารถส่งต่อโลกที่น่าอยู่ใบนี้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้ด้วยความภาคภูมิใจ “Together to Net Zero”
ทั้งนี้ ENVICCO ดำเนินการภายใต้ บริษัท เอ็นวิคโค จำกัด (ENVICCO Limited) ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง GC และALPLA ผู้นำระดับโลกในธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติก และพลาสติกรีไซเคิล โดยทั้ง 2 บริษัท มีความตั้งใจร่วมกันที่จะรักษาคุณค่าของพลาสติกไว้ให้มากที่สุด