ผู้ชมทั้งหมด 862
กระแสรักษ์โลกที่มาแรง ทำให้ผู้บริโภคหันมาใช้สินค้าที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมกันมากขึ้น โดยจากผลสำรวจของ Kantar (2021) พบว่า 47 % ของผู้บริโภคสายรักษ์โลก (Eco-Actives) เลือกซื้อบรรจุภัณฑ์ที่รีไซเคิลได้ และ 44 % เลือกซื้อบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล ด้วยความต้องการใช้พลาสติกรีไซเคิลที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้การคัดแยกพลาสติกใช้แล้วที่ต้นทาง เพื่อนำไปผลิตเป็นเม็ดพลาสตริกรีไซเคิลคุณภาพสูง (Post-consumer Recycled Resins หรือ PCR) ที่ปลายทาง เป็นเรื่องสำคัญ
“ปลายทางจะดีได้ ต้องมีจุดเริ่มต้นที่ดีก่อน”
จุดเริ่มต้นของการคืนคุณค่าให้พลาสติก
GC ในฐานะองค์กรที่นำหลัก ESG และแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) มาใช้ในการดำเนินธุรกิจยั่งยืน จึงมุ่งมั่นบริหารจัดการพลาสติกใช้แล้วแบบครบลูป ตั้งแต่การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ และร่วมกับพันธมิตรตั้งจุดรับพลาสติกสะอาด (Youเทิร์น Drop Point) เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคคัดแยกพลาสติกใช้แล้วอย่างถูกวิธีตั้งแต่ต้นทาง ลดขยะพลาสติก ด้วยการนำพลาสติกใช้แล้วกลับเข้าโรงงานรีไซเคิล ที่มีนวัตกรรมการรีไซเคิล เพื่อผลิตเป็น PCR ที่สามารถนำมาผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์รีไซเคิลชนิดต่างๆ ที่ช่วยคืนคุณค่าของพลาสติกให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง โดยยังคงคุณภาพเดิมของพลาสติกไว้อย่างครบถ้วน ไม่มีกลิ่นและใช้งานได้ดี ไม่แตกต่างจากเดิม
“ปลายทางของพลาสติก คุณค่าที่ไม่มีวันลดลง”
คุณค่าของพลาสติกที่เพิ่มได้ด้วยการจัดการที่ดี
โรงงานรีไซเคิลของ GC และพันธมิตร มีชื่อว่าบริษัท เอ็นวิคโค จำกัด (ENVICCO) เป็นโรงงานรีไซเคิลพลาสติกที่ผ่านการรับรองโดยองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา และเป็นโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตจากยุโรปมาตรฐานแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถผลิต PCR ที่มีคุณภาพสำหรับใช้เป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร (Food Grade) ได้อย่างปลอดภัย โดย ENVICCO นับเป็นโรงงานที่มีกำลังการผลิตแบบบูรณาการครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลได้สูงถึง 45,000 ตันต่อปี แบ่งเป็น พลาสติกชนิด rPET (เช่น พลาสติกสำหรับผลิตขวดใส) 30,000 ตันต่อปี และชนิด rHDPE (เช่น พลาสติกสำหรับผลิตขวดขุ่น) 15,000 ตันต่อปี ด้วยศักยภาพการรีไซเคิลนี้ นอกจากจะคืนคุณค่าให้พลาสติกใช้แล้วกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ยังช่วยคืนคุณค่าให้สังคมไทย เพราะวัตถุดิบการผลิต 100 % นั้น มาจากพลาสติกใช้แล้วในประเทศ จึงช่วยลดขยะพลาสติกในประเทศได้ 60,000 ตัน/ปี อีกทั้งยังคืนคุณค่าให้สิ่งแวดล้อม ด้วยการลดก๊าซเรือนกระจก 75,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า/ปี และเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ใหญ่ประมาณ 8.32 ล้านต้น หรือการปลูกป่าประมาณ 78,000 ไร่
ทั้งหมดนี้ คือ เรื่องราวการคืนคุณค่าให้พลาสติกใช้แล้ว ตามหลัก ESG ในแบบฉบับของ GC ที่มุ่งหวังให้การดำเนินธุรกิจไม่ได้มีดีแค่ที่ผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่กระบวนการผลิต สังคมและสิ่งแวดล้อม ต้องดีไปพร้อมๆกันด้วย