ผู้ชมทั้งหมด 480
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 นายนที สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นายพรอรัญ สุวรรณพลาย รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน และนายวีระเดช เตชะไพบูลย์ นายกสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (RE100) นำคณะผู้เข้าอบรมหลักสูตรการบริหารจัดการการเปลี่ยนผ่านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Energy Transition & Climate Change Management ) หรือ ETC รุ่นที่ 5 ศึกษาดูงานที่โรงไฟฟ้าพลังงานขยะของบริษัท สยามพาวเวอร์ จำกัด (SP) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 9.5 เมกะวัตต์
โรงไฟฟ้าขยะสยามพาวเวอร์ นั้นเป็นโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel : RDF) มีโรงคัดแยกเชื้อเพลิงขยะ RDF 350-400 ตันต่อวัน แต่มีอัตราการใช้เชื้อเพลิงขยะประมาณ 300-350 ตันต่อวัน หรือ 120,000 ตันต่อปี ซึ่งมาจากบ่อขยะฝังกลบที่สยาม พาวเวอร์สัมปทานจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรีนั้นมีปริมาณขยะราว 3.8 ล้านตัน เพียงพอต่อการใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าตลอดอายุสัญญาการผลิตไฟฟ้า
อย่างไรก็ตามโรงไฟฟ้าขยะแห่งนี้ยังมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงมาคัดแยกเชื้อเพลิงขยะจากหลุมฝังกลบเดิมที่ อบจ.นนทบุรี เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า โดยใช้เตาเผาระบบฟลูอิดไดซ์เบดแบบหมุนเวียน (CFB) มีระบบบำบัดอากาศจากการเผาไหม้ (Flue Gas Treatment) และมีระบบควบคุมการบำบัดอากาศอย่างต่อเนื่อง (CEMs) เพื่อทำการตรวจวัดคุณภาพอากาศตลอด 24 ชั่วโมง ก่อนระบายออกสู่ปล่องระบายอากาศทำให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบด้วย
นายสุชาติ จงควินิต ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัต้การ บริษัท สยามพาวเวอร์ จำกัด กล่าวว่า โรงไฟฟ้าขยะสยามพาวเวอร์ เริ่มเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2564 ให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กำลังการผลิตไฟฟ้าเสนอขาย 8 เมกะวัตต์ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) 20 ปี อัตราการรับซื้อไฟฟ้ารวมการกำจัดขยะมูลฝอยอยู่ที่ 5.78 บาทต่อหน่วย สำหรับ 8 ปีแรก และ 5.08 บาทต่อหน่วย สำหรับ 12 ปีถัดไป โดยการดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะแห่งนี้คาดว่า จะมีรายได้ประมาณ 400 ล้านบาทต่อปี คาดว่าจะคืนทุนในระยะเวลา 8 ปี