ผู้ชมทั้งหมด 922
เอ็กโก กรุ๊ป ขายหุ้นทั้งหมดในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ จำนวน 3 แห่ง ในอินโดนีเซีย ให้แก่บริษัท สตาร์ เอ็นเนอร์ยี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ลั่นรับรู้รายได้ ประมาณ 16,780 ล้านบาท เตรียมนำเงินลุยลงทุนในโครงการใหม่ในอนาคต มุ่งพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป (EGCO) เปิดเผยว่า บริษัท โฟนิกซ์ พาวเวอร์ บีวี (“พีพี”) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของเอ็กโก ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นกับบริษัท สตาร์ เอ็นเนอร์ยี่ กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด เพื่อขายหุ้นในบริษัท สตาร์ เอ็นเนอร์ยี่ จีโอเทอร์มอล จำกัด (“เอสอีจี”) สัดส่วน 20% ของหุ้นสามัญที่ออกชำระแล้ว และขายหุ้นในบริษัท สตาร์ โฟนิกซ์ จีโอเทอร์มอล เจวี บีวี (“เอสพีจี”) ในสัดส่วน 30.25% ของหุ้นสามัญที่ออกชำระแล้ว เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2565
ทั้งนี้ การซื้อขายหุ้นดังกล่าวได้ดำเนินการเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้วเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2565 โดยเอ็กโก กรุ๊ป รับรู้รายได้จากการขายหุ้นทั้งสิ้น 485 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (เทียบเท่าประมาณ 16,780 ล้านบาท)
“การขายหุ้นทั้งหมดในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพทั้ง 3 แห่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การบริหารจัดการสินทรัพย์และการลงทุนของเอ็กโก กรุ๊ป โดยบริษัทสามารถรับรู้กำไรจากการขายหุ้นและมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง เพื่อรองรับการลงทุนในโครงการใหม่ในอนาคต โดยเฉพาะโครงการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดที่มีศักยภาพในการเติบโตเพิ่มมากขึ้น”
สำหรับโรงไฟฟ้า “สตาร์ เอ็นเนอร์ยี่” นั้น เอ็กโก กรุ๊ป เริ่มเข้าลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี 2557 โดยถือหุ้นทางอ้อมในสัดส่วน 20% และ 20.07% ของหุ้นสามัญที่ออกชำระแล้วของ “เอสอีจี วายัง วินดู” (“เอสอีจีดับบลิวดับบลิว”) และ “เอสอีจี ซาลัก-ดาราจัท บีวี” (“เอสอีจีเอสดี”) ผ่าน “เอสอีจี” และ “เอสพีจี” โดย “เอสอีจีดับบลิวดับบลิว” เป็นเจ้าของและผู้บริหารโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ “วายัง วินดู” กำลังผลิตติดตั้งรวม 227 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่จังหวัดชวาตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย
ในขณะที่ “เอสอีจีเอสดี” เป็นเจ้าของและผู้บริหารโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ “ซาลัก” และ “ดาราจัท” ตั้งอยู่ที่จังหวัดชวาตะวันตก ประเทศอินโดนีเซีย โดยโรงไฟฟ้า “ซาลัก” มีกำลังผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 376.8 เมกะวัตต์ (ไอน้ำ 180 เมกะวัตต์ และไฟฟ้า 196.8 เมกะวัตต์) สำหรับโรงไฟฟ้า “ดาราจัท” มีกำลังผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 271 เมกะวัตต์ (ไอน้ำ 55 เมกะวัตต์ และไฟฟ้า 216 เมกะวัตต์) โดยโรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง จำหน่ายไฟฟ้าภายใต้สัญญารับประกันการรับซื้อระยะยาวกับการไฟฟ้าอินโดนีเซีย (PLN)