EDL-Genชวนเอกชนไทยลงทุนโรงไฟฟ้าในลาวยันมีศักยภาพกว่า30,000MW

ผู้ชมทั้งหมด 1,223 

EDL-Gen ชวนผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าไทยร่วมลงทุนโครงการ IPP พลังงานน้ำในสปป.ลาว ระบุยังมีศักยภาพกว่า 30,000 เมกะวัตต์ หวังยกระดับเป็นผู้นำผลิตพลังงานสะอาดในภูมิภาคอาเซียน พร้อมตั้งเป้าปี 2572 มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งเพิ่มเป็น 2,435 เมกะวัตต์

นายดวงสี พารายก กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ผลิต-ไฟฟ้าลาว (มหาชน) หรือ EDL-Gen ผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าพลังงานสะอาดรายใหญ่ใน สปป.ลาว เปิดเผยว่า สำหรับจุดแข็งในการผลิตไฟฟ้าของ EDL-Gen นั้นมีประสบการณ์ความเชี่ยวชาญมากว่า 50 ปี ในการจัดหาผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ โดยเป็นส่วนที่ช่วยขับเคลื่อนสปป.ลาว ให้เป็นผู้นำการผลิตพลังงานสะอาดที่ยั่งยืนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ภูมิภาคอาเซียน ซึ่งสอดรับเทรนด์ของโลกในการพัฒนาพลังงานที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Energy

“เรามีเป้าหมายผลักดัน สปป.ลาว ให้เป็นผู้นำการผลิตพลังงานสะอาดที่ยั่งยืนและมั่นคงในภูมิภาค เพื่อป้อนความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น โดยมุ่งนำความเชี่ยวชาญมาพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ซึ่งมีต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าต่ำ ยั่งยืน และไม่ก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม สอดรับกระแส Green Energy ของโลก โดยใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ มาผลิตกระแสไฟฟ้าสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ภูมิภาคอาเซียน”นายดวงสีกล่าว

อย่างไรก็ตาม EDL-Gen มีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการขายไฟฟ้าไปยังต่างประเทศมากขึ้น จากที่ผ่านมาขายไฟฟ้าให้ต่างประเทศในสัดส่วน 60% และภายในประเทศ 40% ซึ่งส่วนใหญ่ในต่างประเทศนั้นจำหน่ายให้กับประเทศไทย โดยมีสัญญากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ราว 9,000 เมกะวัตต์ และล่าสุดได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (MOU) กับเวียดนามในปี 2021-2025 ราว 5,000 เมกะวัตต์ หลังจากนั้นคาดว่าจะ MOU เพิ่มเป็น 8,000 เมกะวัตต์ พร้อมกันนี้ยังอยู่ระหว่างการเจรจาขายไฟฟ้าให้กับประเทศกัมพูชา

นายวันแสง วันนะวง รองกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน EDL-Gen กล่าวว่า แนวทางพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำต่อจากนี้ EDL-Gen มีนโยบายเปิดกว้างให้เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) ร่วมลงทุนพัฒนาโครงการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าในประเทศไทยที่ให้ความสนใจเข้าไปร่วมลงทุน จากเดิมที่ EDL-Gen เป็นผู้ลงทุนพัฒนาโครงการเองทั้งหมด

โดยตั้งเป้าว่าภายในปี 2572 EDL-Gen จะมีโรงไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 42 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวม 2,435 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการที่ EDL-Gen ลงทุนและพัฒนาโครงการเอง รวม 18 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 974 เมกะวัตต์ และเป็นโครงการร่วมทุนกับ IPP จำนวน 24 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนถือหุ้นรวม 1,461 เมกะวัตต์ ช่วยผลักดันการดำเนินงานของ EDL-Gen ให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องในระยะยาว และสนับสนุน สปป.ลาว ผู้นำการผลิตพลังงานสะอาดที่ยั่งยืนและมั่นคงในภูมิภาค รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 2563 EDL-Gen มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมทั้งสิ้น 1,949 เมกะวัตต์ โดยเป็นโครงการโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการแล้ว 27 โครงการ กำลังการผลิตติดตั้งรวมของโครงการที่เปิดดำเนินการแล้ว 1,683 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำที่ EDL-Gen เป็นเจ้าของ 100% จำนวน 11 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 699 เมกะวัตต์ และโครงการร่วมภาคเอกชน (IPP) จำนวน 16 โครงการ กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งตามสัดส่วนถือหุ้น 984 เมกะวัตต์ โดยไทยเป็นฐานลูกค้าที่สำคัญของ EDL-Gen ที่มีสัดส่วนการซื้อไฟฟ้าจาก EDL-Genสูงถึง 42% ของปริมาณการผลิตไฟฟ้าติดตั้งทั้งหมด  อย่างไรก็ตาม EDL-Gen นั้นยังมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งโดยมีสินทรัพย์ราว 82,000 ล้านบาท มีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ราว 1.6 เท่า ยังมีความสามารถที่จะกู้เงินได้อีก

นายสุเทพ เลิศศรีมงคล อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ของ สปป.ลาว และนักวิชาการ EGAT กล่าวว่า สปป.ลาว มีศักยภาพในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำรายใหญ่ในภูมิภาคนี้ ซึ่งประเมินว่าภายในปี 2573 สปป.ลาว จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวมทั้งสิ้น 21,000 เมกะวัตต์ จากศักยภาพการผลิตทั้งหมดของทั้งประเทศที่คาดว่าจะผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่า 30,000 เมกะวัตต์ในระยะยาว เนื่องจากลักษณะพื้นที่ของประเทศมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติและมีแม่น้ำหลายสายนำมาพัฒนาโครงการได้ รวมถึงนโยบายของภาครัฐยังเปิดกว้างให้เอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระร่วมลงทุน จึงเป็นโอกาสที่ดีของบริษัทภาคเอกชนไทยเข้าร่วมพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าได้มากขึ้น

ขณะที่ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าในภูมิภาคนี้ ยังมีความต้องการเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยแต่ละประเทศมีแผนบริหารจัดการด้านความมั่นคงของพลังงาน ซึ่งไทยถือเป็นประเทศที่พึ่งพิงพลังงานไฟฟ้าจาก สปป. ลาว เป็นจำนวนมาก โดยจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศปี 2561-2580 (PDP 2018) ประเทศไทยสามารถรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้านได้อีก 3,500 เมกะวัตต์ ซึ่งยังสามารถซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ได้อีก 3,000 เมกะวัตต์ และจะเหลือสัดส่วนที่รับซื้อจากประเทศอื่นๆ อีก 500 เมกะวัตต์