EA ผนึก มทร.อีสานลุยพัฒนาอุตสาหกรรมEVครบวงจร

ผู้ชมทั้งหมด 961 

EA ผนึก มทร.อีสาน ลุยพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ครบวงจร เตรียมความพร้อมภาคแรงงาน การผลิตและซ่อมบำรุงยานยนต์ไฟฟ้า วิจัยพัฒนาแบตเตอรี่และสถานีอัดประจุไฟฟ้า ส่งเสริม Green University

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2564 นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง มทร อีสาน กับบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ผ่านระบบออนไลน์ (Zoom) โดยนายโฆษิต ศรีภูธร รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และนายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนายอมร  ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (EA) ร่วมลงนาม

นายสุรเกียรติ์ กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้  มีเป้าหมายเพื่อศึกษาวิจัยเชิงวิชาการและปฏิบัติการ เพื่อเตรียมทักษะและความพร้อมบุคลากรสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ครบวงจร ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive Engineering)  หลักสูตรการซ่อมบำรุงยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle Maintenance)  หลักสูตรระยะสั้นส่งเสริมการสร้างทักษะใหม่/พัฒนาทักษะ (Reskill/Upskill)

รวมทั้งการสร้างและซ่อมบำรุงรถไฟไฟฟ้าระบบแบตเตอรี่ (Electric Railway Maintenance)  ตลอดจนการวิจัยพัฒนาบรรจุภัณฑ์แบตเตอรี่ (Battery Packaging) และการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าเพื่อระบบขนส่ง (Logistics)  รวมถึงการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Charging Station) ภายในมหาวิทยาลัย ตามแนวคิดการดำเนินงานสู่การเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University)   ทั้งนี้ หลักสูตรจะเน้นการฝึกประสบการณ์วิชาชีพให้กับนักศึกษา และผสานความเชี่ยวชาญของคณาจารย์ในการพัฒนาวิจัยเชิงปฏิบัติการร่วมกับผู้ผลิตในอุตสาหกรรม

“นับเป็นนิมิตหมายที่ดีและขอแสดงความยินดีกับ มทร.อีสานและ EA สำหรับพิธีลงนามความร่วมมือในครั้งนี้  ดังเป็นที่ทราบและยอมรับกันทั้งในประเทศว่า EA ถือเป็นบริษัทชั้นนำของคนไทยทางมีความโดดเด่นทางด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาด และเทคโนโลยีในการกักเก็บพลังงานเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและยานยนต์ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ยุคพลังงานสะอาด”นายสุรเกียรติ์ กล่าวว่า

พร้อมกันนี้ความร่วมมือดังกล่าวยังสอดคล้องกับการดำเนินนโยบายของ มทร.อีสาน ที่มุ่งสู่มหาวิทยาลัยสีเขียว (Green University) และมุ่งมั่นพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่ตอบสนองต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นสถาบันอุดมศึกษา ที่ได้มุ่งเน้นการจัดทำหลักสูตรการศึกษาและการวิจัยพัฒนาด้านระบบรางของประเทศไทยภายใต้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำทางด้านโลจิสติกส์และระบบรางของต่างประเทศ ซึ่งเป็นเป้าหมายความสำเร็จร่วมกันของทั้งสององค์กร  รวมทั้งจะเป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด และระบบการขนส่งและโลจิสติกส์ที่สำคัญของประเทศไทย

นายโฆษิต กล่าวว่า การต่อยอดความร่วมมือกับ EA ในด้านการให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นพลังงานไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายด้านการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวและการพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างยั่งยืน เช่น การจัดการโครงสร้างพื้นฐาน การจัดการการใช้พลังงาน การจัดการระบบการขนส่งภายใน การให้การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม และการนำเทคโนโลยีเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้ามาเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้สังคมตระหนักถึงการพัฒนาในด้านต่างๆ ให้ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และจะช่วยเปลี่ยนการดำเนินชีวิตของบุคลากรและนักศึกษาให้มีส่วนร่วมในการใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างรู้คุณค่า

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ทาง มทร.อีสาน ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือกับ EA ในการศึกษาวิจัยนวัตกรรมการปลูกและพัฒนาสายพันธุ์พืชสมุนไพรพื้นถิ่น รวมไปถึงกัญชง กัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์แผนไทยและการสาธารณสุข เพื่อต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการแปรรูปพืชสมุนไพรเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เวชสำอาง และผลิตภัณฑ์อื่นที่สามารถนำไปผลิตเพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้

นายสมโภชน์ กล่าวว่า  บริษัทฯ มั่นใจว่าความร่วมมือกับ มทร.อีสาน ในครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาบุคลากร สร้างความเข้มแข็งให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า New S-Curve ที่จำเป็นต้องใช้ทักษะแรงงานฝีมือ รองรับการเติบโตในอนาคต  EA กำลังเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยเตรียมพร้อม Up-skill / Re-skill บุคลากรไทย สร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อให้ประเทศไทยดำรงความเป็น Detroit of Asia

ทั้งนี้ตนมองว่ายานยนต์ไฟฟ้าเหมาะกับประเทศไทย เพราะประสิทธิภาพที่ดีกว่า ช่วยประหยัดต้นทุนพลังงานและแก้ปัญหา PM 2.5 เสริมจุดแข็งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการแพทย์ของไทย  นอกจากความร่วมมือด้านวิศวกรรม การพัฒนากัญชง CBD สูงร่วมกับ มทร อีสาน จะเป็นประโยชน์ต่อการแพทย์และเพิ่มมูลค่าภาคเกษตรกรรม ช่วยยกระดับรายได้ของคนไทยให้ก้าวข้าม Middle Income Trap หากเราเชื่อมั่นในศักยภาพของคนไทยและร่วมกันส่งเสริมคนไทย