ผู้ชมทั้งหมด 447
เมื่อวันที่ 11 ม.ค.2567 บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKP หนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่ใหญ่ที่สุดและมีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่ต่ำที่สุดรายหนึ่งของภูมิภาค รับประกาศเกียรติคุณการันตีด้านการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน (Sustainability Disclosure Recognition) ประจำปี 2566 จากสถาบันไทยพัฒน์ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และเป็นหนึ่งใน 50 องค์กรทั่วประเทศ ที่ได้รับรางวัลดังกล่าว โดยมีนางสาวตวงพร บุณยะสาระนันท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานการสื่อสารและการบริหารความยั่งยืนองค์กร CKP เป็นผู้รับประกาศเกียรติคุณจาก นายวรณัฐ เพียรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันฯ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
CKP ได้รับประกาศเกียรติคุณในครั้งนี้ เป็นผลสะท้อนถึงความสำเร็จที่บริษัทได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ข้อมูลการดำเนินงาน โดยครอบคลุมการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม หรือ ESG (Environmental, Social and Governance) นอกเหนือจากข้อมูลทางการเงิน ซึ่งแสดงถึงความยั่งยืนของธุรกิจอันจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ และการตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 12.6 ร่วมกัน นอกจากนี้ ยังเป็นไปตามแผนการส่งเสริมคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีในชุมชนและสังคมตามกลยุทธ์ความยั่งยืนขององค์กร ซี (C) เค (K) พี (P) ภายใต้แผนการดำเนินงาน 5 ปี สู่ความยั่งยืน (พ.ศ. 2565 – 2569 )
อนึ่ง การพิจารณาตัดสินรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ใช้เกณฑ์ 3 ด้าน ที่อ้างอิงจาก Ceres-ACCA ประกอบด้วย ด้านความสมบูรณ์ (Completeness) ของเนื้อหา น้ำหนักคะแนน 45% ด้านความเชื่อถือได้ (Credibility) ของเนื้อหา น้ำหนัก คะแนน 35% ด้านการสื่อสารและนำเสนอ (Communication) เนื้อหา น้ำหนักคะแนน 20% ตามลำดับ ทั้งนี้ สถาบันไทยพัฒน์ คัดเลือกบริษัทที่ได้รับรางวัล โดยพิจารณาจากข้อมูลความยั่งยืนที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ อาทิ รายงานแห่งความยั่งยืน หรือรายงานความรับผิดชอบต่อสังคมบูรณาการในรายงานประจำปี หรือรายงานในรูปแบบอื่น ทั้งที่เป็นรูปเล่มรายงาน ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ออนไลน์ อินโฟกราฟิก ฯลฯ โดยไม่ใช้แบบสำรวจข้อมูลหรือแบบสอบถามใดๆ เพิ่มเติม
สำหรับรางวัลการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืนโดยสถาบันไทยพัฒน์นั้น จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนและองค์กรธุรกิจที่เป็นสมาชิกของประชาคมการเปิดเผยข้อมูลความยั่งยืน ได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการเผยแพร่ข้อมูลด้าน ESG ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียของกิจการ และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ เป้าหมายที่ 12.6 เรื่อง การผลักดันกิจการ โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ ให้รับข้อปฏิบัติที่ยั่งยืนไปดำเนินการและผนวกข้อมูลด้านความยั่งยืนเข้าไว้ในการรายงานประจำปีของบริษัท