CEO อินโนพาวเวอร์ เปิดมุมมองทิศทางพลังงาน ระยะสั้น – ระยะยาว แสงอาทิตย์ ลม ใต้พิภพ นิวเคลียร์ฟิวชัน จะทดแทนฟอสซิล

ผู้ชมทั้งหมด 92 

ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านพลังงานเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วถึงแม้การผลิตไฟฟ้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สัดส่วนใหญ่จะยังคงเป็นเชื้อเพลิงถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก แต่พลังงานหมุยเวียนที่เป็นพลังงานสะอาดก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) และพลังงานลม เนื่องจากเทคโนโลยีถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และราคาถูกลง ส่วนการผลิตไฟฟ้าที่เป็นพลังงานสะอาดอย่างพลังงานน้ำนั้นมีบทบาทสำคัญมานานแล้ว โดยในอาเซียนส่วนใหญ่อยู่ในสปป.ลาว

อย่างไรก็ตามการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หลายบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานมีการเข้าไปลงทุนในกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด เป็นอีกบริษัทหนึ่งที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาลงทุนในเทคโนโลยีด้านพลังงาน

นายอธิป ตันติวรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด กล่าวถึงทิศทางพลังงานในอนาคตว่า ในระยะสั้น (2568 – 2573) การลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ โดยเฉพาะโซลาร์รูฟท็อป (Rooftop PV) จะเห็นการเติบโตแบบเท่าตัว จากปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ 15% ของสัดส่วนโซลาร์เซลล์ทั้งหมด คาดว่าจะเห็นการเติบโตอย่างน้อย 100% ในปี 2573 เนื่องจากเทคโนโลยีถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในการผลิตไฟฟ้า ขณะที่ราคาก็ถูกลง

ส่วนพลังงานหมุนเวียนอีกตัว คือ พลังงานลมบนบก เนื่องจากปัจจุบันมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ถูกออกแบบให้สามารถรองรับความเร็วลมต่ำ (Low Speed Wind) ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเหมาะกับสภาพภูมิอากาศในประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่มีความเร็วลมเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำ อาจจะช่วยให้ไทยสามารถลงทุนได้มากขึ้นในอนาคต ดังนั้นในระยะสั้นภายในปี 2573 จะเห็นการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมมากขึ้น และพลังงานหมุนเวียนอีกชนิดที่คาดว่าจะเห็นการลงทุนมากขึ้นในภูมิภาคอาเซียน คือ พลังงานน้ำ โดยเฉพาะการลงทุนในสปป.ลาว 

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบอัตราการเติบโตของพลังงานสะอาดของโลกกับภูมิภาคเอเชียยังถือว่า ภูมิภาคเอเชียมีการเติบโตช้า แต่ภายในปี 2573 จะเห็นการลงทุน Rooftop PV มากที่สุด เติบโต ไปพร้อมกับพลังงานลม และพลังงานน้ำ ส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหินจะไม่เติบโตขึ้น ซึ่งหลายประเทศได้มีการลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินไปแล้ว ทำให้ช่วงปี 2566-2573 จะเห็นการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินจะไม่ขยายเพิ่ม แม้ปัจจุบันจะมีการพึ่งพาถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าเป็นหลักก็ตาม ส่วนในระยะยาวเทคโนโลยีด้านพลังงานที่มีบทบาทมากขึ้น คือ ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System : ESS) จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นแทนถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ในระหว่างปี 2582 จะเห็นมากขึ้นในการทดแทนถ่านหินกับก๊าซธรรมชาติได้เป็นอย่างดี  

สำหรับเทคโนโลยีที่มีความหน้าสนใจ และคาดว่าจะมีศักยภาพมากในการผลิตก็คือพลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal Energy) หลายคนอาจจะมีข้อมูลว่าในประเทศไทยอาจจะไม่มีศักยภาพ เนื่องว่าขนาดพื้นที่อาจจะเล็ก อุณหภูมิอาจจะไม่สูงมากทำให้การผลิตไฟฟ้าทำได้ไม่ดีมาก ที่ผ่านมาเครื่องมือการเจาะใต้ดิน เพื่อผลิตไฟฟ้าจากความร้อนใต้พิภพจะทำได้ลึกไม่เกิน 2-3 กิโลเมตร แต่ปัจจุบันมีการลงทุนพัฒนาระบบการผลิตไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพสามารถผลิตได้มีศักยภาพมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีเจาะใต้ดินให้สามารถลึกมากกว่า 3 กิโลเมตร ซึ่งสามารถทำให้มีการผลิตไฟมีศักยภาพมากขึ้น คาดภายในปี 2573 จะเห็นเทคโนโลยีนี้เริ่มมีการทดลองใช้ และอาจจะเป็นตัวที่สร้าง Base load ทดแทนก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินก็เป็นได้ ถ่านหินก็อาจจะไม่ได้มีความสำคัญอีกต่อไป

“ประเทศไทยเคยมีการดำเนินการพลังงานใต้พิภพที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ แต่พบว่ายังไม่มีศักยภาพ เพราะมีขนาดเล็ก และความร้อนไม่เพียงพอ แต่หากมีเทคโนโลยีใหม่ในการเจาะใต้ดินให้ลึกลงไปเกิน 3 กิโลเมตรที่จะมีการทดลองใช้ในอนาคตหากใช้ได้จริงก็จะเป็นโอกาสในการศึกษาและสำรวจใหม่ แต่ในแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ พีดีพี ยังไม่ได้บรรจุเรื่องนี้เอาไว้เลย”

อย่างไรก็ตามสุดท้ายแล้วเทรนด์พลังงานสะอาดในระยะยาวคงหนีไม่พ้นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แต่จะเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟิวชัน หรือ “ดวงอาทิตย์เทียม” ที่จะมีโอกาสเกิดได้จริง เพราะโรงไฟฟ้าพลังานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ Small Modular Reactor : SMR ยังมีประเด็นที่จะต้องสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องความปลอดภัย และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องท้าทายของประเทศไทยที่จะต้องเดินให้ทันกับกระแสโลก เทคโนโลยีนิวเคลียร์ฟิวชัน สามารถผลิตได้แล้ว ปัญหาคือการสื่อสารกับคนมากกว่า ทำอย่างไรถึงจะให้คนมั่นใจว่าปลอดภัย ดังนั้นตนจึงมองว่าระยะยาวถึงจะเกิดประมาณปี 2582

นายอธิป กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เพื่อลดโลกร้อนนั้นในระหว่างปี 2566 – 2567 นั้นจะเห็นว่ามีการลงทุนมหาศาลกว่า 20,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่ลงทุนในเรื่องเกี่ยวกับ Decarbonization และในแต่ละปีจะมีการเติบโตต่อปีเฉลี่ยจนถึงปี 2033 อีก 10 ปีข้างหน้าปีล่ะกว่า 24.5% หรือจะมีเงินลงทุนเพิ่มมากถึง 183,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ฉนั้นด้วยเงินจำนวนนี้จะสามารถทำให้ได้เห็นเทคโนโลยีใหม่ๆ มีบทบาทมากขึ้น เรื่องของการทำ Decarbonization เป็นหนึ่งในสิ่งที่อินโนพาวเวอร์ให้ความสนใจ และอยากจะหยิบเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ในประเทศไทย ซึ่งอินโนพาวเวอร์ก็ติดตามดูอยู่และมีแผนในการลงทุนผ่านกองทุนเวนเจอร์ แคปปิตอล อยู่แล้ว