CAAT ปลุกชีพ “นางสาวสยาม” เครื่องบินพลเรือนลำแรกของไทย

ผู้ชมทั้งหมด 374 

CAAT ปลุกชีพ “นางสาวสยาม” เครื่องบินพลเรือนลำแรกของไทย ส่งต่อประวัติศาสตร์ทรงคุณค่าให้คนรุ่นหลังร่วมรำลึก

นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เป็นประธานจัดพิธีมอบเครื่องบินจำลอง “นางสาวสยาม” ในวันพุธที่ 19 มิถุนายน 2567 ณ พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศและการบินแห่งชาติ โดยมี พลอากาศเอก ณรงค์ อินทชาติ รองผู้บัญชาการทหารอากาศ นาวาอากาศเอก วีระยุทธ ดิษยศริน ประธานมูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายเลิศชาย พงษ์โสภณ ทายาทนาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ ประชาชนและสื่อมวลชน เข้าร่วมงาน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ CAAT ตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลส่งเสริมพัฒนากิจการการบินพลเรือนให้มีประสิทธิภาพและเติบโตอย่างยั่งยืน ที่ผ่านมา CAAT มีโอกาสเข้าร่วมประชุม สร้างความร่วมมือกับองค์กรด้านการบินที่สำคัญทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้น CAAT จึงจัดทำของที่ระลึกเพื่อมอบให้หน่วยงานต่างๆ ในฐานะผู้แทนด้านการบินของประเทศไทย

ด้วยประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าของเครื่องบิน “นางสาวสยาม” เครื่องบินพลเรือนลำแรกของประเทศไทย CAAT จึงขออนุญาต นาวาอากาศเอก วีระยุทธ ดิษยศริน ประธานมูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนา อากาศยานไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นผู้เก็บรักษาและฟื้นฟูเครื่องบินนางสาวสยาม จัดทำเครื่องบินจำลองนางสาวสยาม ขนาดลำตัว 40 เซนติเมตร และ 20 เซนติเมตร เพื่อเป็นของที่ระลึกเชิงสัญลักษณ์ของการบินพลเรือนไทย โดยมุ่งหวังให้ประวัติศาสตร์ของเครื่องบินนางสาวสยามยังคงอยู่ในความทรงจำและสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนสืบต่อไป

“นางสาวสยาม” เป็นเครื่องบินส่วนตัวของ นาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ อดีตนักเรียนทุน ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่เดินทางไปศึกษาวิทยาการด้านการบิน ณ วิทยาลัยเซนต์หลุยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยความสามารถที่โดดเด่นด้านการบิน นาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ ได้รับจ้างแสดงเครื่องบินผาดโผนจนเป็นที่โด่งดังในสหรัฐอเมริการายได้จากการเดินสายไปแสดงในรัฐต่าง ๆ กว่า 30 รัฐทำให้นาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ สามารถซื้อเครื่องบินส่วนตัวได้ 1 ลำ ในราคา 6,000 บาท พร้อมตั้งชื่อเครื่องบินลำนี้ว่า “นางสาวสยาม”

“นางสาวสยาม” เป็นเครื่องบินรุ่น OX-5 travel Air 2000 ถือเป็นเครื่องบินรุ่นแรกที่ได้รับการรับรองจากกรมการบินของสหรัฐอเมริกาให้สามารถใช้รับส่งผู้โดยสารได้ และมีเพียง 3 ลำในโลก ย้อนไปเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ ได้บินเดี่ยวด้วยเครื่องบิน “นางสาวสยาม” มุ่งหน้าทำภารกิจเชื่อมสัมพันธไมตรีกับสาธารณรัฐประชาชนจีน การเดินทางท่ามกลางสงครามทางการเมืองในครั้งนั้นต้องผ่านอุปสรรคทั้งเสี่ยงเป็นและเสี่ยงตาย แต่ด้วยจิตใจที่เด็ดเดี่ยวและกล้าหาญ นาวาอากาศเอกเลื่อน พงษ์โสภณ สามารถทำภารกิจครั้งประวัติศาสตร์นี้ได้สำเร็จภายในเวลา 17 วัน

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า วันที่ 19 มิถุนายน ของทุกปี ถือเป็นวันครบรอบภารกิจ “The wings of friendship” หรือ “ปีกแห่งมิตรภาพ” ที่นาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ ผู้เป็นเจ้าของเครื่องบินนางสาวสยามและเป็นผู้บุกเบิกการบินพลเรือนของประเทศไทย บินเดี่ยวจากประเทศไทยเพื่อไปเจริญสัมพันธไมตรีกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งปีนี้นับเป็นปีที่ 92 ดังนั้น CAAT จึงจัดงานนี้ขึ้นเพื่อรำลึกถึงความสำคัญของการบินพลเรือน โดยภายในงานมีพิธีมอบเครื่องบินจำลองนางสาวสยาม เพื่อเป็นเกียรติแก่ทายาทและครอบครัวของนาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ มูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลรักษาเครื่องบินนางสาวสยามและเป็นผู้อนุญาตให้ CAAT นำต้นแบบเครื่องบินมาจัดทำเป็นของที่ระลึก รวมทั้งมอบให้กองทัพอากาศ ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีบทบาทสื่อสารเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของอากาศยานไทยแก่สาธารณชน

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการเปิดเวทีเสวนาหัวข้อ “ย้อนรอยประวัติศาสตร์เครื่องบินนางสาวสยาม” เพื่อร่วมถ่ายทอดเรื่องราวอันทรงคุณค่าของ “เครื่องบินนางสาวสยาม” ผ่านการพูดคุยกับผู้ที่มีความเกี่ยวข้อง ได้แก่ นายเลิศชาย พงษ์โสภณ ทายาทที่ถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตอันโลดโผนของนาวาอากาศเอก เลื่อน พงษ์โสภณ ผู้เป็นบิดา จนได้รับฉายาว่า “เลื่อน กระดูกเหล็ก” ส่วนนาวาอากาศเอก วีระยุทธ ดิษยศริน ประธานมูลนิธิอนุรักษ์และพัฒนาอากาศยานไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้บอกเล่าถึงแรงบันดาลใจและความท้าทายในการอนุรักษ์และฟื้นคืนชีวิตให้เครื่องบินนางสาวสยามกลับมาโบยบินสู่ท้องฟ้าอีกครั้ง