ผู้ชมทั้งหมด 113
CAAT จ่อทดสอบ “โดรนขนส่ง” มิ.ย.นี้ ก่อนออกประกาศหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตทำการบินเชิงพาณิชย์ เน้นปลอดภัยสูงสุด ไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น คาดเริ่มดำเนินการได้ภายในสิ้นปี 68 วอนโดรนเถื่อนรีบมาขึ้นทะเบียนภายใน 1 ก.ย.68 พ้นกำหนดอาจต้องเสียทั้งค่าธรรมเนียมและค่าปรับ

พลอากาศเอก มนัท ชวนะประยูร ผู้อํานวยการสํานักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) เปิดเผยภายหลังการนําคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูระบบนิเวศนวัตกรรมโดรน (Ecosystems) ณ วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง ว่า วังจันทร์วัลเลย์เป็นพื้นที่ UAV Regulatory Sandbox ที่เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้ทําการทดสอบ วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับโดรน โดย CAAT ได้ร่วมมือและสนับสนุนวังจันทร์วัลเลย์ด้านการอนุมัติ อนุญาตทําการบิน หรือการทดสอบต่าง ๆ เกี่ยวกับโดรนให้มีความสะดวกรวดเร็ว สามารถนําผลการทดสอบ ทดลอง วิจัยและพัฒนาที่ได้มาต่อยอดในการสร้างนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับโดรน เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ
ขณะนี้ CAAT ได้ปรับปรุงและพัฒนากฏหมาย โดยปรับปรุงและแก้ไขข้อจํากัดการอนุญาตโดรนที่มีน้ําหนักเกิน 25 กิโลกรัม เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ทําให้เกิดการขับเคลื่อนและใช้งานโดรนขนาดใหญ่อย่างแพร่หลายในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงมีผู้สนใจทั้งในและต่างประเทศนําโดรนหรือระบบที่เกี่ยวข้องหลากหลายประเภทมาทดสอบที่ UAV Regulatory Sandbox วังจันทร์วัลเลย์เพิ่มมากขึ้น เช่นโดรนในทางวิศวกรรมเพื่อการสํารวจและการทําแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ โดรนเกษตร โดรนกู้ภัย และโดรนรักษาความปลอดภัย เป็นต้น ผลที่ได้จากการทดสอบโดรนในพื้นที่ Sandbox ทําให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีเกิดรูปแบบการปฏิบัติการบินโดรนแบบใหม่ ๆ ผู้ประกอบการกล้าที่จะคิดค้นสิ่งใหม่ และเป็นกรณีศึกษาหรือแนวปฏิบัติที่ดีให้กับผู้ที่สนใจรายอื่น ๆ ด้วย
พลอากาศเอก มนัท กล่าวว่า ในส่วนของ CAAT มีบทบาทในการกํากับดูแลและส่งเสริมการใช้โดรนอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ โดยมีระบบ UAS Portal (uasportal.caat.or.th) ที่ดําเนินการขึ้นทะเบียนผู้บังคับโดรนและจดทะเบียนโดรน ผ่านระบบออนไลน์ที่รวดเร็ว มีคําแนะนําสําหรับผู้ที่สนใจใช้งานโดรนอย่างครบถ้วน ซึ่งอุตสาหกรรมโดรนเติบโตอย่างก้าวกระโดด เห็นได้จากตัวเลขการขึ้นทะเบียนโดรนจากประมาณ 5,000 ลำในปี 61 เพิ่มเป็น 127,507 ลำในปี 68 ส่วนโดรนที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนหรือเรียกว่าโดรนเถื่อนนั้นมีประมาณ 20,000 ลำ ซึ่งส่วนนี้ขอให้เร่งดำเนินการขึ้นทะเบียนโดยไม่มีค่าใช้จ่ายภายในวันที่ 1 ก.ย.68 หลังจากนั้น CAAT จะพิจารณาเก็บค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียน รวมถึงกำหนดค่าปรับด้วย ส่วนจะเก็บในอัตราเท่าไหร่อยู่ระหว่างการพิจารณาตามความเหมาะสมอีกครั้ง
สำหรับการผลักดันให้เกิดการใช้ “โดรนขนส่ง” ในเขตเมืองนั้น ขณะนี้ CAAT ได้หารือร่วมกับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จํากัด (มหาชน) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จํากัด ศูนย์บริหารจัดการห้วงอากาศ (ประเทศไทย) หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชนที่สนใจ เพื่อวางแผนพื้นที่และวิธีการทดสอบการใช้โดรนขนส่งในเขตกรุงเทพมหานคร เบื้องต้นกำหนดการทดสอบการใช้โดรนส่งของข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจากฝั่งบริษัท โทรคมนาคม ไปยังฝั่งตรงข้ามในช่วงเดือนมิ.ย.นี้ เพื่อนำไปสู่การพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ และระเบียบการออกใบอนุญาติทำการบินโดรนส่งของเชิงพาณิชย์
พร้อมพิจารณากำหนดจุดรับ-ส่งของจากโดรนให้เป็นไปอย่างถูกต้อง และปลอดภัยสูงสุด ไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในสิ้นปี 68 ส่วนเส้นทางที่จะอนุญาตให้ใช้โดรนบินส่งของได้นั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ให้บริการที่จะมาขออนุญาตในแต่ละเส้นทาง คาดว่าน่าจะเป็นเส้นทางในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดต่างๆในการเดินทาง เพื่อลดปัญหาการจราจร และเพิ่มความสะดวกรวดเร็ว ส่วนค่าใช้จ่ายขึ้นอยู่กับข้อตกลงของผู้ประกอบการและลูกค้า แต่ในอนาคต CAAT อาจจะเข้าไปช่วยพิจารณาเรื่องราคาให้สมเหตุสมผลมากที่สุดด้วย
อย่างไรก็ตามการลงพื้นที่ครั้งนี้ได้มีการสาธิตโดรนขนส่ง จากบริษัท เอวิลอน โรโบทิคส์ จํากัด ขนส่งยาและเวชภัณฑ์โดยใช้โดรน Gryphon EX ในระยะทาง 2 กิโลเมตร ซึ่งบริษัท เอวิลอน ได้ปฏิบัติการขนส่งจริงในพื้นที่ อ.พยัคฆภูมิพิสัย จ.มหาสารคาม นําส่งยาจากโรงพยาบาลพยัคฆภูมิพิสัยไปยังสถานีสุขภาพในชุมชน ช่วยให้ผู้ป่วยในพื้นที่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น โดยผู้ป่วยสามารถใช้บริการห้องผู้ป่วยนอกเสมือน (Virtual OPD) ที่สถานีสุขภาพ และได้รับยาและเวชภัณฑ์ผ่านทางโดรน ซึ่งเทคโนโลยีนี้ช่วยยกระดับการให้บริการทางการแพทย์ในชุมชน เป็นการลดการแออัดในโรงพยาบาล และช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ป่วยในการเข้าถึงการบริการ
โดรนขนส่งจึงเป็นนวัตกรรมแห่งอนาคตที่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการดําเนินการให้แก่ทุกภาคส่วนในหลาย ๆ ด้าน เช่น เข้าถึงพื้นที่ห่างไกล ช่วยให้ผู้บริโภคได้รับสินค้ารวดเร็วขึ้น ช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการในด้านการใช้น้ํามันและค่าบํารุงรักษา ลดปัญหาการจราจรติดขัดบนท้องถนน รวมถึงลดการปล่อยมลภาวะสู่สิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ทั้งนี้ CAAT คาดการณ์ว่าอนาคตอันใกล้นี้ไทยจะมีโดรนหลากหลายประเภทไม่ต่ํากว่า 1 ล้านลํา การกํากับ ดูแลการใช้โดรนจึงต้องขึ้นอยู่ประเภทความเสี่ยง ซึ่งตามมาตรฐานสากลจะแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1. ความเสี่ยงต่ํา กลุ่มใช้เพื่อความบันเทิงทั่วไป เช่น โดรนถ่ายภาพและวิดีโอทางอากาศ 2. ความเสี่ยงปานกลาง กลุ่มธุรกิจ เช่น โดรนเกษตร โดรนสํารวจและตรวจสอบ และ 3. ความเสี่ยงสูง กลุ่มโดรนที่มีการขนส่งผู้โดยสาร หรือโดรนขน สินค้าขนาดใหญ่ดังนั้นจะมีหน่วยงานอื่น ๆ ตามหน้าที่ความรับผิดชอบเข้ามากํากับดูแลด้วย จึงเป็นความท้าทายของ CAAT ในการพัฒนาระบบกํากับดูแล และกลไกต่าง ๆ
รวมถึงการสนับสนุนและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโดรนให้สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีและการใช้โดรนที่ทันสมัย การกําหนดมาตรฐานบุคลากรในอุตสาหกรรมโดรนเพื่อให้มั่นใจได้ว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถ และทักษะที่จําเป็นสําหรับการปฏิบัติงาน การนําเทคโนโลยีระบบสารสนเทศที่ทันสมัยมาใช้ในการกํากับดูแลเพื่อเป็นการอํานวยความสะดวกให้กับประชาชน รวมถึงเป็นศูนย์กลางในการประสานและร่วมมือทั้งในและต่างประเทศในการผนึกกําลัง ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นภารกิจที่ CAATจะเป็นผู้นําพัฒนาและขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมโดรนของประเทศไทยเติบโตอย่างยั่งยืน