ผู้ชมทั้งหมด 1,279
BTS เตรียมยื่นฟ้องกทม.ให้ชดใช้หนี้ 30,000 ล้านบาท เสี่ยงภาระหนี้เพิ่มเป็น 90,000 ล้านบาทเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานปี 72 หากกทม.ไม่ชำระหนี้ โตไม่ได้เอาเรื่องหนี้ต่อรองแก้ไขสัญญาสัมปทานสายสีเขียว แจงค่าโดยสารปัจจุบันเรียกเก็บสูงสุดที่ 59 บาทยังขาดทุน
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผยผ่านทางเพจ Facebook ว่า บริษัทฯ ส่งหนังสือติดตามทวงถามตามกฎหมายให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ชำระหนี้แก่บริษัทฯ ซึ่งเมื่อครบกำหนดระยะเวลา 60 วัน ตามที่บริษัทฯ ได้ระบุไว้ในหนังสือทวงถามนั้น บริษัทฯ ก็ยังไม่ได้รับแจ้งถึงแนวทางการชำระหนี้ทั้งหมดหรือบางส่วนจากภาครัฐแต่อย่างใด ทั้งนี้บริษัทฯ ยืนยันว่าการใช้สิทธิทางกฎหมายที่ผ่านมา BTS ไม่เคยกระทำการใดๆ ที่ส่งผลกระทบหรือเรียกร้องให้ภาครัฐใช้อำนาจตามกฎหมายกำหนดอัตราค่าโดยสารเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ BTS ต้องแบกรับภาระหนี้จำนวนมากเป็นระยะเวลานานกว่า 4 ปี นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 ที่เริ่มเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ) เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าโดยสารให้แก่ประชาชน โดยตลอดเวลาที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้พยายามติดต่อกรุงเทพมหานคร และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เพื่อหาทางออกกับปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนถึงแนวทางการชำระหนี้
โดยส่งผลให้ ณ ปัจจุบันภาระหนี้สะสมที่ภาครัฐบาลมีต่อบริษัทฯ เพิ่มขึ้นสูงกว่า 30,000 ล้านบาทประกอบด้วยหนี้ค่าจ้างเดินรถตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 จนถึงเดือนมีนาคม 2564 จำนวน 10,903 ล้านบาท และหนี้ค่าซื้อระบบการเดินรถไฟฟ้าและเครื่องกล จำนวน 20,768 ล้านบาท และล่าสุดตามที่เป็นข่าวของการประชุมสภา กทม. เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา สภา กทม. ได้ปฏิเสธการใช้งบประมาณ ของกทม.มาชำระหนี้ดังกล่าว และได้เสนอทางเลือกให้กับฝ่ายบริหารในการขอให้รัฐบาลสนับสนุนหรือร่วมลงทุนกับเอกชน ตามแนวทางของคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
อย่างไรก็ตามหากกทม.ไม่ดำเนินการชำระคืนหนี้ให้กับ BTS ก็จะส่งผลให้ภาระหนี้ดังกล่าวปรับเพิ่มขึ้นเป็น 90,000 ล้านบาทเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัปทานในปี 2572 ที่จะมาจากค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย 60,000 ล้านบาทรวมดอกเบี้ย และค่าติดตั้งระบบเดินรถและอาณัติสัญญาณ 30,000 ล้านบาทรวมดอกเบี้ย ดังนั้นทาง BTS ในฐานะเจ้าหนี้ของ กทม.ที่บริษัทต้องใช้สิทธิทวงหนี้ตามสัญญา จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย โดยเตรียมจะยื่นฟ้องกทม. ต่อศาลปกครองโดยเร็วที่สุด และขอยืนยันว่า BTS ไม่มีความประสงค์จะนำเรื่องที่ กทม.ติดค้างหนี้ดังกล่าวมาต่อรองแก้ไขสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว
สำหรับสัญญาสัมปทานบริหารเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งเส้นนั้นในขณะนี้อยู่ระหว่างรอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังจากสำนักงานอัยการสูงสุดเห็นชอบการแก้ไขสัญญาสัมปทานสายสีเขียวตามคำสั่ง คสช.แล้ว ซึ่งเมื่อ BTS ได้ลงนามสัญญาสัมปทานกับกทม. ภาระหนี้สินทั้งหมดกว่า 30,000 ล้านบาทกทม.ก็ไม่ต้องชำระให้ BTS ซึ่งจะเป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญาสัมปทาน
ทั้งนี้สัญญาการเดินรถของรถไฟฟ้าสายสีเขียว แบ่งเป็น 3 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และ สะพานตากสิน-สนามกีฬาแห่งชาติ ซึ่งเป็นส่วนที่บริษัทลทุนเอง 100% ตอนที่ 2 เป็นส่วนต่อขยาย ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และ สะพานตากสิน-บางหว้า ซึ่งทาง กทม.เป็นผู้ลงทุน และตอนที่ 3 ช่วงแบริ่ง-เคหะ สมุทรปราการ และ หมอชิดต-คูคต ซึ่ง กทม.รับโอนมาจาก รฟม. โดยหากนับรวมระยะทางแล้วจะทำให้มีค่าโดยสารสูงสุด 158 บาท แต่ในสัญญาสัมปทานบริหารเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งเส้นได้ปรับเพดานค่าโดยสารสูงสุดมาเป็นไม่เกิน 65 บาท
ส่วนที่กระทรวงคมนาคมมีข้อเสนอให้ปรับค่าโดยสารมาที่ 50 บาท และมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคเสนอที่ 25 บาทนั้นเป็นการประเมินจากตัวเลขผู้โดยสารที่คาดการณ์ไว้ที่ 1.1 ล้านคนต่อวัน แต่ตัวเลขจริงผู้โดยสารก่อนช่วงเกิดโควิด-19 ไม่ถึง 8 แสนคนต่อวัน ขณะที่ปัจจุบันค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวสูงสุดอยู่ที่ 59 บาทยังทำให้การบริหารเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวขาดทุนราว 6,000 ล้านบาท ขณะที่ข้อมูลของมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคไม่ได้ใช้ข้อมูลปัจจุบันไปถึงปี 72 แต่ไปอิงข้อมูลในปี 85 ทำให้เห็นว่ามีกำไร ย่างไรก็ตามการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟฟ้า BTS ลดลงราว 60-70% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19