BPP เผยQ3/67 เผชิญความท้าทายเงินบาทแข็ง-ความต้องการใช้ไฟ-ราคาในสหรัฐฯลด

ผู้ชมทั้งหมด 162 

BPP ประกาศ ผลการดำเนินงานไตรมาส 3/67 มี EBITDA ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน เหตุเงินบาทแข็งค่า ขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าและราคาในสหรัฐลดลง พร้อมวางแผนกลยุทธ์ถึงปี 2030

นายอิศรา นิโรภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP เปิดเผยว่า ผลประกอบการ ไตรมาส 3 ปี 2567 มีรายได้รวมจำนวน 1,134 ล้านบาท และมีกำไรจากการดำเนินงาน ก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) รวม 2,266 ล้านบาท กำไรสุทธิลดลง 965 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 46 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักเกิดจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่แข็งค่า และสภาพอากาศช่วงเวลาที่ผ่านมาในสหรัฐอเมริกาไม่เกิดคลื่นความร้อนรุนแรงเหมือนในช่วงเดียวกันของปีก่อน จึงส่งผลต่อความต้องการไฟฟ้าและราคา ทำให้ปริมาณการขายไฟและราคาปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังคงเน้นสร้างกระแสเงินสด ที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง พร้อมรักษาอัตราส่วนหนี้สิน ต่อส่วนผู้ถือหุ้น (D/E) ให้อยู่ในระดับต่ำ

ทั้งนี้ แม้ในไตรมาส 3 BPP จะเผชิญความท้าทายจากการแข็งค่าของเงินสกุลบาทต่อเงินสกุลเหรียญสหรัฐ และความต้องการไฟฟ้าที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอันเนื่องมาจากสภาพอากาศ โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนของ BPP ยังคงมีส่วนสำคัญในการสร้างสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ด้วยเสถียรภาพในการผลิตและจ่ายไฟฟ้าของทั้งโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี (BLCP) ในไทย โรงไฟฟ้าเอชพีซี (HPC) ใน สปป.ลาว โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (CHPs) ในจีน และโรงไฟฟ้าแฝด Temple l และ Temple ll ในสหรัฐอเมริกา ขณะที่บริษัทฯ เดินหน้าสร้างมูลค่าจากสินทรัพย์ที่มีอยู่ ขยายกำลังผลิตไฟฟ้าที่มีคุณภาพ และลดการปล่อย CO2 ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างยั่งยืน”

ความคืบหน้าที่สำคัญในไตรมาสที่ผ่านมา ประกอบด้วย

• โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี (BLCP) ในไทย และโรงไฟฟ้าเอชพีซี (HPC) ใน สปป.ลาว สามารถรักษาค่าความพร้อมจ่ายไฟ (Equivalent Availability Factor: EAF) ในระดับสูง ที่ร้อยละ 99 และร้อยละ 93 ตามลำดับ

• โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (CHPs) ในจีนทั้ง 3 แห่ง มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นจากต้นทุนถ่านหินที่ลดลง และยังมีรายได้จำนวน 7.5 ล้านหยวน จากการขายสิทธิในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มก๊าซเรือนกระจก (Carbon Emission Allowances – CEA) ปริมาณประมาณ 80,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นผลมาจากโรงไฟฟ้า ดังกล่าวสามารถบริหารจัดการและควบคุมการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลร่วมที่โรงไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งนี้ เพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มเติมด้วย

•บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด ซึ่ง BPP ถือหุ้นร้อยละ 50 เข้าลงทุนในบริษัทแอมป์ เจแปน (Amp Japan) ผู้พัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจนถึงการนำออกสู่ตลาดชั้นนำในประเทศญี่ปุ่น ด้วยงบลงทุน 35 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม 800 เมกะวัตต์ สู่เป้าหมายกำลังผลิตรวม จำนวน 2 กิกะวัตต์ ภายใน 2030

•BPP ได้รับรางวัล “Most Sustainable Energy Company – Thailand 2024” จาก Global Business Outlook Awards ตอกย้ำความมุ่งมั่นของ BPP ในฐานะผู้ผลิตพลังงานไฟฟ้าคุณภาพ ระดับสากลที่ยึดมั่นในการส่งมอบพลังงานที่ยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้วางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ โดยเน้นสร้างการเติบโตควบคู่ไปกับความยั่งยืน ภายใต้หลัก ESG เพื่อส่งมอบคุณค่าที่ยั่งยืนแก่ผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม โดยจะชี้แจงวิสัยทัศน์ของการเปลี่ยนผ่านธุรกิจผลิตพลังงานอย่างยั่งยืน สู่เป้าหมายในปี 2030 ตลอดจนการวิเคราะห์ทิศทาง การเติบโตของธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในกลุ่มประเทศยุทธศาสตร์ของ BPP ในเร็วๆนี้