ผู้ชมทั้งหมด 836
BPP ครึ่งปีหลัง 64 เตรียมรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าเข้ามาเพิ่ม 6 โครงการรวม 878 เมกะวัตต์ พร้อมเตรียมเม็ดเงินลงทุนในปี 65 อีก 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลุยซื้อกิจการ ลงทุนโครงการใหม่สู่เป้า 5,300 เมกะวัตต์
นายกิรณ ลิมปพยอม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ตามสัดส่วนการถือหุ้นของ BPP ที่จะรับรู้เป็นรายได้เข้ามาเพิ่มอีก 6 โครงการกำลังการผลิตรวม 878 เมกะวัตต์
สำหรับกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่นั้นประกอบด้วยโครงการโรงไฟฟ้าซานซีลู่กวง (SLG) ในประเทศจีนขนาดกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นของ BPP ราว 396 เมกะวัตต์ ปัจจุบันผ่านการตรวจรับจากการไฟฟ้าซานซีลู่กวงแล้วรอคำสั่งจ่ายไฟฟ้าคาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในไตรมาส 3/2564
โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ที่ประเทศญี่ปุ่น โครงการ KESENUMA ขนาดกำลังการผลิต 20 เมกะวัตต์ มีความคืบหน้า 85% และโครงการ SHIRAKAWA ขนาดกำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์มีความคืบหน้า 64% โดยทั้ง 2 โครงการนี้คาดว่าจะสามารถ COD ได้ในไตรมาส 4/2564
ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม Vin Chau ในประเทศเวียดนาม ระยะแรก ขนาดกำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ การก่อสร้างล่าช้ากว่าแผนเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการแพร่บาดของไวรัสโควิด-19 โดยดำเนินการติดตั้งไปแล้วประมาณ 68% แต่จะเร่งดำเนินการติดตั้งให้สามารถ COD ได้ในไตรมาส 4/2564
โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมเอลวินหมุยยิน ในเวียดนาม ขนาดกำลังการผลิต 38 เมกะวัตต์ อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายในขบวนการเข้าซื้อกิจการคาดแล้วเสร็จในไตรมาส 3/2564 จะส่งผลให้รับรู้เป็นรายได้ทันทีเพราะเป็นโครงการที่เดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) รวมถึงเตรียมรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ CCGT “Temple I” ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ขนาดกำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นของ BPP อยู่ที่ 384 เมกะวัตต์คาดว่าจะดำเนินการซื้อกิจการเสร็จสมบูรณ์ในต้นเดือนพฤศจิกายน 2564
ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานลม Vin Chau ในประเทศเวียดนามระยะที่ 2-3 ขนาดกำลังการผลิตรวมกันที่ 50 เมกะวัตต์ในขณะนี้ได้ดำเนินการศึกษาโครงการในขั้นต้นเสร็จแล้วอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาเชิงพาณิชย์ และรอความชัดเจนของแผน PDP ของประเทศเวียดนามก่อนถึงจะตัดสินใจการลงทุนได้
ทั้งนี้ในปี 2565 บริษัทคาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการลงทุนขยายกำลังการผลิตให้เป็นไปตามเป้าหมายในปี 2568 ที่ 5,300 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 3,330 เมกะวัตต์ โดยในจำนวนนี้เป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ COD ไปแล้ว 3,224 เมกะวัตต์ และเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาราว 4 โครงการกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 106 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตามในปีนี้บริษัทได้ใช้เงินลงทุนไปแล้วกว่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อกิจการในโครงการขนาดใหญ่ เช่น โรงไฟฟ้า Nakoso Integrated Gasification Combined Cycle (IGCC) ณ จังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น และโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ CCGT “Temple I” ในรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา
สำหรับการขยายการลงทุนเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตนั้นบริษัทยังคงมองหาโอกาสลงทุนทั้งโครงการที่เป็นเชื้องเพลิงก๊าซธรรมชาติ และพลังงานทดแทนไม่ว่าจะเป็น โซลาร์ฟาร์ม โซลาร์รูฟท็อป โซลาร์ลอยน้ำ และพลังงานลม ซึ่งท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 BPP ยังคงดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนกลยุทธ์ พร้อมบริหารทั้งทีมงานและธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าทุกแห่งให้สามารถเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตามการลงทุนขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มนั้นจะเน้นลงทุนซื้อกิจการ (M&A) ในโครงการที่ให้ผลตอบแทนในระดับสูงที่เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแล้ว เพื่อให้สามารถรับรู้เป็นรายได้ทันที รวมทั้งลงทุนในโครงการใหม่โดยจะเน้นพลังงานหมุนเวียน เพื่อขยายการเติบโตของกำลังผลิตไฟฟ้าในสัดส่วนที่สมดุลระหว่างพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไปและพลังงานหมุนเวียนในประเทศที่มีศักยภาพ