ผู้ชมทั้งหมด 527
บีซีพีจี ลงนามในสัญญาขื้อขายหุ้นโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซฯเพิ่มอีก 2 โครงการ ในสหรัฐ มูลค่าราว 8,919 ล้านบาท กำลังการผลิตรวม 1,705 เมกะวัตต์ หนุน บีซีพีจี มีกำลังการผลิตในสหรัฐ ตามสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มขึ้นอีก 426 เมกะวัตต์
นายนิวัติ อดิเรก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา BCPG USA Inc. ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญาซื้อหุ้นในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งจำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่ตลาดซื้อขายไฟฟ้าเสรีพีเจเอ็ม (PJM) ตลาดซื้อขายไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ และครอบคลุมการขายไฟฟ้ากว่า 13 รัฐ ในสหรัฐอเมริกา โดยการลงทุนครั้งนี้ บริษัทฯ ใช้เงิน 260 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8,919 ล้านบาท คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 426 เมกะวัตต์ โดย BCPG USA Inc ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นเพื่อเข้าลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้า จำนวน 2 โครงการ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1) โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ฮามิลตั้น ลิเบอร์ตี้ (ลิเบอร์ตี้) มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 848 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ เขตอไซลัม (Asylum) รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ผ่านการเข้าซื้อหุ้นร้อยละ 25 ของฮามิลตั้น โฮลดิ้ง ซึ่งจะทำให้บีซีพีจีถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าลิเบอร์ตี้ทางอ้อม ในสัดส่วนร้อยละ 25 การลงทุนดังกล่าวคิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทฯ เท่ากับ 212เมกะวัตต์
2) โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ฮามิลตั้น เพทรีออต (เพทรีออต) มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 857 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ เขตคลินตัน (Clinton) รัฐเพนซิลเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ผ่านการเข้าซื้อหุ้นร้อยละ 25 ของฮามิลตั้น โฮลดิ้ง ซึ่งจะทำให้บีซีพีจีถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าเพทรีออตทางอ้อม ในสัดส่วนร้อยละ 25 การลงทุนดังกล่าวคิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทฯ เท่ากับ 214 เมกะวัตต์
ทั้งนี้ เมื่อรวมกับการเข้าซื้อหุ้นโรงไฟฟ้าในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้บีซีพีจีมีกำลังการผลิตในสหรัฐอเมริการวม 577 เมกะวัตต์ โดยการเข้าลงทุนครั้งนี้สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของบริษัทฯ ในการขยายธุรกิจผลิตไฟฟ้าซึ่งเป็นธุรกิจหลัก โดยโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติดังกล่าวเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2559 ทำให้บริษัทฯ สามารถรับรู้ส่วนแบ่งกำไรได้ทันทีภายหลังจากการเข้าลงทุน
ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าทั้ง 2 โครงการมีความได้เปรียบสูงในการแข่งขันเพื่อประมูลขายไฟฟ้าในตลาดไฟฟ้าเสรี PJM ซึ่งเป็นตลาดที่มีความต้องการการใช้ไฟฟ้าสูงที่สุดในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตต่ำเมื่อเทียบกับโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติอื่นในตลาด กล่าวคือ เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซธรรมชาติที่ใช้เทคโนโลยี พลังงานความร้อนร่วม Combined Cycle Gas Turbines หรือ CCGT ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้กังหันก๊าซและกังหันไอน้ำร่วมกันเพื่อผลิตไฟฟ้า ทำให้การผลิตไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงต่ำ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ทำเลที่ตั้งของโรงไฟฟ้า อยู่ใกล้แหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ (Marcellus Shale Gas) ทำให้เข้าถึงก๊าซธรรมชาติได้ในราคาต่ำกว่าภูมิภาคอื่นของประเทศ
สำหรับ ฮามิลตั้น โฮลดิ้ง เป็นบริษัทในเครือ คาร์ลาย กรุ๊ป กลุ่มกองทุนที่จัดการโดยบริษัทการลงทุนกองทุนระดับโลก และ บริหารจัดการโดยบริษัทโคเจนทริกซ์ เอนเนอร์ยี่ แมเนจเม้นท์ (โคเจนทริกซ์) ซึ่งคาร์ลาย กรุ๊ป และโคเจนทริกซ์ มีทรัพย์สินภายใต้การบริหารกว่า 10,000 เมกะวัตต์ ทั่วสหรัฐอเมริกาจึงมีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเป็นอย่างดี